โบรกฯเชียร์"ซื้อ"ANAN ราคาหุ้นกลับมาน่าสนใจ-PER ต่ำ แม้คาดกำไรปี 62 ชะลอตัวจากนิวไฮปี 61 รับผล LTV-ดอกเบี้ยขาขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 11, 2019 14:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) จากราคาหุ้นกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง โดยปัจจุบันราคาหุ้นมี PER ต่ำมาก 4.8-5.9 เท่า และในปี 61 คาดว่าจะกำไรสุทธิทำนิวไฮในช่วง 2.4-2.8 พันล้านบาท แต่คาดการณ์กำไรในปี 62 ปรับตัวลง หรือใกล้เคียงปีก่อน ประมาณการไว้ที่ 2.4-2.5 พันล้านบาท เนื่องจากรับผลกระทบจากมาตรการ LTV และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น

ส่วนการลงทุน 5% ใน บมจ.ดุสิตธานี (DTC) คาดว่าทั้ง ANAN และ DTC จะมีโครงการร่วมกันในการสร้างรายได้ประจำ (Recurring) ในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของธุรกิจ

ราคาหุ้น ANAN พักเที่ยงอยู่ที่ 3.70 บาท ลดลง 0.06 บาท หรือ 1.6% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลดลง 0.68%

          โบรกเกอร์                    คำแนะนำ          ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น)
          ทิสโก้                         ซื้อ                    7.40
          เอเชีย เวลท์                   ซื้อ                    6.00
          เคจีไอฯ                     Outperform              5.80
          เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ              ซื้อเก็งกำไร              5.05
          ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ               ซื้อ                    4.90
          เคทีบีฯ                        ซื้อ                    4.60
          บัวหลวง                     ซื้อเก็งกำไร               4.50
          กรุงศรี                     Outperform               4.10

นายอำนาจ โงสว่าง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ ANAN ปี 62 ในส่วนของกำไรอาจจะดูไม่น่าสนใจนัก แต่ราคาหุ้นน่าสนใจ เพราะปัจจุบันราคาหุ้นมี PER ต่ำที่ 5.9 เท่า จากอดีต PER อยู่ที่ 10.8 เท่า ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลยังสูง 6.4% ต่อปี

คาดการณ์กำไรในไตรมาส 4/61 อ่อนตัวทั้งจากไตรมาส 3/61 และช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ภาพรวมทั้งปี 61 คาดมีกำไรสุทธิ 2.4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดใหม่ โดยเพิ่มขึ้น 82% จากปีก่อน รับอานิสงส์การโอนคอนโดมิเนียมแอชตัน-อโศก เป็นจำนวนมากซึ่งเลื่อนมาจากปี 60

ขณะที่ปี 62 คาดกำไรสุทธิใกล้เคียงปีก่อน โดยมองว่าอาจไม่มี growth เนื่องจากปีนี้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำหรืออัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น โดยปีนี้คาดว่าจะมียอดโอนราว 60% หรือประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท จากยอดขายรอโอน (Backlog) ทั้งหมดที่มีอยู่ 4.1 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะมีรายได้ 3.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ANAN คาดทั้งปีจะมีรายได้ 3.6 หมื่นล้านบาท

ส่วนการลงทุน 5% ในหุ้น DTC นั้น คาดว่าทั้ง ANAN และ DTC จะมีโครงการร่วมกันในการสร้างรายได้ประเภท Recurring ในอนาคต เพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากสร้างแล้วขายซึ่งมีความเสี่ยง ดังนั้น หากมีรายได้ประจำจะช่วยลดความผันผวนของธุรกิจ โดยที่ผ่านมา ANAN ได้เริ่มธุรกิจ Service Apartment ซึ่งจะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 63

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ โดยคาดผลประกอบการของ ANAN จะเติบโตสูงจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน และการลงทุนใน DTC ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจเพื่อหันมาเน้นรายได้ประจำ และเป็นที่พักอาศัยแบบ Low-rise มากขึ้น โดยแนะนำให้"ซื้อ"มีมูลค่าที่เหมาะสม 7.40 บาท คิดเป็น PER 4.9 เท่าสำหรับปี 62 , PBV 0.7 เท่า, RoE 15% และคิดเป็นเงินปันผลราว 4%

คาดผลประกอบการไตรมาส 4/61 ที่ 1.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% จากงวดปีก่อน และ 16% จากไตรมาสก่อน หนุนกำไรทั้งปี 61 ที่ระดับ 2.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 114% จากปี 60 สะท้อนส่วนแบ่งกำไรจากโครงการร่วมลงทุน (JV) ที่เพิ่มขึ้น แต่ปรับกำไรปี 62 ลง 15% เป็น 2.5 พันล้านบาท และกำไรปี 63 ลง 15% เป็น 2.7 พันล้านบาท ทั้งปรับ SG&A ต่อยอดขายเป็น 25% จากเดิม 20% และส่วนแบ่งกำไรจาก JV ที่ 2.5 พันล้านบาทในปี 62-63 และคงอัตรากำไรขั้นต้นที่ 30% ตามเดิม

บทวิเคราะห์ บล.บัวหลวง มองราคาหุ้น ANAN ควรจะฟื้นตัวในระยะสั้น เนื่องจากยัง Laggard ขณะที่การเติบโตของกำไรหลักสำหรับปี 62 และอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (leverage ratio) คาดว่าอยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย แต่หุ้นมีมูลค่าถูกมาก ซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีอยู่ 25% สำหรับปี 61 (หากไม่รวมหุ้นกู้จะต่ำกว่าอยู่ 7%) และ PER ปี 62 ต่ำเพียง 4.8 เท่า โดยยังคงคำแนะนำ"ซื้อเก็งกำไร"ด้วยราคาเป้าหมายปี 62 ที่ 4.50 บาท อ้างอิงจาก PER ที่ 7 เท่า

แม้ว่า ANAN จะพลาดเป้ายอดจองซื้อและเป้าหมายการโอนสำหรับปี 61 กำไรหลักคาดว่าเติบโตแบบก้าวกระโดดที่ 95% มาทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 2.5 พันล้านบาท อัตรากำไรหลักในปี 61 จะทำสถิติสูงสูดที่ 21.3% ซึ่งสูงกว่าผลกระทบจากรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยที่ลดลง และการลงทุนของ ANAN ในโครงการร่วมทุนกับพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น มิตซุย ฟูโดซัง ได้เริ่มให้ผลตอบแทนแล้วจากการคาดการณ์ส่วนแบ่งกำไรคาดว่าจะพลิกกลับมาทำกำไรที่ 1.7 พันล้านบาทในปี 61

ส่วนแผนธุรกิจปี 62 มองว่าเติบโตปานกลาง โดยผู้บริหารตั้งเป้ามูลค่าโครงการใหม่ 3.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียม 93% และโครงการแนวราบ 7% ขณะที่เป้าหมายยอดจองซื้อมีความเป็นไปได้ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากปีก่อน จากการตั้งเป้าการเติบโตของยอดจองซื้อโครงการคอนโดมิเนียมแบบอนุรักษ์นิยมที่ 6% ยอดจองซื้อโครงการแนวราบมีแนวโน้มเติบโต 29% มาอยู่ที่ 3.9 พันล้านบาท

ในปี 62 เป้าหมายมูลค่าการโอนมีความเป็นไปได้ที่การเติบโต 9% มาอยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านบาท การประมาณการรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 9 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการคาดการณ์เชิงอนุรักษ์นิยมกว่าเป้าหมายของ ANAN ที่ 9.6 พันล้านบาท โดยประเมินว่าอัตรากำไรขั้นต้นของการขายอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 30.1% ลดลง 1.4% จากปีก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ