(เพิ่มเติม) RATCH วางเป้าปี 66 มีกำลังผลิตไฟฟ้า 10,000 MW จาก 7,639.12 MW ในปี 61 เตรียมเงิน 2 หมื่นลบ.ลงทุนปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 20, 2019 17:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) วางเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์ในปี 66 ซึ่งจะมาจากโครงการในประเทศ 50% ต่างประเทศ 50% โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในสัดส่วน 20% จากสิ้นปี 61 บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 7,639.12 เมกะวัตต์ มาจากโครงการในประเทศ 68.2% ต่างประเทศ 31.8% โดยเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 8.74%

ขณะที่แผนงานในปีนี้บริษัทได้จัดเตรียมสำรองเงินลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเดินหน้าพัฒนาและก่อสร้างโครงการใหม่ โดยตั้งเป้าการลงทุนให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 8,960 เมกะวัตต์

นายกิจจา ศรีพัมฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าวว่า บริษัทยังคงเน้นเป้าหมายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งในแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้าฉบับใหม่จะเปิดให้มีการประมูลโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตกทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดสัญญา บริษัทมีความพร้อมและมุ่งมั่นจะเข้าประมูลครั้งนี้อย่างแน่นอน

สำหรับการลงทุนต่างประเทศก็ยังเดินหน้าทั้งโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก และพลังงานทดแทน ประเภท Greenfield หรือ Brownfield หรือโครงการที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว เช่นเดียวกับโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งมีโอกาสทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็เป็นเป้าหมายที่บริษัทให้น้ำหนักมากขึ้นในปี 62

ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือ 7,639.12 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังผลิตที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 6,863.25 เมกะวัตต์ ขณะที่ในปีนี้วางเป้าเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าในมือเป็น 8,960 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นราว 1,321 เมกะวัตต์ โดยส่วนใหญ่คาดว่าจะมาจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ซึ่งคาดหวังการได้รับโอกาสผลิตไฟฟ้า IPP โรงไฟฟ้าตะวันตกใหม่ที่รัฐบาลจะเปิดประมูล 2 โรง กำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 66 และ 67 ซึ่งน่าจะเปิดประมูลได้ในปีนี้ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ของบริษัทที่จะหมดอายุในเดือนก.ค.63

รวมถึงยังคาดหวังดีลซื้อกิจการ (M&A) ในต่างประเทศ 1-2 โครงการ กำลังผลิตรวมอย่างน้อย 200-300 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ในอาเซียนและออสเตรเลีย คาดจะสรุปได้ในไตรมาส 1 ถึงต้นไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งอยู่ในกรอบการทำดีล M&A ที่วางเป้าไว้ 300-400 เมกะวัตต์/ปี โดยในปีที่แล้วทำได้ 200-300 เมกะวัตต์ ส่วนดีลโครงการโรงไฟฟ้าโกลว์ เอสพีพี 1 นั้นตามที่มีข่าวว่าบริษัทให้ความสนใจซื้อกิจการนั้น ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้ยื่นข้อเสนอแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันในปีนี้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือที่จะ COD เพิ่มขึ้น 179.73 เมกะวัตต์ มาจาก 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์คอลลินส์วิลล์ ในออสเตรเลีย ,โรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น และ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ในลาว

ตลอดจนยังมองโอกาสการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018) ที่จะมีทั้งโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคใต้, โซลาร์รูฟท็อป, โซลาร์ลอยน้ำ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการรับซื้อไฟฟ้าจากลาว ซึ่งก็จะเป็นโอกาสการเข้าลงทุนในโครงการที่ลาวเพิ่มเติม

นอกจากนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เทียบเท่าที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ยังจะมาจากระบบโครงข่ายสื่อสาร คมนาคมขนส่งทางรางด้วย โดยปัจจุบันมีความร่วมมือกับ บมจ.เอแอลที เทเลคอม (ALT) ในโครงการโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงใต้ดินในไทยและมองโอกาสที่จะขยายไปยังลาวด้วย รวมถึงความร่วมมือของกลุ่ม BSR ที่มีผู้ร่วมทุนคือบริษัท ,บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู แต่ก็มีโอกาสในโครงการรถไฟฟ้าที่จะเปิดประมูลใหม่ ๆ ด้วย ตลอดจน BSR ยังมีแผนจะร่วมกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญด้านการบินเพื่อร่วมประมูลโครงการพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกด้วย

นายกิจจา กล่าวว่า ปีนี้บริษัทเตรียมเงินลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น พัฒนาโรงไฟฟ้าในมือ 6 พันล้านบาท และส่วนที่เหลือราว 1.4 หมื่นล้านบาทใช้ในโครงการดีล M&A และการพัฒนาโครงการประเภท Greenfield โดยบริษัทมีเงินสดในมือราว 9 พันล้านบาท แต่ยังมีภาระจ่ายปันผลและอื่นๆ ด้วย โดยวางแผนจะจัดหาเงินในปีนี้ราว 3-5 พันล้านบาท ซึ่งอาจอยู่ในรูปของการกู้จากสถาบันการเงิน หรือออกหุ้นกู้ เพราะมีวงเงินออกหุ้นกู้ราว 1.5 หมื่นล้านาท และมีวงเงินกู้จากสถาบันการเงินมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยการจัดหาเงินจะพิจารณาตามความเหมาะสมของช่วงเวลาใช้เงิน

สำหรับเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าเทียบเท่าในปี 66 ที่ 10,000 เมกะวัตต์นั้น เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้กำไรปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีความคาดหวังจะได้ดีล M&A ที่ COD แล้วเข้ามาชดเชยรายได้ที่ลดลงของโรงไฟฟ้าเก่า หรือโรงไฟฟ้าของบริษัทที่ใกล้จะหมดอายุ อย่างโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ขนาด 700 เมกะวัตต์ ที่อยู่ในจ.ราชบุรี จะหมดอายุในปี 63 ซึ่งรัฐบาลก็จะไม่ต่ออายุในส่วนนี้ โดยจะเปิดประมูลโรงไฟฟ้าใหม่ภาคตะวันตกเข้ามาทดแทน แต่โรงไฟฟ้าใหม่ดังกล่าวจะเข้าระบบในปี 66 และ 67 ทำให้ในช่วงที่โรงไฟฟ้าใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ ทางกฟผ. ก็จะเร่งสร้างระบบส่ง เพื่อรองรับการส่งไฟฟ้าไปใช้ในภาคใต้มากขึ้น จากปัจจุบันที่โรงไฟฟ้าภาคตะวันตกป้อนไฟฟ้าส่งไปภาคใต้บางส่วนด้วย

นอกจากนี้ก็จะบริหารจัดการโรงไฟฟ้าหงสาในลาว ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ก็จะมาช่วยทดแทนรายได้ที่ลดลงจากโรงไฟฟ้าเก่าได้ด้วยเช่นกัน

นายกิจจา กล่าวอีกว่า บริษัทยังให้ความสนใจโครงการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อรองรับการใช้ในภาคพลังงาน ซึ่งมีการเจราจากับพันธมิตรจากต่างประเทศที่เชี่ยวชาญ ซึ่งให้ความสนใจมาสร้างโรงงานในไทย แต่คาดว่าจะยังไม่มีข้อสรุปในเร็ววันนี้

ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ในลาว คาดว่าจะ COD ได้ในปลายปี 62 จากกำหนดเดิมในเดือน ก.พ.62 เนื่องจากการก่อสร้างต้องหยุดชะงักหลังเกิดเหตุเขื่อนย่อยแตกนั้น ล่าสุดอยู่ระหว่างรอให้รัฐบาลลาวสรุปสาเหตุก่อนที่จะเริ่มดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่โครงการดังกล่าวมีประกันครอบคลุมทั้งการประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิดของผู้รับเหมา การประกันภัยความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก และการประกันภัยจากการเริ่มดำเนินงานล่าช้า

สำหรับผลการดำเนินงานปี 61 บริษัทมีกำไร 5.59 พันล้านบาท ลดลง 7.5% จากปี 60 หากไม่นับรวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทมีกำไร 6.45 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% จากปี 60 สำหรับรายได้รวม มีจำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งโครงสร้างรายได้ของบริษัทมาจาก 3 แหล่งที่สำคัญ คือ รายได้จากการขายและบริการและรายได้ตามสัญญาเช่าการเงิน 62.4% ส่วนแบ่งจากกิจการที่ควบคุมร่วมกันและเงินปันผล 33.3% และรายได้จากดอกเบี้ยและอื่นๆ 4.3% ในปี 61 รายได้ส่วนแบ่งกำไรจากกิจการร่วมทุนที่มาจากโรงไฟฟ้าหงสาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ