บลจ.กรุงศรี เชียร์ตลาดหุ้นไทยยังน่าลงทุนคาดปี 62 แตะ 1,800-1,900 จุด จับตาปัจจัยยุโรป-สหรัฐ-จีน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 24, 2018 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุภาพร ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี เปิดเผยถึงมุมมองเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 62 ว่า บริษัทมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตราสารทุนระยะกลางถึงยาว แม้ว่าในระยะสั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) อาจมีความผันผวนและมีแนวโน้มเคลื่อนไหวตามกระแสเงินลงทุนต่างชาติและปัจจัยภายนอกประเทศอยู่บ้าง แต่ก็ยังเป็นที่น่าสนใจลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆในภูมิภาค

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีค่า P/E ปี 62 อยู่ที่ 14.0 เท่า ขณะที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 14.3 เท่า และ 15.4 เท่า ตามลำดับ ด้านอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลของไทยอยู่ที่ 3.4% สูงกว่าอินโดนีเซีย และคาดการณ์ว่า SET Index มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นไปถึงระดับ 1,800-1,900 จุดในอีก 12 เดือนข้างหน้า"

(ข้อมูลจาก บลจ.กรุงศรี ณ วันที่ 30 พ.ย. 61)

ส่วนในระยะกลางถึงยาวการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น การเลือกตั้งที่มีความชัดเจนมากขึ้น และผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ข้อมูลจาก ตลท.ณ วันที่ 26 พ.ย. 61)

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในตราสารหนี้ในปี 62 มีปัจจัยสำคัญทั้งภายในและภายนอกประเทศที่จะส่งผลต่อความเคลื่อนไหวในตลาด โดยปัจจัยต่างประเทศจะมาจากแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของกลุ่มประเทศขนาดใหญ่และปัญหาการเผชิญหน้าในสงครามการค้าที่อาจจะยืดเยื้อจนส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่โดยเฉพาะประเทศจีนและประเทศที่เกี่ยวข้องจะชะลอตัวลงจนส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศเพิ่มความระมัดระวังการลงทุนในตลาดกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เนื่องจากกังวลผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และจะเลือกลงทุนเฉพาะในประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านต่างประเทศมั่นคงเป็นหลัก

ด้านนโยบายการเงินในสหรัฐตลาด เริ่มคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใกล้จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในวัฎจักรรอบนี้แล้ว อย่างไรก็ดี ภายหลังจากปรับขึ้นดอกเบี้ยไปเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) คาดว่าอาจจะขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มอีกสองครั้งในปี 62 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังขยายตัวได้ดี ส่วนทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ประกาศยุติโครงการเข้าซื้อพันธบัตรแล้ว และคาดว่าจะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าหากเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น

ส่วนปัจจัยภายในประเทศคาดว่านักลงทุนจะให้ความสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินเป็นหลัก โดยข้อมูลเศรษฐกิจที่ประกาศในช่วงไตรมาส 3/61 เริ่มสะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมการขยายตัวของไทยเริ่มชะลอลงสอดคล้องกับภูมิภาคโดยมีภาคต่างประเทศทั้งการส่งออกและท่องเที่ยวเป็นตัวฉุด ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนยังคงเติบโตได้อยู่ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐยังมีความมั่นใจในการเติบโตของไทย แม้จะปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าลงบ้างก็ตาม

ส่วนด้านโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายหลังจากที่ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่เคยปรับตัวสูงขึ้นมาในช่วงก่อนหน้าเริ่มกลับมาปรับตัวลดลง โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุคงเหลือช่วงกลางถึงยาว เพราะนักลงทุนคาดว่าอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำจะเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นได้ไม่มากเท่ากับของสหรัฐ อีกทั้งพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุคงเหลือยาวยังมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเป็นระยะ

สำหรับผลกระทบกับตลาดตราสารหนี้จากการขึ้นดอกเบี้ยน่าจะอยู่ในระดับที่จำกัด เนื่องจากภาวะตลาด และนักลงทุนได้รับรู้ข่าวการขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนหน้าแล้ว โดยคาดว่าทาง ธปท.จะรอประเมินผลกระทบและทิศทางเศรษฐกิจไทยอีกระยะหนึ่งก่อนจะพิจารณาถึงโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยครั้งถัดไป ดังนั้น ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในปีหน้าน่าจะใกล้เคียงหรือดีกว่าปีนี้ ซึ่งนักลงทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนระยะยาวไม่ควรวิตกกังวลเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากเกินไป

ขณะที่มุมมองที่มีต่อการลงทุนในต่างประเทศนั้น นางสุภาพร กล่าวว่า ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง 3 ปัจจัย ได้แก่ ความไม่แน่นอนในการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ความตึงเครียดประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ และความกังวลในยุโรปที่มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเด็น ประกอบด้วย ประเด็นแรก การถอนมาตรการ QE ของธนาคารกลางยุโรปในเดือน ธ.ค.ในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจกลับมาทรุดตัวอีกครั้ง

ประเด็นที่สอง คือ ความกังวลที่อิตาลีอาจนำไปสู่วิกฤตหนี้ยุโรปอีกครั้ง โดยอิตาลีมีหนี้อยู่ในระดับที่สูงถึง 131%ต่อ GDP ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในยุโรป หากเปรียบเทียบกับหนี้ของกรีซที่เป็นชนวนให้เกิดการทรุดตัวของดัชนียุโรปในปี 12 แล้ว หนี้สินของอิตาลีมีความใหญ่กว่าหลายเท่า หากปัญหาครั้งนี้เริ่มจากอิตาลีก็มีความเป็นไปได้ที่วิกฤตนี้อาจใหญ่เกินที่สหภาพยุโรปจะรับไหว

ประเด็นที่สาม คือ การที่พรรคขวาจัดเริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีที่ผ่านมา และนโยบายของผู้นำที่ถูกเลือกขึ้นมามักจะมีลักษณะประชานิยมเน้นเอาประโยชน์ของประเทศตนเป็นหลัก ไม่คำนึงความเป็นสหภาพยุโรปหรือส่วนรวม ดังที่เห็นได้จากการต่อต้านและแข็งข้อกับสหภาพยุโรปมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การแตกแยกได้ในอนาคต แม้ว่าในปัจจุบันความเสี่ยงนี้ยังมีไม่มากซึ่งประเทศดังกล่าว ได้แก่ กรีซ สเปน อังกฤษ อิตาลี โปแลนด์ และล่าสุด เยอรมันที่พรรค CDU ของนาง Angela Merkel เริ่มสูญเสียคะแนนเสียงให้กับพรรคขวาจัดจนนาง Merkel ประกาศวางมือที่จะเป็นผู้นำของพรรคต่อหลังจากหมดวาระในรอบนี้แล้ว

สำหรับภาพรวมของตลาดยุโรปในปี 62 คาดว่าจะเผชิญกับความท้าทายในประเด็นของความไม่แน่นอนด้านการเมืองและมีความเสี่ยงที่ปัญหาหนี้สินยุโรปจะกลับมาเป็นประเด็นกดดันตลาดอีกครั้ง ด้านการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจมีท่าทีชะลอลงจากคาดการณ์ว่าจะขึ้น 3 ครั้งลงมาเหลือ 2 ครั้ง หากตัวเลขเศรษฐกิจในรอบหน้าได้รับผลกระทบจากประเด็นสงครามการค้าและตัวเลขเงินเฟ้อไม่ได้ร้อนแรงอย่างที่กังวลในต้นปีเนื่องจากราคาน้ำมันนั้นได้ปรับตัวลดลงมาอย่างมากในเดือน พ.ย. ซึ่งการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนั้นจะส่งผลดีต่อกองทุนตลาดเกิดใหม่ อย่างไรก็ตาม ในต้นปีหน้ามีความเสี่ยงที่ประเด็นสงครามการค้าจะกลับมาส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดทั่วโลกอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ