(เพิ่มเติม) เลือกตั้ง'62: กูรูตลาดทุนหวังเลือกตั้งหนุนเม็ดเงินไหลเข้ากว่า 1 แสนลบ. จับตาเสถียรภาพรัฐบาลใหม่-6 พรรคร่วมโชว์วิสัยทัศน์

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 25, 2019 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวในงานสัมมนา "นโยบายเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยภายใต้รัฐบาลหลังเลือกตั้ง" ว่า อยากให้พรรคการเมืองให้ความสนใจกับตลาดทุน เพราะตลาดทุนถือเป็นแหล่งระดมทุน ถ้ายิ่งทำให้เข้มแข็งจะยิ่งได้ประโยชน์ โดยเชื่อว่าช่วงที่มีการเลือกตั้งจะส่งผลดีให้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดทุนคึกคัก โดยอาจจะเห็นเม็ดเงินไหลเข้ามาระดับ 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ อยากฝากให้พรรคการเมืองเน้นการทำนโยบายระยะยาว ซึ่งควรจะเน้นในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ยังมีความจำเป็นอยู่ และสานต่อนโยบายเดิม หรือการสร้างเงินออมในระบบให้มากขึ้นเพราะในอนาคตประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้น แม้นโยบายประชานิยมหรือ นโยบายระยะสั้นสามารถทำได้ แต่ไม่อยากให้เป็นนโยบายหลักของพรรคการเมือง เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง

อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนไม่ได้กังวลในเรื่องการเลือกตั้งไปมากกว่าความมีเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะหากหลังเลือกตั้งสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้เกินกว่า 300 เสียงก็จะทำให้เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เพราะในขณะนี้ต่างชาติยังไม่มั่นใจถึงอายุของรัฐบาล

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า อยากให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับประโยชน์จากตลาดหลักทรัพย์ด้วย ไม่ใช่เฉพาะเศรษฐีและคนชั้นกลางเท่านั้น และการเป็นแหล่งระดมทุนให้กับบริษัท startup ทางเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นใหม่ การเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ โดยในเมื่อรัฐยังไม่สามารถช่วยเหลือกลุ่มคนสูงวัยที่เกษียณอายุได้ รัฐจึงไม่ควรเก็บภาษีจากเงินออกจากงานเพราะเกษียณอายุที่เขาต้องอาศัยเงินนี้ใช้ไปอีกนาน

นอกจากนี้ยังอยากเห็นแนวคิดที่เคยมี เช่น การเชื่อมต่อกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆในอาเซียน ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการระดมทุนให้กับบริษัทดีๆในอาเซียนโดยเฉพาะใน CLMV เพื่อประเทศไทยจะได้เป็นศูนย์กลางทางตลาดทุนของอาเซียน อยากเห็นตลาดหลักทรัพย์ปรับบทบาทเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศตามแนวทางนี้ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งควรต้องมุ่งเน้น 3 ด้าน คือ 1.การนำประเทศไทยให้ก้าวทันโลก หลังจากล้าหลังมาหลายปี และต้องก้าวนำเพื่อกำหนดอนาคตประเทศล่วงหน้าเองถ้าทำได้ ซึ่งโลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยเฉพาะทางเทคโนโลยีทำให้เกิด disruption ในวงการธุรกิจอย่างมากมาย และตลอดเวลา เช่น ธนาคารต่างๆต้องปิดหลายสาขา เป็นต้น แม้คนส่วนใหญ่จะรับรู้เรื่องนี้น้อย และอาจเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่คนในวงการตลาดหลักทรัพย์จะทราบดีว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการพัฒนาประเทศเพื่อเตรียมรองรับการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

2.การรับมือกับปัญหาของประเทศไทย เช่น ปัญหาการเจริญเติบโตที่ต่ำมาหลายปีติดกัน แถมยังไปกระจุกตัว ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสังคมสูงวัย ปัญหาการว่างงานที่จะสูงขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI และ Robotic ปัญหาการผูกขาดทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

3.การนำประเทศไทยกลับไปเป็นศูนย์กลางตลาดทุนของอาเซียน โดยมีแนวทาง Regional integration ที่จะเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า การเพิ่มบทบาทของตลาดทุนที่มีต่ออนาคตของประเทศไทย ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้นับเป็นโอกาสที่จะทำอย่างไรให้ประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน และครอบคลุมทุกมิติ เพราะการพัฒนาในทุกด้านมีความเชื่อมโยงกัน

ช่วง 4 ปีหลังการเลือกตั้ง ตนเองอยากเห็นตลาดทุนเป็นของคนไทยทุกคน และมีการขยายศักยภาพของบุคลากรในแวดวงตลาดทุนไปพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ด้วย

พปชร.มีนโยบาย 3 ด้าน คือ 1.สวัสดิการประชารัฐ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนไทยทุกคนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสและความเท่าเทียม ซึ่งจะเป็นหลักประกันที่มั่นคงในชีวิต เช่น เรื่องรายได้ การศึกษา

2.เศรษฐกิจประชารัฐที่มีการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยี 3.การกระจายความเจริญไปยังทุกพื้นที่ แค่เพียงกระจายอำนาจคงไม่เพียงพอ เพื่อแก้ปัญหาคนเข้ามาทำงานในเมือง

ในส่วนของตลาดทุนก็สามารถช่วยพัฒนาประเทศได้ เช่น กองทุนต่างๆ ที่ทำเรื่องการเทคโอเวอร์สามารถไปสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็ก หรือการนำมาใช้ประโยชน์ในวงการศึกษา เช่น การแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า อยากเห็นการเติบโตของตลาดทุน ซึ่งต้องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ดี ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องหาทางดูแลเศรษฐกิจประเทศ โดยตลาดทุนเป็นแหล่งทุนของผู้ประกอบการที่มีความปลอดภัย

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจของพรรคนั้นมุ่งแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน ด้วยการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดความเท่าเทียม ทำให้ประชาชนมีกินมีใช้อย่างพอเพียง ที่ผ่านมาการแก้ปัญหามีอุปสรรคสำคัญคือเรื่องการใช้ดุลยพินิจของอำนาจรัฐซึ่งไม่มีมาตรฐาน หากแก้ไขเรื่องนี้ได้ก็ไม่จำเป็นต้องไปออกกฎหมายมาบังคับใช้เลย

นอกจากนี้ต้องลดงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธ เพื่อนำมาใช้พัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ตามลำดับความสำคัญเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาก่อนแล้วจึงค่อยไปต่อยอดเรื่องอื่นๆ

นายกรณ์ จาติกวณิช ประธานกรรมการคณะกรรมนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการพัฒนาตลาดทุนในอีก 4 ปีข้างหน้าว่า พรรคประชาธิปัตย์จะผลักดันให้ดัชนีตลาดหุ้นขยายตัวถึง 2,500 จุด และส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนที่เน้นการส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น และนำเทคโนโลยีฟินเทคมาใช้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการลงทุนและลดต้นทุนการทำธุรกรรม

ทั้งนี้จะผลักดันให้เกิดตลาดหลักทรัพย์แหล่งที่ 2 ที่เน้นด้านคริปโตเคอเรนซีเพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าถึงสินทรัพย์ในด้านนี้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

นอกจากนี้ พรรคจะให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เป็นศูนย์กลางในกลุ่ม CLMV ทำให้เศรษฐกิจครัวเรือนมีความเข้มแข็ง และเพิ่มความสามารถในการออม

สำหรับนโยบายหลักของพรรคประชาธิปัตย์จะเน้น 3 เรื่อง คือ การแก้จน สร้างคน สร้างชาติ ซึ่งในเรื่องการแก้จน พรรคยังคงยึดนโยบายการประกันรายได้เกษตรกร รวมถึงนำเสนอนโยบายใหม่ในการประกันรายได้ให้กับผู้ใช้แรงงาน ในกรณีที่รายได้ทั้งปี ต่ำกว่า 1.2 แสนบาทต่อปี รัฐพร้อมจ่ายส่วนต่างให้

นอกจากนี้ พรรคมีนโยบายส่งเสริมปัจจัยการผลิตทั้งนโยบายโฉนดสีฟ้า ให้ประชาชนมีที่ทำกินหรือนโยบายกองทุนน้ำ กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการแหล่งน้ำให้เกษตรกรได้

ส่วนการสร้างคน พรรคปชป. เน้นเรื่องการศึกษาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตตั้งแต่เด็กแรกเกิด ทำให้เด็กไทยในอนาคตสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการพัฒนาจากต่างประเทศมากขึ้น

สำหรับการสร้างชาติ พรรคปชป.เน้นการกระจายอำนาจด้วยการให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกจังหวัด และกระจายอำนาจการศึกษาให้โรงเรียนสามารถกลายเป็นนิติบุคคลกำหนดนโยบายการศึกษาได้ด้วยตัวเอง และเน้นการกระจายอำนาจออกจากกรุงเทพมหานครผ่านนโยบาย 10 มหานครที่พรรคจะนำเสนอต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ