(เพิ่มเติม) CIMBT เตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ MRR รายแรกราว 0.125% มีผล 1 ก.พ.62

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 31, 2019 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภท MRR เป็นรายแรกราว 0.125% ต่อปี เป็น 7.875% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.62 โดยยอมรับว่าอาจจะส่งผลต่อการปล่อยกู้และภาระดอกเบี้ยของลูกค้าบ้าง

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย CIMBT กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้เป็นไปตามภาวะต้นทุนทางการเงินของธนาคารที่ปรับเพิ่มขึ้น หลังจากที่ธนาคารจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน และ 9 เดือน เพิ่มขึ้นอีก 0.25% ต่อปี สำหรับเงินฝากไม่เกิน 2 ล้านบาท มาเป็น 1.3% , 1.55% และ 1.55% ต่อปี ตามลำดับ รวมทั้งเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน เพิ่มขึ้น 0.10% ต่อปี มาเป็น 1.65% ต่อปี สำหรับเงินฝากไม่เกิน 2 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลวันที่ 1 ก.พ. 62 เช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามภาวะต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น และตามกลไกของตลาดหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นมาที่ 1.75% ต่อปีในช่วงปลายปีก่อน

นายอดิศร กล่าวว่า การที่ธนาคารเป็นธนาคารขนาดเล็กทำให้มีต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่าธนาคารขนาดใหญ่ และมีสัดส่วนของเงินฝากประจำสูงที่ 75% มากกว่าสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์ที่มีสัดส่วน 25% ในขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนเงินฝากประจำ 50% ทำให้ธนาคารขนาดใหญ่เมื่อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำไปก่อนหน้านี้ มีผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของธนาคารขนาดใหญ่น้อย ส่งผลให้เมื่อธนาคารปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ จึงมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ขึ้นตาม แต่ยังถือว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ของธนาคารยังอยู่ในระดับต่ำ 1 ใน 3 ของธนาคารขนาดเดียวกัน โดยที่ผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ในครั้งนี้ ธนาคารมองว่าอาจจะมีผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของธนาคารบ้างงจากการตัดสินกู้ของลูกค้าที่จะต้องพิจารณาในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเทียบกับธนาคารอื่น ทำให้ลูกค้าอาจจะชะลอการกู้ไปบ้าง และส่งผลกระทบต่อการผ่อนชำระของลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งในส่วนของลูกค้าเดิมที่กู้กับธนาคารอยู่แล้วจะมีดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละหลักร้อยบาท ต่อการกู้ยืม 1 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะกระทบกับลูกค้าที่ใช้สินเชื่อบ้าน ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อบ้านรวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในส่วนของลูกค้าที่กู้ใหม่นั้นธนาคารยังคงมีโปรโมชั่น MRR แบบติดลบเสนอให้กับลูกค้าอยู่ โดยเฉพาะลูกค้าสินเชื่อบ้านที่กู้ใหม่ที่ธนาคารยังคงมีโปรโมชั่น MRR -3% ถึง -4% ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี ส่วนโปรโมชั่นลูกค้ากลุ่มรีไฟแนนซ์บ้านนั้นคาดว่าจะพิจารณาต่อโปรโมชั่นอัตราดอกเบี้ย 2.89% ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาโปรโมชั่นในวันที่ 31 ม.ค. 62 และธนาคารจะขยายระยะเวลาโปรโมชั่นไปถึงสิ้นไตรมาส 1/62 เพื่อเป็นการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อให้เพิ่มขึ้น "การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของ CIMBT ในครั้งนี้เป็นไปตามต้นทุนการเงินของธนาคาร และกลไกของตลาดหลังกนง.ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ซึ่งเราก็ต้องพยายามรักษามาร์จิ้นของเราไม่ให้ลดลง เพราะที่ผ่านมามาร์จิ้นก็ไม่สูงมากอยู่แล้ว และกำไรของธนาคารก็ไม่ได้มาก ทำให้เราต้องบริหารต้นทุนและมาร์จิ้นของธนาคารให้ดี ส่วนผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซึ่งเราเป็นเจ้าแรกในครั้งนี้ ขอดูจนถึงสิ้นไตรมาสแรกนี้ก่อน ว่าส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง แล้วจะมาพิจารณาถึงแผนงานกันอีกรอบ ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก็มีผลดีทำให้รายได้ดอกเบี้ยมากขึ้น แต่การปล่อยกู้ก็มีโอกาสชะลอลงบ้างก็ได้ ส่วนอัตราดอกเบี้ย MOR และ MLR อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากมีผลกระทบของต้นทุนมากก็จะปรับเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต"นายอดิศร กล่าว สำหรับเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยในปี 62 ตั้งเป้าเติบโต 10% โดยที่การขยายสินเชื่อในปีนี้ยังมาจากกลุ่มลูกค้าสินเชื่อบ้านเป็นหลักที่ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ของสินเชื่อบ้านในปีนี้เพิ่มเป็น 2.8 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนปล่อยสินเชื่อบ้านที่เป็นสินเชื่อใหม่ 2.2 หมื่นล้านบาท โดยที่ในเดือนม.ค.นี้ ภาพรวมของการปล่อยสินเชื่อบ้านของธนาคารลดลงเล็กน้อยจากเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 2.2 พันล้านบาท จากเดือนธ.ค. 61 ที่ 2.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามภาวะปกติของตลาดที่จะชะลอตัวลงเล็กน้อยในช่วงเดือนแรกของปี แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ของสินเชื่อบ้านว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะในปีนี้ภาวะตลาดบ้านถือว่ามีปัจจัยกดดันเข้ามาค่อนข้างมาก ส่วนแผนการเปิดให้บริการ Digital Lending ของธนาคารที่จะเป็นการร่วมกับพันธมิตรจากจีนที่มาร่วมกันพัฒนาระบบ ในเดือนนี้ได้มีการเข้าไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว และในช่วงกลางเดือนก.พ.ที่จะถึงนี้จะเข้าไปคุยกับธปท.อีกรอบ เพื่อพูดคุยกับรายละเอียดเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลลูกค้าและเรื่องระบบ ซึ่งคาดว่าจะระบบ Digital Lending จะพร้อมเปิดให้บริการได้ในช่วงเดือนเม.ย.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ