AEC มองหุ้นไทยสัปดาห์นี้แกว่งตัวกรอบ 1,550-1,591 จุด แต่ Upside ค่อนข้างจำกัด หลังยังกังวลปัจจัยจากตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 3, 2019 10:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.เออีซี (AEC) ประเมินดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์แรกของปี 2562 แกว่งตัวในกรอบ 1,550-1,591 จุด โดยดัชนีจะรีบาวด์ขึ้นมายืนเหนือแนวรับ 1,550 จากนักลงทุนต่างชาติที่อาจกลับเข้ามาซื้อหุ้น หลังค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น ในช่วงวันที่ 30-31 ธ.ค.61 แต่อย่างไรก็ดี Upside ยังค่อนข้างจำกัด โดยมีกรอบแนวต้านที่ 1,591 จุด ดังนั้น นักลงทุนยังคงต้องระวังปัจจัยลบจากต่างประเทศ อาทิ ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่มีสัญญาณชะลอตัว ซึ่งสะท้อนผ่านภาวะอุปสงค์น้ำมันดิบในตลาดที่อาจปรับลงในช่วงสั้น อีกทั้งปัญหาปิดหน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐฯที่ยังไม่คลี่คลาย

ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์ทยอยสะสมหุ้น Domestic Play ขนาดกลาง-ใหญ่ 3 กลุ่มที่มีปัจจัยหนุนเฉพาะกลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มสื่อ แนะนำ PLANB, VGI, MACO และ MAJOR 2. กลุ่มค้าปลีก แนะนำ ROBINS และ CPN 3. กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม แนะนำ AMATA และ WHA

"ตลาดหุ้นยังมีโอกาสผันผวน โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา เกี่ยวกับตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวลงต่อเนื่อง ส่งผลสร้างความกังวลต่อภาวะอุปสงค์โลกที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง โดยล่าสุดดัชนีภาคการผลิตเดือน ธ.ค. ของจีน (Manufacturing PMI) ลดลงเหลือ 49.4 จุด ต่ำกว่าที่ตลาดคาด และปรับตัวเข้าสู่ภาวะหดตัว (ต่ำกว่า 50 จุด) ครั้งแรกในรอบ 3 ปี จากผลของสงครามการค้าที่ส่งผลให้ผู้ผลิตในหลายอุตสาหกรรมชะลอการผลิตสินค้า ซึ่งเราคาดจะยังเป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาดต่อไป จนกว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะมีพัฒนาการในการแก้ปัญหาอย่างชัดเจนจนสะท้อนออกมาด้วยดุลการค้าที่เข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น"

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบระยะสั้น คาดได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทาง เศรษฐกิจของจีน สหรัฐฯ และกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) บวกกับกำลังการผลิตของสหรัฐฯ และรัสเซีย เพิ่มขึ้นมาก แต่ด้วยราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงมามากในปีที่ผ่านมา ทำให้มองว่า Downside เริ่มจำกัด บวกกับคาดช่วงต้นปีคาดมีแรงหนุนจากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และ Non-OPEC เริ่มลดกำลังการผลิต ตามข้อตกลงใหม่อีกราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งหาก Compliance Rate ของเดือน ม.ค. มีตัวเลขที่เป็นไปตามเป้าลดกำลังการผลิต จะช่วยให้ตลาดคลายกังวลเรื่องสมดุลในตลาดน้ำมันดิบได้

อีกทั้ง ภาวะปิดหน่วยงานของสหรัฐฯ ยังไม่คลี่คลาย และอยู่ระหว่างรอติดตามการพิจารณาร่างกฎหมายชั่วคราวฉบับใหม่ ในวันที่ 3 ม.ค. โดยมีสื่อรายงานว่า งบประมาณสำหรับการสร้างรั้วที่บริเวณชายแดนและมาตรการรักษาความปลอดภัยด้านอื่นๆ วงเงิน 1.3 พันล้านดอลลาร์ แต่จะไม่รวมงบประมาณสร้างกำแพงกั้นชายแดนเม็กซิโกวงเงิน 5 พันล้านดอลลาร์ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เรียกร้องก่อนหน้านี้ ทำให้มีแนวโน้มที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการรับรอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ