โกลเบล็ก คาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้แนวโน้มผันผวน ให้กรอบ 1,630 -1,670 จุด รับปัจจัยบวก-ลบต่างประเทศ ,จับตาการเมืองในปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 12, 2019 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.โกลเบล็ก (GBS) มองหุ้นไทยสัปดาห์นี้มีแนวโน้มผันผวนในกรอบ 1,630-1,670 จุด จากปัจจัยต่างประเทศที่มีทั้งบวกและลบ โดยตลาดยังจับตาภาวะชัตดาวน์ในสหรัฐอีกครั้ง รวมถึงการเปิดตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ ขณะที่ยังติดตามปัจจัยการเมืองในประเทศที่ยังมีความผันผวน

น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากต่างประเทศ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่เร่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตามภาวะศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฟดสาขานิวยอร์กคาดการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐฯ ในไตรมาส 4/61 ที่ระดับ 2.41% ต่ำกว่าคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 2.61% ขณะที่คาดการณ์ตัวเลข GDP ในไตรมาส 1/62 ไว้ที่ระดับ 2.17% ซึ่งชะลอตัวจากไตรมาส 4/61 ที่ผ่านมา

รวมทั้งปัจจัยในประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเผยตัวเลข GDP ไทยปี 61 ที่ระดับ 4.2% ขยายตัวต่อเนื่อง และสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว 3.7% และในปี 62 มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมที่ทยอยเปิดประมูล อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการลงทุนในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) โครงการรถไฟทางคู่ 4 เส้นทางมูลค่ารวม 2.17 แสนล้านบาท ฯลฯ ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมมีโครงการเร่งด่วนเบื้องต้นรวม 21 โครงการ

ส่วนปัจจัยด้านลบที่กดดันการลงทุนในระยะนี้มาจากใกล้ถึงวันกำหนดเส้นตายภาวะปิดหน่วยงานรัฐบาล (ชัตดาวน์) ในสหรัฐอีกครั้งในวันที่ 15 ก.พ. นี้ หากไม่มีการบรรจุงบประมาณสร้างกำแพงในร่างกฏหมายงบประมาณสหรัฐ และปัจจัยการเมืองในประเทศมีความผันผวนมากขึ้นก่อนถึงกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.62

สำหรับปัจจัยที่น่าจับตาตลอดทั้งสัปดาห์ อาทิ วันที่ 12 ก.พ. สหรัฐ เปิดเผย ความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือนม.ค. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนธ.ค.วันที่ 13 ก.พ. สหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผย การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค. รวมทั้งสหรัฐ เปิดเผย สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์, วันที่ 14 – 15 ก.พ. สหรัฐฯและจีนเจรจาการค้าที่กรุงปักกิ่ง , 15 ก.พ. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลตัดสินคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.แบ่งเขต-ปาร์ตี้ลิสต์-แคนดิเดทนายกรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการ และจะนำรูปแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ขึ้นป้ายหาเสียงได้ รวมทั้งงบประมาณชั่วคราวสำหรับหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐจะหมดลง และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดรับซองข้อเสนอโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และวันที่ 18 ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงตัวเลข GDP ไตรมาส 4/61

ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มผันผวน คาดจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,630-1,670 จุด แนะกลยุทธ์ลงทุนในหุ้นได้ประโยชน์จากการเลือกตั้ง VGI, PLANB, MACO, CPALL, MAKRO, BJC และTKS ส่วนหุ้น mai ได้แก่ TACC, LIT และ CRD รองลงมาหุ้นได้อานิสงส์มาตรการคืน VAT 5% จากการกระตุ้นช็อปช่วงตรุษจีนระหว่าง 1-15 ก.พ. เช่น CPALL, MAKRO และหุ้นที่ได้อานิสงส์ขยายเวลาฟรีค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยว เช่น AOT, CENTEL, ERW

สำหรับแนวทางการลงทุนในทองคำนั้น การตกลงกรอบเงื่อนไขการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ภายในอังกฤษที่ยังไม่ลงตัว ส่งผลให้ทั้งเงินยูโรและเงินปอนด์แกว่งอ่อนค่า แต่จากการที่สหรัฐกดดันยุโรปอย่างหนักเกี่ยวกับ 5G เนื่องจากประเทศหลักในกลุ่มยูโรโซนต้องการนำเทคโนโลยีจีนมาร่วมพัฒนาประเทศ ในขณะที่สหรัฐเปิดศึกอีกหลายด้านเกี่ยวกับสงครามการค้า ทั้งไม่เจรจากับจีนให้ต่อเนื่อง แต่ไปกดดันผ่านการนัดพบผู้นำเกาหลีเหนือแทน

นอกจากนี้ การยืนกรานสร้างกำแพงกั้นแนวชายแดนเม็กซิโก ซึ่งเพิ่มความขัดแย้งภายในประเทศและมีโอกาสจะเกิดภาวะชัตดาวน์ในสหรัฐอีกหลายครั้งตามมา มีผลทำให้เงินดอลลาร์ไม่ได้แข็งค่าเท่าใดนัก แต่สินทรัพย์ปลอดภัยในรูปสกุลเงินดอลลาร์มีเงินไหลเข้ามากขึ้น โดยมีการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเป็นปัจจัยบวกสนับสนุน

อีกทั้งการที่ประเทศเศรษฐกิจสำคัญต่าง ๆ ของโลกต่างมีสัญญาณชะลอตัวลงเรื่อย ๆ ทำให้เงินทุนกลับมาไหลเข้ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ แต่เงินบาทอาจไม่แข็งค่าขึ้นและมีแนวโน้มจะสวิงผันผวนตามปัจจัยภายในประเทศที่มีความไม่แน่นอนทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งเป็นปัจจัยหลัก ถือว่าช่วยคลายแรงกดดันด้านราคาสำหรับทองคำในประเทศ

อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้คาดการณ์ราคาทองคำตลาดโลกจะแกว่ง sideway ในกรอบระหว่าง 1,300–1,330 ดอลลาร์/ออนซ์ และยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนสำหรับภาพระยะกลาง จึงแนะนำให้เล่นเก็งกำไรในกรอบจำกัด ส่วนพอร์ตระยะกลางยังคงเน้นตั้งรับเมื่อราคาอ่อนตัว โดยพิจารณาเข้าซื้อมากขึ้น เนื่องจากเงินบาทส่งสัญญาณอ่อนค่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ