โบรกฯเชียร์ "ซื้อ"SCC แม้คาด Q4/61 หดตัวแรงรับขาดทุนสต็อก แต่เชื่อกำไรปีนี้กลับมาฟื้น,Valuation ถูก-ปันผลดี

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 22, 2019 13:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) แม้คาดกำไรในไตรมาส 4/61 ที่จะประกาศวันที่ 30 ม.ค.นี้ จะหดตัวแรงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากขาดทุนสต็อกสินค้าปิโตรเคมีที่ราคาลดลงตามราคาน้ำมัน ฉุดให้กำไรทั้งปี 61 ปรับลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 2 แต่คาดว่ากำไรจะกลับมาฟื้นตัวเล็กน้อยในปีนี้ โดยยังต้องจับตาดูผลกระทบจากสงครามการค้าที่อาจจะมีผลกระทบต่อธุรกิจปิโตรเคมี แต่ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างที่จะกลับมาเติบโตตามภาคการก่อสร้างในประเทศ และได้ประโยชน์จากต้นทุนพลังงานลดลง รวมถึงธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่มีโอกาสเติบโตตามธุรกิจอีคอมเมิร์ซด้วย

ทั้งนี้ หุ้น SCC มีความน่าสนใจจากการเข้าสู่วัฏจักรการเติบโตครั้งใหม่ของธุรกิจวัสดุก่อสร้าง และการขยายลงทุนที่เป็นไปอย่างระมัดระวังท่ามกลางความเสี่ยงจากหลายปัจจัยในต่างประเทศ รวมถึงพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่อื่น ๆ ประกอบกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีนี้ก็เชื่อว่าจะดึงดูดให้มีนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อในตลาดหุ้นไทย รวมถึงหุ้น SCC อีกครั้งด้วย หลังจากที่ราคาหุ้นปรับลดลงมามากก่อนหน้านี้จากความกังวลต่อผลประกอบการไตรมาส 4/61 จนทำให้มี Valuation ไม่แพง และมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (dividend yield) ที่อยู่ในระดับที่ดี

พักเที่ยงราคาหุ้น SCC อยู่ที่ 446 บาท เพิ่มขึ้น 2 บาท หรือ 0.45% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.41%

          โบรกเกอร์                        คำแนะนำ                   ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          เอเซีย พลัส                          ซื้อ                            515
          บัวหลวง                             ซื้อ                            500
          เคที ซีมิโก้                           ซื้อ                            482
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)                   ซื้อ                            500
          เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)          ซื้อ                            470
          หยวนต้า (ประเทศไทย)                 ซื้อ                            490

นายประสิทธิ์ รัตนกิจกมล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ SCC ในไตรมาส 4/61 คาดว่าจะอยู่ที่ 9.25 พันล้านบาท ลดลง 26.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและส่วนต่าง (สเปรด) ปิโตรเคมีที่ลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันและผลกระทบจากสงครามการค้า ขณะที่คาดว่าจะมีผลขาดทุนจากสต็อกสินค้า (stock loss) ในไตรมาสนี้ราว 2 พันล้านบาทตามราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลง

ส่วนธุรกิจปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง คาดว่ากำไรจะทรงตัวแม้จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนถ่านหินที่สูงขึ้น แต่ยอดขายที่เพิ่มขึ้นก็เข้ามาช่วยผลกระทบดังกล่าวได้ ด้านธุรกิจบรรจุภัณฑ์ คาดว่าจะมีกำไรเติบโตตามการลดต้นทุนต่าง ๆ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปี SCC จะมีรายได้จากเงินปันผลในธุรกิจการลงทุนต่าง ๆ ราว 1-1.5 พันล้านบาท ซึ่งจะเข้ามาช่วยประคองผลประกอบการด้วย ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอในไตรมาส 4/61 ทำให้ปรับคาดการณ์กำไรปี 61 ลง 5.2% มาอยู่ที่ 4.35 หมื่นล้านบาท ลดลงราว 21% จากปี 60

อย่างไรก็ตามยั งคงประมาณการกำไรปี 62 ของ SCC ไว้ระดับเดิมที่ 4.78 หมื่นล้านบาท จากมุมมองเชิงบวกต่อธุรกิจปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่คาดจะกลับมาเติบโตตามภาคการก่อสร้างในประเทศ แม้ว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่ SCC ก็ได้เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนด้วยการมุ่งเพิ่มสัดส่วนสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังแข็งแกร่ง และการเลือกตั้งในประเทศที่กำลังจะมีขึ้น น่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้น SCC หลังจากที่ขายออกไปมากก่อนหน้านี้

"เศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่อื่น ๆ และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน จึงมีโอกาสที่จะเห็นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย รวมถึงหุ้น SCC อีกครั้งด้วย"นายประสิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ SCC ทำกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 59 แตะระดับ 5.6 หมื่นล้านบาท ก่อนจะลดลงเหลือ 5.5 หมื่นล้านบาทในปี 60 จากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างมีผลการดำเนินงานในประเทศลดลง

ด้าน บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ SCC ในไตรมาส 4/61 คาดว่าจะมีกำไรระดับ 9.1 พันล้านบาท ลดลง 3.8% จากไตรมาสก่อน และลดลง 27.5% จากงวดปีก่อน จากการขาดทุนสต็อกสินค้าราว 2 พันล้านบาท ตามราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างหนักกดดันต่อราคาสินค้าปิโตรเคมี ขณะที่กำไรธุรกิจปิโตรเคมีอ่อนตัวลงเล็กน้อย แม้อุปสงค์จะกลับมาจากการเพิ่มสต็อกของลูกค้า แต่ราคาวัตถุดิบที่ยังปรับลดลงไม่มาก ทำให้สเปรดอ่อนตัวลง ส่วนธุรกิจวัสดุก่อสร้างดีขึ้นเพราะแรงหนุนจากการก่อสร้างโครงการภาครัฐ และธุรกิจกระดาษยังไปได้ดีจากความต้องการบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นดีตามธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และการกลยุทธ์การหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ

ขณะที่แนวโน้มกำไรในปี 62 น่าจะทำได้ระดับทรงตัวถึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยยังจับตาธุรกิจปิโตรเคมี ที่ต้องรอดูผลกระทบจากสงครามการค้าที่จะมีต่ออุปสงค์ปิโตรเคมี และราคาวัตถุดิบที่ผันผวน ทำให้คาดว่าสเปรดผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีน่าจะยังอ่อนลงเล็กน้อย ส่วนวัสดุก่อสร้างน่าจะดีขึ้นเล็กน้อย โดยคาดว่าอุปสงค์ปูนซีเมนต์เพิ่ม 3-5% และได้ประโยชน์จากต้นทุนพลังงานลดลง ส่วนบรรจุภัณฑ์มีโอกาสเติบโต 5-6% ตามธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

อย่างไรก็ตามยังแนะนำ"ซื้อ"ลงทุนระยะยาวสำหรับ SCC แม้ว่าแนวโน้มกำไรจะยังไม่สดใสมากนัก แต่ด้วยต้นทุนพลังงานที่ลดลงจะช่วยพยุงผลประกอบการได้ ขณะที่ระยะยาวยังเติบโตในตลาดอาเซียนได้ดี

บทวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า แม้คาดว่ากำไรสุทธิของ SCC ในไตรมาส 4/61 จะลดลง 8% จากไตรมาสก่อน และ 30% จากงวดปีก่อน มาอยู่ที่ 8.7 พันล้านบาท จากผลประกอบการธุรกิจปิโตรเคมีที่อ่อนแอ และจะกดดันต่อราคาหุ้นในระยะสั้น แต่ยังคงคำแนะนำ"ซื้อ"สำหรับการลงทุนระยะยาว จากพื้นฐานระยะยาวยังแข็งแกร่งจากการเข้าสู่รอบการเติบโตครั้งใหม่ของธุรกิจวัสดุก่อสร้าง และการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเชิง Valuation ราคา ณ ปัจจุบันซื้อขายบน PER62 เพียง 10.6x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 13.0x และผลตอบแทนจากเงินปันผล 4.4% ซึ่งคาดการณ์เงินปันผลงวดครึ่งหลังปี 61 ที่ 9.00-10.50 บาท/หุ้น คิดเป็น Yield ประมาณ 2.1-2.4%

ขณะที่คาดกำไรปกติปี 62 ของ SCC จะอยู่ที่ 4.9 หมื่นล้านบาท จากคาดระดับ 4.7 หมื่นล้านบาทในปี 61 จากมุมมองบวกต่อธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ที่คาดความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศจะขยายตัว 3-5% หนุนความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างอื่นให้ขยายตัวตามมาด้วย รวมถึงธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่ขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการที่เติบโต แต่ยังมีมุมมองลบต่อธุรกิจปิโตรเคมีที่คาดสเปรดลดลงจากฐานสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 61 ที่จีนใช้นโยบายห้ามนำเข้าพลาสติกรีไซเคิล และอุปทานในตลาดสูงขึ้น ตลอดจนมีความเสี่ยงจากสงครามการค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ