โบรกฯเชียร์"ซื้อ" BEM ปรับเพิ่มมูลค่าหุ้นหลังมีแนวโน้มได้ต่อสัมปทานทางด่วน 37 ปี-รายได้รถไฟฟ้าโตจากเปิดเดินรถครบในปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 4, 2019 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ต่างแนะนำ"ซื้อ"หุ้นบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) หลังมีโอกาสได้ต่ออายุสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 อีก 37 ปี ยาวจนถึงปี 2600 จากเดิมที่หมดอายุในปี 2563 ทำให้ปรับราคาเป้าหมายหรือเพิ่มมูลค่าอีก 2.50 -3.00 บาท/หุ้น ขณะที่การแบ่งส่วนแบ่งรายได้กับภาครัฐยังอยู่ระดับเดิม ที่ภาครัฐได้รับ 60% และ BEM ได้รับ 40% รวมทั้งทำให้ปัญหาข้อพิพาทกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)จบลง แม้ว่า สหภาพแรงงาน กทพ.จะออกมาคัดค้านประเด็นนี้ แต่คาดว่ารัฐบาลไม่ต้องการจ่ายชดเชยให้เอกชน ดังนั้น แนวทางขยายสัมปทานทางด่วนจึงมีความเป็นไปได้ และคาดว่าจะจบได้ในเดือน กุมภาพันธ์ 2562

ขณะเดียวกันธุรกิจรถไฟฟ้าในปีนี้ จะมีการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-หลักสอง) ในเดือนสิงหาคม 2562 และในมีนาคม 2563 จะเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายครบทั้งสายเป็นวงกลม ทำให้คาดจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนเที่ยวคนต่อวันในปี 2563 และสัดส่วนรายได้จากธุรกิจรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาที่ 40% ในปี 2565 รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่คาดจะลงนามสัญญาในเดือนมกราคม 2562 โดย BEM ร่วมทุน 10% กับกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง

นอกจากนี้ BEM มีโอกาสจะเข้าร่วมงานรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เป็นโครงการในอนาคต ซึ่งจะผลักดันให้ผลการดำเนินงานงานเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งราคาหุ้นที่ปรับลงก่อนหน้านี้เป็นจังหวะเหมาะเข้าไปเก็บสะสม

ราคาหุ้น BEM ช่วงบ่ายอยู่ที่ 9.75 บาท ลดลง 1.52% ขณะที่ดัชนี SET เพิ่มขึ้น 0.64%

          โบรกเกอร์                     คำแนะนำ                    ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          เอเชีย เวลท์                      ซื้อ                          12.50
          เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ                  ซื้อ                          12.00
          ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ                  ซื้อ                          11.80
          กรุงศรี                        Outperform                     11.50
          เคทีบีฯ                           ซื้อ                          11.30
          เคที ซีมิโก้                        ซื้อ                          11.30
          เคจีไอฯ                          ซื้อ                          11.10
          ทิสโก้                            ซื้อ                          10.70

นายสรพล วีระเมธีกุล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า มีมุมมองเป็นบวกต่อ BEM และปรับราคาเป้าหมายในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 12.00 บาท จากเดิมให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 9.00 บาท เนื่องจาก BEM มีโอกาสได้ต่ออายุสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 (A,B,C) 37 ปี จนถึงปี 2600 จากเดิมที่หมดอายุในปี 2563 มีสัดส่วนรายได้เท่าเดิมที่ 40% โดยจะเสนอสำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ,คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) และขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แม้ว่าจะสหภาพแรงงาน กทพ.จะออกมาคัดค้าน แต่ไม่ใช่เรื่องแปลก อย่างไรก็ตาม คาดว่ารัฐบาลคงจะไม่จ่ายเงินชดเชยให้เอกชน ดังนั้น แนวทางขยายอายุสัมปทานจึงมีโอกาสเป็นไปได้ คาดว่าเรื่องจะจบได้ในเดือน กุมภาพันธ์ 2562

ในช่วงราคาปรับตัวลงเป็นโอกาสเข้าเก็บหุ้น พร้อมคาดการณ์กำไรจากการดำเนินในปี 2563 จะเติบโต 40% เป็น 5 พันล้านบาทจากปี 2561 ที่คาดกำไรจากการดำเนินงาน 3.5 พันล้านบาท และในปี 2562 คาดกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 3.8 พันล้านบาท โดยปี 2563 เป็นปีที่การเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดินรถครบเป็นวงกลม

อีกทั้งโอกาสที่ BEM จะได้ต่ออายุสัมปทาน ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน C+, D ที่จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2570 โดยส่วนนี้ยังไม่ได้รวมไว้ในราคาเป้าหมาย และมีโอกาสที่จะเข้าร่วมงานรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้

นายปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปรับเพิ่มคำแนะนำลงทุนสำหรับหุ้น BEM เป็น "ซื้อ"จากเดิม"ถือ" และเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 11.10 บาท จากเดิม 8.60 บาท หลังจากมีผลประชุมคณะกรรมการ กทพ.เมื่อ 20 ธ.ค.61 มีมติต่อสัญญาทางด่วนอออกไป 37 ปี จากเดิมที่จะหมดอายุวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 โดยประเมินแบบอนุรักษ์นิยมว่าการต่อสัมปทานตามเงื่อนไขนี้จะทำให้มูลค่าหุ้นของ BEM เพิ่มขึ้น 2.50 บาท ทั้งนี้ การตัดสินใจขั้นสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี

แม้ว่าสหภาพแรงงาน กทพ.จะคัดค้านการต่ออายุสัมปทาน และหากไม่ต่ออายุสัมปทาน กทพ.ก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายอย่างน้อย 4 พันล้านบาท ซึ่ง BEM ก็ยังได้รับประโยชน์ จากที่จะได้รับเงินสดแทนเพื่อนำไปลงทุนกิจการรถไฟฟ้าด้วย

ทั้งนี้ คงประมาณการผลประกอบการของ BEM ไว้ โดยปี 2561 คาดกำไรอยู่ที่ 3.62 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.8% จากปี 2560 และในปี 62 คาดกำไรอยู่ที่ 4.3 พันล้านบาท เติบโต 19% จากปี 2561

นอกจากนี้ BEM ยังมีโครงการในอนาคต ได้แก่ การเข้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม และการเข้าร่วมประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้

ด้านบล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมีมุมมองที่เป็นบวกต่อ BEM มากขึ้น จากการจะได้ต่อสัมปทานทางด่วนขั้น 2 ไปอีก 37 ปีสิ้นสุดในปี 2600 โดยปัจจุบันรายได้ 70% ของ BEM มาจากธุรกิจทางด่วน ซึ่งคาดรายได้จากธุรกิจทางด่วนจะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2562 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.2% จากปีก่อน จากจำนวนรถใช้ทางด่วน 1.24 ล้านเที่ยวคันต่อวัน และรายได้ 28.2 ล้านบาทต่อวัน และคาดจะเติบโตเล็กน้อยเฉลี่ยด้วย CAGR 3 ปีที่ 2.9% โดยมีสมมติฐานว่าจำนวนรถใช้ทางด่วนที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.3% ต่อปี และค่าผ่านทางปรับขึ้นในปี 2573, 2583 และ 2593 ตามเงื่อนไขการต่อสัญญาสัมปทานจากกทพ.

ทั้งนี้ แนะนำ "ซื้อ" BEM ด้วยราคาเป้าหมาย 10.70 บาทต่อหุ้น (sum-of-the-parts) โดยมองเป็นโอกาสในการลงทุนใน BEM จากยังมีแนวโน้มที่ดีตามการได้ข้อสรุปในประเด็นที่ค้างคาแล้ว ,การเปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินให้บริการครบทั้งสายในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งคาดจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนเที่ยวคนต่อวันในปี 2563 รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่คาดจะลงนามสัญญาในเดือนมกราคม 2562 อย่างไรก็ตาม ประมาณการของบล.ทิสโก้ ยังไม่รวมโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนสำหรับโครงการดังกล่าว

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงมาจาก การที่กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรีไม่อนุมัติการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน ,ความล่าช้าในการเปิดเส้นทางการเดินรถสำหรับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย

บล.ทิสโก้ ปรับประมาณการผลประกอบการสำหรับ BEM ระหว่างปี 2561-2563 ขึ้นเพื่อสะท้อนการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ระยะเวลา 37 ปี โดยคาดกำไรสุทธิของ BEM จะเติบโตด้วย CAGR 3 ปี (2562-2565) ที่ 16% สำหรับปี 2561 คาดกำไรสุทธิอยู่ที่ 5.66 พันล้านบาท จากการบันทึกกำไรจากการขายหุ้นบมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ในลาว ราว 2.9 พันล้านบาท

สำหรับปี 2562 คาดกำไรสุทธิ 3.6 พันล้านบาทในปี 2562 เติบโต 36% จากปี 2561 จากการเปิดส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินหัวลำโพง-ท่าพระในเดือนกันยายน 2562 ซึ่งคาดจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่ม 14% มาอยู่ที่ 353,067 เที่ยวคนต่อวัน ทำให้รายได้จากธุรกิจรถไฟฟ้าเติบโต 7% มาอยู่ที่ 5.08 พันล้านบาท

ส่วนปี 2563 คาดกำไรสุทธิ 4.07 พันล้านบาท เติบโต 12.9% จากปี 2562 โดยคาดรายได้จากธุรกิจรถไฟฟ้าจะเติบโตอย่างมากหลังจากเปิดให้บริการครบทั้งสายสีน้ำเงินในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งคาดจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มมาอยู่ที่ 541,845 เที่ยวคนต่อวัน เติบโต 54%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ