"กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ" อดีตผู้บริหาร KTB ตั้งโต๊ะชี้แจงกรณีถูกกล่าวโทษปล่อยกู้ EARTH จ่อยื่นอุทธรณ์ข้อกล่าวหา

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 9, 2019 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวเปิดใจกรณีถูกกล่าวหาการให้สินเชื่อบมจ. เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) 4.5 พันล้านบาท โดยยืนยันว่าคำขออนุมัติสินเชื่อดังกล่าว กระทำอย่างถูกต้องทั้งในแง่คุณสมบัติของลูกค้า การประเมินความเสี่ยง การกลั่นกรอง ก่อนเสนอให้บอร์ดบริหารพิจารณาขั้นสุดท้าย

"EARTH เป็นลูกค้าธนาคารมาก่อนที่ผมจะเข้ามา ในขณะนั้นเป็นลูกหนี้ชั้นดี ไม่มีประวัติด่างพร้อย งบการเงินได้รับการรับรองจาก บริษัท PWC ซึ่งเป็นบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีระดับโลก คำขออนุมัติผ่านการตรวจสอบจากสายงานประเมินความเสี่ยง ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ และผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร"

นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดพิเศษ เพื่อสอบสวนหาผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นเวลาน้อยกว่า 1 เดือนหลังจาก EARTH ผิดนัดชำระหนี้ และได้มีมติกล่าวหาว่าตนกระทำผิด

"ผมคิดว่าไม่เป็นธรรมกับตัวผมเอง เพราะตามข้อเท็จจริงแล้วมันมีรายละเอียดที่จะบอกได้ว่าผมไปเกี่ยวข้องตรงไหน อย่างไร และตรงนั้นมันเป็นสาเหตุของปัญหาหรือเปล่า ผมได้รับข้อกล่าวหา แต่ไม่มีรายละเอียดว่าผมทำผิดอะไรบ้าง อย่างไร เมื่อไหร่ เพื่อผมจะได้แก้ข้อกล่าวหาได้ถูกต้อง แต่ธนาคารกรุงไทยไม่เคยมีความชัดแจ้งในเรื่องนี้ ผมจึงอยู่ในฐานะที่ไม่ทราบจะชี้แจงอย่างไรกับคณะกรรมการตรวจสอบที่ธนาคารกรุงไทยตั้งขึ้นมา และผมก็ได้ตั้งสังเกตว่าคณะกรรมการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทยชุดนี้อาจจะไม่เป็นกลาง และมีคำถามว่ากระบวนการตรวจสอบดังกล่าวต้องการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือคนผิดกันแน่"นายกิตติพันธ์ กล่าว

นายกิตติพันธ์ กล่าวถึงการเดินหน้าต่อสู้เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่วมกันปรึกษาหาแนวทางร่วมกับที่ปรึกษาทางกฏหมาย ซึ่งอาจจะดำเนินการอุทธรณ์กลับไปที่ธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีระยะเวลาการอุทธรณ์ภายใน 60 วัน หลังจากที่ได้รับหนังสือรับทราบข้อกล่าวหาจากธนาคารกรุงไทยในวันที่ 25 ธ.ค. 61 แต่การอุทธรณ์นั้นจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของธนาคารกรุงไทยว่าจะพิจารณาคำอุทธรณ์ของตนหรือไม่ แต่ในฐานะที่ตนเองเป็นประชาชนคนหนึ่งที่ถูกกล่าวโทษอย่างร้ายแรง จะต้องใช้สิทธิของตนเองเพื่อปกป้องและยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง เพราะธนาคารกรุงไทยได้กล่าวโทษตนอย่างร้ายแรง

ส่วนการทำหน้าที่ในฐานะกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) นั้น นายกิตติพันธ์ กล่าวว่า ได้เข้าไปปรึกษาหารือกับทางกลุ่ม CIMB แล้ว เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด หลังจากที่ถูกกล่าวโทษจากธนาคารกรุงไทย แต่ปัจจุบันทางกลุ่ม CIMB ยังไม่ได้มีข้อสรุปของแนวทางออกมา พร้อมกับปรึกษากับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานในตำแหน่งหน้าที่ของตนในปัจจุบัน และข้อสังเกตเกี่ยวกับคณะกรรมการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทยที่อาจจะเข้าข่ายไม่เป็นกลาง ซึ่งยังคงต้องความชัดเจนของธปท.ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ