รฟท.เผยกลุ่มซีพี เสนอราคาประมูลโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินต่ำสุด ,คาดรู้ผลผู้ชนะซอง 3 เป็นทางการสัปดาห์หน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 14, 2018 21:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) นาน 9 ชั่วโมงว่า กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และพันธมิตร เสนอราคาต่ำที่สุด โดยเสนอราคา หรือผลประโยชน์ที่ขอรับจากรัฐต่ำกว่า BSR ซึ่งเป็นกลุ่มคู่แข่งเพียงรายเดียว อย่างไรก็ตามจะได้เชิญตัวแทนจากกลุ่มซีพี เข้ามาเพื่อตรวจสอบและชี้แจงตัวเลขทางการเงินว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างไร ซึ่งกลุ่มซีพีได้ขอเวลาติดต่อพันธมิตรจากต่างประเทศก่อนมาให้ข้อมูลภายในสัปดาห์หน้า ดังนั้น คาดว่าไม่เกินวันที่ 21 ธ.ค.นี้จะประกาศชื่อผู้ผ่านซอง 3 หรือซองราคาอย่างเป็นทางการได้

"กลุ่มซีพี เสนอราคาต่ำกว่ากลุ่ม BSR แต่ยังบอกตัวตัวเลขไม่ได้. ..BSR เสนอสูงกว่า 1.19 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่ากลุ่มซีพี"นายวรวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ มูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ที่ราว 2.2 แสนล้านบาท ขณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบวงเงินอุดหนุนโครงการดังกล่าวไว้ที่ 1.19 แสนล้านบาท

นายวรวุฒิ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะเชิญกลุ่มซีพีมาชี้แจงและตรวจสอบตัวเลขทางการเงินว่ามีความเชื่อมโยงอย่างไร และทำได้จริงหรือไม่ ขณะที่ตัวเลขของกลุ่ม BSR ไม่พบปัญหา อย่างไรก็ตามมีโอกาสที่ทั้งสองกลุ่มผ่านซอง 3 ได้ และจะเขิญผู้เสนอราคาต่ำสุดมาเจรจาต่อรองก่อนพร้อมเปิดซอง 4 หรือข้อเสนอพิเศษ ในอีก 2 สัปดาห์

ในวันนี้มีผู้แทนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด จำนวน 4 คน ที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายนพปฎล เดชอุดม รองประธาน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ , นายอติรุฒน์ โตทวีแสนสุข รองประธานสำนักพัฒนาโครงการพิเศษเครือเจริญโภคภัณฑ์ , นายพรเจริญ ธนานาถ และนายพิรุณห์ วัชรามนตรี เข้าร่วมในห้องประชุม ในช่วงเย็น

สำหรับส่วนประกอบของซอง 3 ที่ รฟท.จะพิจารณาทั้ง 8 ส่วนนั้น ประกอบไปด้วย 1.บัญชีปริมาณงาน 2.แผนธุรกิจในการดำเนินโครงการ 3.แผนการเงิน 4.การจัดหาแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินโครงการ 5.ทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินโครงการ และกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สิน 6.ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการตลอดอายุของสัญญาร่วมลงทุน 7.จำนวนเงินที่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐและจำนวนเงินที่รัฐได้รับจากเอกชน และ 8.การกำหนดอัตราค่าโดยสาร โดยส่วนประกอบทั้งหมดจะต้องเชื่อมโยงกัน เพื่อแสดงถึงความเป็นไปได้ และความเหมาะสมของการพัฒนาโครงการ

ทั้ง 2 กลุ่มผ่านข้อเสนอเทคนิคโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแล้ว ได้แก่ 1. กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC), บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH)

2. กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย) , บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) , China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) , บมจ. ช.การช่าง (CK), บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ