แอสเซท พลัส มองตลาดหุ้นเกิดใหม่ปี 62 น่าสนใจ จากกระแสเงินทุนไหลกลับหลังคาดเฟดชะลอขึ้นดบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 22, 2019 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรัชต์ โสดสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.แอสเซท พลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) จะมีความน่าสนใจมากขึ้นในปี 62 หลังจากปีที่ผ่านมาตลาดปรับตัวลงค่อนข้างมากจนเกือบเข้าใกล้จุดต่ำสุด ทำให้ปัจจุบันมูลค่าพื้นฐานมีความน่าสนใจ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ทำให้การลงทุนในสหรัฐฯหรือตลาดที่พัฒนาแล้วมีความน่าสนใจน้อยลงเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่ อีกทั้งราคาน้ำมันที่ทรงตัวและมีโอกาสปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบต่อตลาดเกิดใหม่น้อย ทำให้จะเห็นกระแสเงินทุนจำนวนมากไหลกลับเข้ามาสู่ตลาดเกิดใหม่ในปี 62

สำหรับภาพรวมตลาดทุนทั่วโลกปรับตัวลดลงจากเดิมค่อนข้างมาก แต่พื้นฐานของตลาดทุนโดยรวมยังแข็งแกร่ง ทำให้ช่วงนี้เป็นโอกาสที่เหมาะสมกับนักลงทุนในการเข้าซื้อเพิ่มเติม ซึ่งจากบทวิเคราะห์และประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมาหากนักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่มีความกังวลสูง และผู้ลงทุนมีกรอบระยะเวลาการลงทุนที่ยาวพอ มักจะเป็นช่วงที่สามารถทำกำไรได้ดี แม้ว่าในปี 62 ทิศทางของตลาดทุนทั่วโลกจะยังไม่ชัดเจน แต่ก็ให้นักลงทุนมองเกี่ยวกับองค์ประกอบของปัจจัยต่าง ๆ ที่จะช่วยในการตัดสินใจในการลงทุนด้วย

ทั้งนี้ หลายสถาบันที่คาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะเกิดการชะลอ แต่ยังถือว่ามีการขยายตัวได้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทำให้มองว่าแนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโดยรวมไปต่อได้ จากที่ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม อีกทั้งแนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่เริ่มอ่อนค่าลง หลังจากแข็งค่ามาต่อเนื่อง 4 ปี และการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯให้อ่อนค่าลง ทำให้การลงทุนในสหรัฐฯเริ่มมีความน่าสนใจลดลง และมีเงินไหลออกไปสู่ตลาดอื่นโดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่

ด้านราคาน้ำมันในปี 62 มองว่ายังคงมีความผันผวนจากการเพิ่มขึ้นของซัพพลายน้ำมันในสหรัฐฯ และการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) อย่างไรก็ตามยังไม่เห็นทิศทางราคาน้ำมันจะปรับขึ้นไปแตะที่ 80-100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อย่างเช่นในอดีต แต่กลับจะเป็นทิศทางขาลงมากกว่า จากซัพพลายน้ำมันของสหรัฐฯที่ยังมีอยู่มาก และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ทำให้คาดว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยในปี 62 จะอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

ส่วนสภาพคล่องในตลาดปีนี้ จะเห็นการปรับลดลง หลังจากลดการอัดฉีดสภาพคล่องในระบบของธนาคารกลาง 3 แห่งในโลก ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ และธนาคารกลางยุโรป เริ่มไถ่ถอนเงินที่เคยอัดฉีดไปกลับมา ซึ่งในอดีตเงินจากธนาคารกลางเหล่านี้เป็นสิ่งที่ช่วยพยุงตลาดทั้งตราสารหนี้และตลาดทุนให้สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่หากเงินเหล่านี้หายไปจากระบบนักลงทุนต้องระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น

สำหรับผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นที่สูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว อาจจะไม่ได้บ่งบอกว่าภาพเศษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวเสมอไปเหมือนในอดีต ที่หากผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรระยาวจะบ่งบอกถึงเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย แต่ในปี 62 ยังมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ทำให้เป็นแรงกดดันต่อผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว และเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต

นายรัชต์ กล่าวว่า ประเด็นสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของซัพพลายเชนการผลิต ซึ่งสะท้อนได้จากภาพรวมระยะสั้นที่เริ่มมีการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังภูมิภาคอาเซียนที่มีค่าแรงค่อนข้างถูก โดยมองว่าในระยะแรกนั้นจะเป็นการย้ายการ Repackaging และในระยะกลางถึงยาวน่าจะมีการย้ายฐานการผลิตให้เห็นสำหรับบริษัทใหญ่ ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้า

สำหรับธีมการลงทุนในปีนี้ มองว่าหุ้นกลุ่มที่อยู่ในกระแส Disrupt ยังมีโอกาสเติบโตได้ดี เนื่องจากกลุ่มธุรกิจที่เข้ามา Disrupt ธุรกิจเดิม ๆ ยังคงเป็นที่จับตาและมีอัตราการเติบโตสูง เช่น หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ Cloud Service ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจแบบเก่าให้เป็นรูปแบบใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจสะดวกต่อการบริหารจัดการ โดยอัตราการเติบโตของ Cloud Service ยังคงเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 17% ต่อปี และเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ซึ่งในปีนี้อาจจะมีการเริ่มใช้อินเทอร์เน็ต 5G ที่มีความเร็วมากกว่าเดิมถึง 1,000 เท่า โดยผู้นำด้านสมาร์ทโฟน ได้แก่ Samsung และ Huawei ก็มีแผนที่จะเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่รองรับ 5G ทำให้เชื่อว่าหากมีการปรับใช้ 5G แล้วนั้น จะสามารถปลดล็อกข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง และอาจมีกิจกรรมหลากหลายมากขึ้นที่สามารถทำผ่านมือถือได้ ซึ่งทำให้เห็นโอกาสในการลงทุนในอีกหลายมิติมากขึ้นสำหรับนักลงทุน

นอกจากนี้แม้ว่าในปีที่ผ่านมากระแสการใช้หุ่นยนต์ในงานด้านต่าง ๆ ชะลอตัวตามภาพรวมเศรษฐกิจ แต่ยังเชื่อว่าในอนาคต ด้วยอัตราการพัฒนาของนวัตกรรมที่ค่อนข้างสูง และมีธุรกิจบางประเภทจะถูก Disrupt โดยหุ่นยนต์ ได้แก่ การทำฟาร์ม งานก่อสร้าง และงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะของแรงงานมาก ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยหนุนให้กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ยังคงน่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว

นายรัชต์ กล่าวอีกว่า ทิศทางการลงทุนในปี 62 สำหรับตลาดทุนในประเทศพัฒนาแล้วนั้น ควรเน้นลงทุนโดยการเลือกหุ้นรายตัว ในธีมที่มีความน่าสนใจ เช่น กลุ่มที่อยู่ในกระแส Disruptive เน้นเลือกลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง ส่วนสำหรับตลาดทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ให้เน้นลงทุนในกลุ่มประเทศที่คาดว่าได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ประเทศอินเดีย ที่ได้รับผลบวกจากปัจจัยดังกล่าวมากที่สุด เพราะมีระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยภาคบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ประกอบกับมีภูมิคุ้มกันจากสงครามการค้าสหรัฐและจีนที่ยังคงมีความไม่แน่นอน อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากท่าทีการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯที่ส่งผลให้ค่าเงินรูปีของอินเดียกลับตัวดีขึ้น

อีกหนึ่งประเทศที่มีความน่าสนใจ คือประเทศจีน ที่ยังมีโอกาสเติบโตในระยะยาว แม้ว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากการตกลงทางการค้าที่ยังไม่ชัดเจนกับสหรัฐฯ แต่รัฐบาลจีนก็มีเครื่องมือด้านนโยบายจำนวนมาก ที่จะนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการเติบโตในอนาคต ประกอบกับการปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้าทำให้มูลค่าพื้นฐานของจีนต่ำมาก สำหรับประเทศสุดท้าย คือ เวียดนาม ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ในเรื่องการย้ายฐานผลิตเนื่องจากมีค่าแรงในการจ้างงานที่ยังถูก และมีแรงงงานที่มีความสามารถเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังมีประเด็นสงครามการค้าเข้ามาเป็นตัวกระตุ้นให้จีนย้ายฐานการผลิตเกิดเร็วขึ้น ซึ่งเวียดนามจะได้รับผลประโยชน์ไม่ว่าเหตุการณ์จะออกมาอย่างไร ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยส่งผลให้ตลาดเวียดนามสามารถขยายตัวได้ดีในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ