MCOT คาดเปิดประมูลพัฒนาที่ดิน 50+20 ไร่อย่างเร็วปลายปี 62,เชื่อปีนี้ไม่ขาดทุน-ย้ำพร้อมคืนคลื่น 2600 MHz หากชดเชยคุ้ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 18, 2019 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท (MCOT) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของแผนการพัฒนาที่ดินเปล่าของบริษัทขนาด 50 ไร่ ติดถนนเทียมร่วมมิตร ติดกับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และที่ดินสำนักงานใหญ่ในปัจจุบันขนาด 20 ไร่ ได้ให้สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สำนักงานศูนย์วิจัยฯ) ดำเนินการศึกษา ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการพัฒนาที่ดินทั้ง 2 แปลง คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้อย่างเร็วในปลายปีนี้

ความเป็นไปได้ของการพัฒนาที่ดินเปล่า 50 ไร่ ซึ่งประเมินมูลค่าที่ดินเบื้องต้นราว 5 พันล้านบาท จะพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูสภายใต้รูปแบบ Digital Media City คาดว่าจมีขนาดพื้นที่ใช้สอยรวมกันสูงถึง 460,000 ตารางเมตร แบ่งพื้นที่การพัฒนาออกเป็น 3 โซนตามข้อกำหนดของผังเมือง ได้แก่ โซน A ซึ่งเป็นโซนที่ไม่มีข้อจำกัดด้านผังเมือง สามารถพัฒนาเป็นสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มที่ บริษัทคาดว่าจะสร้างเป็นสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ และยังสามารถพัฒนาเป็นอาคารสำนักงานให้เช่าและพื้นที่ค้าปลีกได้

ส่วนในโซน B มีข้อจำกัดของสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์จะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร ทำให้การพัฒนาในพื้นที่ส่วนนี้จะนำไปพัฒนาเป็นโรงแรม รวมถึงพื้นที่ศูนย์การแสดงและจัดกิจกรรมที่มีเนื้อที่ 4,000-5,000 ตารางเมตร ซึ่งมีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่ารอยัล พารากอน ฮอลล์

และในโซน C ที่ติดกับศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่มีข้อจำกัดของผังเมืองอยู่มาก และห้ามไม่ให้สร้างอาคารสูงและสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวข้องกับการจัดแสดงและกิจกรรมต่างๆ บริษัทคาดว่าจะนำมาใช้เป็นพื้นที่สีเขียว หรืออาจจะแบ่งขายให้กับเอกชนเพื่อการพัฒนาเป็นโครงการบ้านเดี่ยวระดับบน

ขณะที่ที่ดิน 20 ไร่ ที่เป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทในปัจจุบันได้มีการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินที่ถือว่ามีศักยภาพสูง เพราะอยู่ใกล้กับทำเลย่านพระราม 9 และใกล้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ปัจจุบันราคาซื้อขายที่ดินในย่านถนนรัชดา-พระราม 9 เฉลี่ยพุ่งขึ้นไปสูงแตะ 1 ล้านบาท/ตารางวา ซี่งปัจจุบันโครงการคอนโดมิเนียมเปิดการขายเป็นจำนวนมากในพื้นที่บริเวณโดยรอบ และมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งที่ดินผืนดังกล่าวไม่มีข้อจำกัดด้านผังเมือง ทำให้บริษัทมองโอกาสในการที่อาจจะตัดขายที่ดินให้กับผู้ประกอบการที่มีความสนใจมาพัฒนาอาคารสูงหรือคอนโดมิเนียม อาจจะเป็นการขายทั้งแปลงหรือแบ่งขาย

อย่างไรก็ตาม การขายที่ดินดังกล่าวออกไปบริษัทจะต้องได้รับอนุมัติให้ลงทุนโครงการก่อสร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่บนที่ดินเปล่า 50 ไร่ก่อน ซึ่งการขายที่ดิน 20 ไร่ออกไปนั้นจะเป็นการช่วยเพิ่มกระแสเงินสดของบริษัทฯ ทำให้มีสภาพคล่องมากขึ้น เพราะปัจจุบันกระแสเงินสดของบริษัทมีอยู่ไม่มากนัก และการที่มีสภาพคล่องมากจะช่วยรองรับการดำเนินธุรกิจสื่อที่ปัจจุบันเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง

นายไพรัช มณฑาพันธ์ ผู้จัดการโครงการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการพัฒนาที่ดินว่าง 50 ไร่และที่ดินที่ทำการเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ของ อสมท จากสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่ดินทำการ 20 ไร่ถือว่าตั้งอยู่บนทำเลที่มีศักยภาพสูงมาก และเป็นที่ดินแปลงขนาดเล็ก ทำให้มีสภาพคล่องสูงกว่าแปลงขนาดใหญ่ จึงคาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าที่ดินแปลง 50 ไร่ แต่คงต้องรอการราคาประเมินจากกรมที่ดิน และราคาขายที่ดินของแปลงใกล้เคียงที่อยู่ระหว่างการขายก่อน

นายเขมทัตต์ กล่าวต่อว่า วันนี้ (18 ก.พ. 62) บริษัทเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนโดยรอบ และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละกลุ่มธุรกิจ (Public Hearing ครั้งที่ 1) ซึ่งมีแนวทางของการพัฒนาที่ดินเปล่า 50 ไร่ที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนา ส่วนที่ดิน 20 ไร่ มีแนวทาง 2 รูปแบบ คือ การเปิดประมูลให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาอาคารสูงหรือคอนโดมิเนียม หรือขายที่ดินให้กับเอกชนที่สนใจไปพัฒนา

ทั้งนี้ ในอีก 1 เดือน หรือหลังวันที่ 18 มี.ค. 62 จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน (Public Hearing ครั้งที่ 2) และจะนำเสนอผลการศึกษาค่อคณะกรรมการบริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย. 62 และคาดว่าจะเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนได้ภายในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 62 หากการประมูลดังกล่าวไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) แต่หากเข้าข่าย PPP ก็จะต้องรอการพิจารณาจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้การเปิดประมูลเลื่อนออกไปอีก 1 ปี หรือภายในปลายปี 63 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างอย่างเร็วได้ภายในปี 66

"สภาพแวดล้อมโดยรวมของที่ดินทั้งสองแปลงเป็นพื้นที่ Prime area อยู่ติดกับสถานที่สำคัญๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9, ศูนย์วัฒนธรรม, สถานทูตจีนและเกาหลี, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่สามารถลงทุนและต่อยอดทางธุรกิจได้ โดยเฉพาะศักยภาพของที่ดิน 50 ไร่ ที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีน้ำเงิน บริเวณดังกล่าวยังสามารถทำ skywalk หรือ cover walkway จากสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม มายังที่ดินทั้งสองแปลงได้ ซึ่งสะดวกสบายต่อการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ และล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.......(PPP) ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการประกาศบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะมีผลให้การดำเนินโครงการดังกล่าวของบริษัทเป็นไปอย่างรวดเร็วและคล่องตัวยิ่งขึ้นและสามารถแข่งขันในตลาดได้"นายเขมทัตต์ กล่าว

นายนันทสิทธิ์ เล็กศรีสกุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายกลยุทธ์และการเงิน MCOT กล่าวว่า จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะพิจารณาเรียกคืนคลื่น 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) จำนวน 190 MHz จาก MCOT บริษัทมองว่าหากต้องคืนคลื่นให้กับกสทช.ก็ควรได้รับเงินเยียวยาที่คุ้มค่า เพราะบริษัทสามารถนำไปต่อยอดในธุรกิจหลักได้ โดยบเฉพาะการออกอากาศผ่านเทคโนโลยี 5G อีกทั้งอายุที่เหลือของคลื่นเหลืออีก 15 ปี ซึ่งแตกต่างจากทางกสทช.ที่มองว่าบริษัทมีอายุการถือครองคลื่นอยู่ 3-5 ปี

บริษัทยังคงเจรจากับทาง กสทช.อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า และบริษัทยังรอดูรายละเอียดของร่างประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ให้ออกมาชัดเจนก่อน พร้อมกับรอ กสทช.ส่งข้อเสนอแลกกับคลื่น 2600 MHz มาให้พิจารณา ซึ่งจะต้องดูถึงความคุ้มค่าในเรื่องต่างๆ โดยคาดว่าการเจรจากับ กสทช.จะมีความชัดเจนภายในปี 62

"เรายอมรับได้ทั้งเงิน หากเงินที่ กสทช.ให้มาเยียวยามีความคุ้มค่า ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าเท่าไหร่ถึงคุ้มค่า เพราะการเจรจากับกสทช.ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ซึ่งเราก็พยายายามคุยกับ กสทช.อยู่ตลอดว่าหากคืนคลื่นแล้ว กสทช.จะให้การเยียวยากับ อสมท.อย่างไร และมีทางออกหรือการชดเชยให้กับเราอย่างไร ซึ่งตอนนี้เราเข้าใจว่า กสทช.มีความจำเป็นที่นำคลื่นไปเปิดประมูล 5G ...หากคุ้มค่าก็ยินดีที่จะคืนคลื่น แต่หากไม่คุ้มค่าเราก็สามารถนำคลื่นไปพัฒนาต่อได้ โดยที่เราอยากให้จบภายในปีนี้"นายนันสิทธิ์ กล่าว

ด้านแนวโน้มภาพรวมผลการดำเนินงานของ อสมท.ในปี 62 คาดว่าจะไม่ขาดทุน เพราะการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆของบริษัทที่เริ่มเห็นผลมาตั้งแต่ไตรมาส 4/61 เป็นต้นมา ทำให้ทิศทางของต้นทุนและค่าใช้จ่ายลดลงมาอย่างมีนัยสำคัญ จึงมึโอกาสที่ผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับกลยุทธ์ของบริษัทที่หันไปเน้นรับงานโฆษณาและประชาสัมพันธ์ให้กับหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น ทำให้มีรายได้เข้ามาเพิ่มขึ้น และในปีนี้ได้รับปัจจัยหนุนจากการจัดเลือกตั้งและพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนต่อรายได้ที่มาจากหน่วยงานภาครัฐเข้ามาเพิ่มมากขึ้า โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้ระหว่างงานภาครัฐและเอกชนอยู่ที่ 50:50

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมเปิดตัวธุรกิจใหม่ภายในครึ่งปีแรกของปี 62 ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจมีเดียในรูปแบบใหม่ โดยจะเป็นการร่วมมือกับพันธมิตรในการผลักดันธุรกิจใหม่นี้ออกมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ