ทริสฯ คาด GDP ไทยปี 62 โต 3.9% ชะลอจากโต 4% ในปี 61 สินเชื่อนอนแบงก์-ธุรกิจเกษตร/อาหารยังเผชิญปัจจัยท้าทาย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 14, 2019 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด กล่าวว่า ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 62 จะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวที่ระดับ 3.9% จากระดับ 4.0% ในปี 61 ลดลงเล็กน้อยจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ระดับ 4.2% ซึ่งสะท้อนถึงปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงกว่าคาด

ทั้งนี้ ความต่อเนื่องในการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชนจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาคาดว่าจะยังคงชะลอตัวต่อไปในปี 62 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศจีนและความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ และประเทศจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้การส่งออกของไทยลดลงและกดดันให้ GDP ของไทยมีอัตราการเติบโตต่ำกว่า 3.9% ในปี 62 ได้

ธุรกิจธนาคาร: เงินกองทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่งเป็นปัจจัยสนับสนุน

ทริสเรทติ้งมีมุมมองแนวโน้มของธุรกิจธนาคารว่าจะยังคงที่ โดยในปี 61 ธนาคารพาณิชย์ไทยยังสามารถปรับตัวได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจที่ท้าทายยิ่งขึ้น ธนาคารส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานทางการเงินอยู่ในระดับที่น่าพอใจในปี 61 แม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมธนาคารจะลดลงก็ตาม

ทั้งนี้ เงินกองทุนที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องในระบบที่อยู่ในระดับสูงน่าจะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสถานะเครดิตของธนาคาร โดยที่ทริสเรทติ้งประมาณการอัตราการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มธนาคารที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 7% ในปี 62 สินเชื่อรายย่อยที่ให้ผลตอบแทนสูงโดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่หลายธนาคารให้ความสำคัญในปีนี้น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราผลตอบแทนของสินเชื่อปรับตัวสูงขึ้นได้ ส่วนคุณภาพสินทรัพย์สำหรับธนาคารส่วนใหญ่นั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

อย่างไรตาม คุณภาพสินทรัพย์ของสินเชื่อบางประเภทโดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อที่อยู่อาศัยเริ่มส่งสัญญาณว่าอ่อนแอลง โดยภาพรวมแล้ว สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือหนี้เสียไหลย้อนกลับที่ยังอยู่ในระดับสูงนั้นยังถือว่าเป็นความท้าทายสำคัญที่ธุรกิจธนาคารยังคงต้องเผชิญต่อไป

ธุรกิจสินเชื่อของบริษัทที่ไม่ใช่ธนาคาร: IFRS9 เป็นความท้าทายที่สำคัญ

ความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจสินเชื่อของบริษัทที่ไม่ใช่ธนาคารในระยะ 12 เดือนข้างหน้าคือความสามารถของผู้ประกอบการในการใช้มาตรฐานการบัญชีใหม่ IFRS9 ซึ่งกำหนดมาตรฐานการตั้งสำรองหนี้เสียที่สูงขึ้น ทำให้คาดว่าการบังคับใช้ IFRS9 ในปี 63 จะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อความสามารถในการทำกำไรและระดับฐานทุนของผู้ประกอบการ เนื่องจากต้นทุนด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นจากเกณฑ์การตั้งสำรองหนี้เสียที่เข้มงวดยิ่งขึ้น คุณภาพสินเชื่อรถยนต์ถดถอยลงในระดับหนึ่งในปี 61 ซึ่งทำให้ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยก็จะนำมาซึ่งความเสี่ยงที่อัตรากำไรของผู้ประกอบการจะลดลง ทริสเรทติ้งคาดว่า ในปี 62 ผู้ประกอบการจะยังคงสามารถรักษาระดับกำไรที่ดีและขยายสินเชื่อได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีอัตราที่ลดลงก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว

ทริสเรทติ้งคาดว่าผู้ประกอบการให้สินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารซึ่งจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งส่วนใหญ่จะยังคงสามารถรับมือกับความท้าทายในปี 62 ได้

ธุรกิจเกษตรและอาหาร: อุปทานส่วนเกินจะยังคงอยู่ต่อไปในปี 62

ธุรกิจเกษตรและอาหารชะลอตัวมาโดยตลอดและคาดว่าจะยังคงชะลอตัวต่อไปในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดปศุสัตว์ น้ำตาล และสินค้าทางการเกษตรอื่น ๆ ยังไม่มีสัญญาณที่จะลดลงในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ ความสามารถของผู้ประกอบการในการลดความเสี่ยงในธุรกิจนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถยืนหยัดต่อภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยที่ยาวนานนี้ได้ ผู้นำตลาดในธุรกิจปศุสัตว์ได้มีการสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรมากยิ่งขึ้น ส่วนผู้ประกอบการหลายรายในธุรกิจน้ำตาลก็เพิ่มความหลากหลายของธุรกิจด้วยเช่นกันโดยหันมาผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะลดผลกระทบจากความผันผวนด้านราคาและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร ในขณะที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้านั้นได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ทั้งหลายมานานแล้วซึ่งเป็นสิ่งพิสูจน์ว่าเป็นกลยุทธ์ในการกระจายธุรกิจที่ถูกทาง

ธุรกิจผลิตไฟฟ้า: การขยายธุรกิจไปในต่างประเทศเป็นทางออกของการเติบโต

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณการบริโภคไฟฟ้าในประเทศไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบใกล้เคียงกับอัตราการเติบโตของ GDP ด้วยโอกาสในการเติบโตภายในประเทศที่จำกัด ผู้ประกอบการจำนวนมากจึงได้แสวงหาโอกาสในการเติบโตด้วยการขยายการลงทุนไปในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในต่างประเทศก็มักให้ผลตอบแทนที่ไม่สมดุลกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ความเสี่ยงเกี่ยวกับคู่สัญญาทางธุรกิจกับความเสี่ยงด้านกฎระเบียบถือว่าเป็นประเด็นหลัก ๆ ที่สร้างความกังวลต่อการลงทุนในประเทศใหม่ ๆ บางประเทศ ส่วนโครงการพลังงานทดแทนในตลาดภายในประเทศซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สูงมากนั้นก็ได้ผ่านจุดสูงสุดของการเติบโตไปแล้ว การแข่งขันส่งผลกดดันให้อัตราการรับซื้อไฟฟ้าลดลง แม้โอกาสในการเติบโตจะมีจำกัด แต่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยก็ยังคงเป็นธุรกิจที่มีปัจจัยแวดล้อมที่มีเสถียรภาพ โดยมีความเสี่ยงของคู่สัญญาทางธุรกิจและความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เชื่อถือได้เป็นปัจจัยสนับสนุนอีกด้วย

ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs): นักลงทุนให้ความสนใจลงทุนในทรัสต์ฯ มากขึ้น

REITs เป็นสินทรัพย์ประเภทใหม่ในตลาดทุนไทยซึ่งดึงดูดความสนใจของนักลงทุนจำนวนมากในหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นจำนวน REITs ที่เพิ่มมากขึ้นในตลาดตราสารหนี้ไทย ด้วยการมีโครงสร้างรายได้ที่แน่นอนจากค่าเช่าของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนประเภทต่าง ๆ ความเสี่ยงด้านเครดิตของ REITs จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ ๆ เพียงไม่กี่ประการ อาทิ อัตราการเช่า ระยะเวลาเช่า นโยบายการจัดหาทุน การบริหารสภาพคล่อง และผลงานที่ผ่านมาของผู้จัดการทรัสต์ฯ ในขณะที่การบริหาร REITs ในปัจจุบันมักจะมีความเกี่ยวโยงกับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์รวมถึงจำเป็นจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีด้วย

ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเห็นว่าตลาดสำหรับพื้นที่ค้าปลีก รวมทั้งสำนักงาน และโรงงานให้เช่านั้นจะยังคงมีเสถียรภาพในระยะ 12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่กำลังก่อสร้างในปัจจุบันจะทำให้มีอุปทานของพื้นที่ค้าปลีกและพื้นที่สำนักงานให้เช่าเพิ่มมากขึ้นหลังจากโครงการเหล่านี้พัฒนาแล้วเสร็จในอีก 3 ถึง 5 ปีข้างหน้า

ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์: ผู้ประกอบการปรับตัวตามภาวะตลาด

ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยคาดว่าจะชะลอตัวในปี 62 หลังจากที่ในปีที่ผ่านมามีการเปิดโครงการใหม่และมียอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยในปีนี้ทริสเรทติ้งคาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.62 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างเร่งการขายและโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยให้ได้มากที่สุดก่อนที่เกณฑ์ใหม่จะมีผลบังคับใช้ ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งคาดว่าผู้ประกอบการจะมีความระมัดระวังในการลงทุนโครงการใหม่มากยิ่งขึ้น โดยหลายรายอาจเลือกที่จะรอประเมินผลกระทบจากการบังคับใช้เกณฑ์ใหม่ของ ธปท. ที่น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสที่ 2 ในส่วนของผู้ซื้อชาวต่างชาตินั้นในปีนี้อาจจะชะลอตัวลงบ้างจากที่เคยมีสัดส่วนสูงถึง 33% ของมูลค่าขายคอนโดมิเนียมรวมในปี 61

อย่างไรก็ดี ทริสเรทติ้งก็ยังไม่เห็นสัญญาณชัดเจนที่จะเกิดขึ้นในขณะนี้ การชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อาจกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการโดยรวม การส่งมอบที่ล่าช้าจะเกิดมากขึ้นจากการที่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยมีความยากลำบากในการขอสินเชื่อตามเกณฑ์ใหม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการรับรู้รายได้และกำไรของผู้ประกอบการ รวมถึงอาจทำให้ภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยจะชะลอตัวในช่วง 12 เดือนข้างหน้า แต่ทริสเรทติ้งยังคงเชื่อว่าตลาดจะยังมีแนวโน้มที่ดีในระยะปานกลางถึงระยะยาวและผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งส่วนใหญ่น่าจะสามารถปรับตัวตามสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ