KBANK ดัน KBTG เป็น The Best Technology Organization ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 64

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 16, 2019 11:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ในเครือธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า การเข้ามารับตำแหน่งเป็นประธาน KBTG ในครั้งนี้ได้วางวิสัยทัศน์ในการผลักดันให้ KBTG ก้าวขึ้นเป็น The Best Technology Organization ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี 64 เพื่อมุ่งหวังในการช่วยเปลี่ยนแกนโลกของเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียตะวันออเฉียงใต้มุ่งมาสู่ประเทศไทย โดยการผลักดันให้ KBTG เป็นแพลตฟอร์มที่ร่วมดึงดูดเทคโนโลยี นวัตกรรม และบุคลากรที่มีความสามารถและมีความคิดสร้างสรรค์ในด้านเทคโนโลยีเข้ามาทั้งในส่วนที่เป็น Financial service และเทคโนโลยีด้านอื่นๆ

"การเข้ามาทำงานใน KBTG ถึงตอนนี้ก็ได้ 6 วัน ก็ได้เห็นว่า KBTG เป็นองค์กรที่มีบุคลากรที่เก่งและมีความสามารถเยอะมาก ซึ่งมีความพร้อมในการผลักดันองค์กรให้ Take off ขึ้นไปในระดับภูมิภาค และทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีที่ดีที่เปลี่ยนแกนโลกของเทคโนโลยีมุ่งเข้าสู่ประเทศไทย ดึงดูด Talent Technology Spotlight และ Investment มาลงในประเทศไทย พร้อมกับการสร้าง Benchmark ของ KBTG ให้เป็นบริษัทชั้นนำในด้าน Technology ไม่ใช่เป็นบริษัทชั้นนำในด้าน Financial Technology เท่านั้น"นายเรืองโรจน์ กล่าว

ด้านกลยุทธ์ของ KBTG ในการพัฒนาแพลตฟอร์มนั้นจะเป็นการพัฒนาทั้ง 2 รูปแบบ ทั้งการพัฒนาเอง และการพัฒนาร่วมกับพันธมิตร โดยเฉพาะการร่วมมือกับซุปเปอร์แอพพลิเคชั่นชั้นนำ เช่น LINE และ GRAB ที่ทางธนาคารกสิกรไทยได้มีการจับมือร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งธนาคารกสิกรไทยมีโมบายแอพพลิเคชั่น คือ KPlus เป็นแพลตฟอร์มหลักอยู่แล้ว และทาง KBTG จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันให้ KPlus เป็นก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในซุปเปอร์แอพพลิเคชั่นในอนาคต

โดยที่ในส่วนของการพัฒนาระบบ Financial Technology นั้นถือว่ามีหลายเรื่องที่ยังต้องพัฒนาเยอะมาก โดยเฉพาะการสร้างพื้นฐานของระบบ Financial Technology ให้มีความแข็งแกร่งใน 3 ด้าน คือ Security, Stalibility และ Skillbility ที่เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความมั่นใจในด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน จบกระบบที่มีความปลอดภัยและมีระบบที่เสถียร ที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้บริการมีความเชื่อมั่น และสามารถเพิ่มความสามารถของระบบให้มีความหลากหลายตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ที่จะเป็นการต่อยอดการให้บริการของผู้ประกอบการในระยะต่อไปได้

สำหรับแนวโน้มด้านการพัฒนาระบบการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ Financial Teachnology ในปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าได้มีการพัฒนาระบบการชำระเงิน (Payment) ซึ่งเป็นธีมหลักของบริการด้านการเงินในปีก่อน ซึ่งจะเห็นว่ามีผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์มแอพพลิชั่นหลายรายเพิ่มการให้บริการด้านระบบการชำระเงินมากขึ้นในปีก่อน และธีมด้านระบบการชำระเงินจะยังมีต่อเนื่องในปี 62 และจะมีระบบด้านการกู้ยืม (Lending) ที่จะมีแนวโน้มการพัฒนามากขึ้นในปีนี้ และในอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีแนวโน้มการพัฒนาระบบการบริการด้านประกันเข้ามาใน Financial Teachnology มากขึ้น ซึ่งบริการด้านประกันจะเป็นการต่อยอดและก้าวข้ามไปสู่การให้บริการด้านสุขภาพและการวางแผนเกษียณอายุในอนาคตต่อไป

ด้านมุมมองการปรับตัวของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปี 62 มองว่าทุกธนาคารได้รับรู้และเรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการเข้ามามีบทบาทด้านเทคโนโลยีมากขึ้นแล้ว และได้เริ่มปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน รวมไปถึงการแก้ปัญหาเมื่อเกิดความขัดข้องของเทคโนโลยีในภาวะที่มีการใช้งานพร้อมกันเป็นจำนวนมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันทุกธนาคารมีความพร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ทันท่วงที อย่างเช่น ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาที่เป็นช่วงที่มีการทำธุรกรรมทางการเงินสูงที่สุด แต่ไม่มีเหตุการณ์ระบบการให้บริการทางเงินล่มเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทุกธนคารได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว และระบบมีความเสถียรและรองรับการให้บริการได้มากขึ้น

สำหรับแนวโน้มของวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีในประเทศไทยในช่วง 10 ปีข้างหน้า มองว่าจะมีความคล้ายคลึงกับการใช้เทคโนโลยีของประเทศจีนในปัจจุบันที่มีแพลตฟอร์มที่เป็นแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนรองรับการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ แต่ประเทศไทยจะแตกต่างจากประเทศจีนในเรืองของจำนวนแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นที่จะมีมากกว่าประเทศจีนที่มีซุปเปอร์แอพพลิเคชั่นหลัก คือ WeChat ที่ครอบคลุมการให้บริการเกือบทุกอย่างภายในแอพพลิเคชั่นเดียว ซึ่งในปัจจุบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นักลงทุนรายใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก เพราะปัจจุบันวิวัฒนาการด้านการประยุกต์ไช้เทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความคล้ายคลึงกับประเทศจีนในปี 51 ทำให้นักลงทุนชาวจีนเห็นโอกาสเข้ามาต่อยอดการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"โอกาสของวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ผมอยากผลักดันให้ KBTG ก้าวขึ้นเป็น The Best Technology Organization ใน South East Asia ที่เปลี่ยนแกนโลกด้านเทคโนโลยีมาที่ไทย ไม่ใช่ไปอินโดนีเซียหรือเวียดนาม ซึ่งผมตั้งเป้าหมายไว้ในอีก 2 ปี คือภายในปี 2021 จะทำให้วงการด้านเทคโนโลยี Shift มาที่ไทยให้ได้"นายเรืองโรจน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ