ฟิทช์จัดอันดับเครดิตภายในประเทศหุ้นกู้ชุดใหม่ มูลค่า 1.5 หมื่นลบ. ของ SCC ที่ระดับ "A+(tha)"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 31, 2019 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long Term Rating) หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ของ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC (ซึ่งมีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) มูลค่ารวม 1.5 หมื่นล้านบาท ที่ระดับ ‘A+(tha)’ โดยหุ้นกู้ชุดที่ 1/2562 ดังกล่าว ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2566 เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะนำไปใช้สำหรับชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด

หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC เนื่องจากมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ SCC

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

อัตราส่วนหนี้สินจะเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่คาด -ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ 3.0 เท่า ในช่วงสามปีข้างหน้า (อัตราส่วนนี้อยู่ที่ระดับ 2.1 เท่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 และ 1.9 เท่า ณ สิ้นปี 2560) ซึ่งเป็นผลมาจากแผนการลงทุนขนาดใหญ่ บริษัทฯ มีการปรับแผนการลงทุนในส่วนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ (uncommitted plan) เพื่อคงแผนการใช้เงินลงทุนในระดับประมาณ 2.6 แสนล้านบาท ในช่วงห้าปีข้างหน้า โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่ใช้สำหรับโครงการปิโตรเคมีในประเทศเวียดนาม (Long Son Petrochemicals หรือ LSP) และการขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์ของบริษัท มาบตาพุดโอเลฟินส์ จำกัด

ถึงแม้ว่าฟิทช์จะมองว่า SCC มีความยืดหยุ่นระดับหนึ่งในการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนส่วนที่เป็น uncommitted plan การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่สูงขึ้นเกินกว่าที่ฟิทช์คาดไว้อย่างมีนัยสำคัญ อาจมีผลกระทบทางลบต่ออันดับเครดิตได้

การกระจายความเสี่ยงในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ดีขึ้น -รายได้จากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่เกิดจากการดำเนินการผลิตในภูมิภาคอาเซียน (ไม่รวมประเทศไทย) ในปี 2560 มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 21 ของรายได้จากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 14 ในปี 2557 ฟิทช์คาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25-30 ในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า การขยายโรงงานปูนซีเมนต์ในภูมิภาคอาเซียนเสร็จสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 2560 ซึ่งทำให้ SCC มีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์นอกประเทศไทยรวม 10.5 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 31 ของกำลังการผลิตรวมของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าการแข่งขันในตลาดปูนซีเมนต์ในภูมิภาคจะทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งน่าจะสร้างแรงกดดันต่ออัตราส่วนกำไรของผู้ประกอบการในช่วงสองปีข้างหน้า

การกระจายความเสี่ยงในธุรกิจที่หลากหลาย -อันดับเครดิตของ SCC ยังได้รับการสนับสนุนจากการที่บริษัทฯ มีแหล่งที่มาของรายได้จากธุรกิจหลักที่หลากหลาย ได้แก่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมีภัณฑ์ และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีส่วนช่วยให้กระแสเงินสดของบริษัทฯ มีความสม่ำเสมอมากขึ้น รวมถึงการลดความเสี่ยงเฉพาะที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง โดยในช่วงปี 2554-2555 ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในตลาดภายในประเทศที่แข็งแรงได้ช่วยชดเชยวงจรธุรกิจขาลงของธุรกิจเคมีภัณฑ์ ในขณะที่วงจรธุรกิจขาขึ้นของธุรกิจเคมีภัณฑ์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านสามารถชดเชยความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศที่อ่อนแอ

สถานะความเป็นผู้นำตลาด – SCC เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อันดับเครดิตของ SCC ได้รับการสนับสนุนจากสถานะความเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจหลักของบริษัทฯ โดย SCC มีกำลังการผลิตและส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและบางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับกลุ่มสินค้าปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก เคมีภัณฑ์ขั้นปลาย (โพลีโอเลฟินส์และพีวีซี) และกระดาษบรรจุภัณฑ์ ฟิทช์คาดว่า SCC จะสามารถรักษากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ได้ที่ระดับ 6.5-7.5 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีอัตราส่วนกำไรดังกล่าวต่อรายได้ (EBITDA Margin) ที่ระดับร้อยละ 14-15 ในปี 2561-2562 โดยกำไรส่วนใหญ่ของ SCC ในปี 2561 น่าจะยังคงมาจากธุรกิจเคมีภัณฑ์ เนื่องจากธุรกิจปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างน่าจะมีการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้า

ความผันผวนของธุรกิจ – อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงการที่ SCC ต้องเผชิญกับความผันผวนของธุรกิจเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ SCC มีอำนาจในการกำหนดราคาที่จำกัด เนื่องจากสินค้าหลักส่วนใหญ่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งถูกกำหนดราคาโดยอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

SCC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC, ‘A(tha)’/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างในประเทศไทยที่จัดอันดับเครดิตโดยฟิทช์ โดย SCC มีส่วนแบ่งทางการตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงกว่า SCC มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า SCCC ซึ่งสะท้อนถึงขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่ามาก และมีการกระจายความเสี่ยงในหลากหลายธุรกิจ

เมื่อเปรียบเทียบกับ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) อันดับเครดิต ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ, อันดับเครดิตโดยลำพัง ‘AA-(tha)’) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCC มีขนาดธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่เล็กกว่า แต่ดำเนินธุรกิจที่หลากหลายกว่า ซึ่งทำให้ SCC มีความเสี่ยงต่อความผันผวนของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม PTTGC มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า จึงมีอันดับเครดิตที่สูงกว่า

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้เติบโตในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ในปี 2561 โดยมาจากธุรกิจเคมีภัณฑ์เป็นหลัก และร้อยละ 7 ต่อปี ในปี 2562 โดยมาจากธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และธุรกิจเคมีภัณฑ์
  • EBITDA Margin ลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 14-15 ในปี 2561-2562
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประมาณ 2.6 แสนล้านบาท ในช่วงห้าปีข้างหน้า
  • อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ที่ระดับร้อยละ 40-50 ในปี 2561-2562

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

  • ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิต นอกเสียจากว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการขยายธุรกิจเคมีภัณฑ์ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบของโครงการ LSP ในประเทศเวียดนาม

ปัจจัยลบ:

  • สถานะทางธุรกิจและการเงินของบริษัทฯ ที่อ่อนแอลง ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) อยู่ในระดับสูงกว่า 2 เท่า อย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ดำเนินธุรกิจปกติโดยไม่มีการลงทุน หรือสูงกว่าระดับ 3 เท่า ในช่วงที่มีการลงทุนขยายธุรกิจ

สภาพคล่อง

สภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริหารจัดการได้: สภาพคล่องของ SCC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและเงินลงทุนเทียบเท่าเงินสด (ตามการปรับปรุงตัวเลขโดยฟิทช์) จำนวนประมาณ 5.0 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่า 5.5 หมื่นล้านบาทต่อปี และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ในประเทศ รวมถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 บริษัทฯ มีหนี้ทั้งหมดจำนวน 2.0 แสนล้านบาท โดยเกือบร้อยละ 90 เป็นหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ สกุลเงินบาท และโดยประมาณร้อยละ 22 ของหนี้ทั้งหมดจะถึงกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ