KTB ตั้งเป้าสินเชื่อรวมปี 62 โต 5% ภายใต้คาดการณ์ GDP โต 4.1% ทุ่ม 1.9 หมื่นลบ.ลงทุนไอทีรุกบริการผ่านดิจิทัล

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 25, 2019 10:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรวมในปี 62 เติบโต 5% ภายใต้สมมุติฐานของการคาดการณ์ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 62 ซึ่งธนาคารคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.1%

แต่อย่างไรก็ตาม ประมาณการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอาจจะมีการปรับเปลี่ยนที่สอดคล้องกับภาวะของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบมาจากปีก่อนหน้า ทำให้หลายสถาบันการเงินชั้นนำของโลกมีการปรับเปลี่ยนประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในช่วง 3-5 เดือนจากนี้ธนาคารจะนำปัจจัยต่างๆ มาพิจารณาอีกครั้งเพื่อปรับกลยุทธ์และเป้าหมายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินงานในปี 62 จะมุ่งการเติบโตในส่วนของกลุ่มสินเชื่อรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารต้องการขยายฐานและนำเสนอบริการต่างๆเพิ่มขึ้น ผ่านการพัฒนาด้านดิจิทัล หรือการให้บริการผ่านโมบายล์สอพพลิเคชั่น "Krungthai NEXT" ซึ่งจะเป็นสิ่งที่เข้ามาเสริมการบริการกลุ่มลูกค่ารายย่อยและตอบโจทย์การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายมากที่สุด และพร้อมนำบริการ Digital Lending เข้ามาใช้ อีกทั้งการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยธนาคารยังคงเดินหน้ากลุ่มสินเชื่อบ้านอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการเติบโตอย่างระมัดระวัง หลังจากที่เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ จะส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อบ้านบ้าง แต่ธนาคารยังเดินหน้าในกลุ่มสินเชื่อบ้านอย่างระมัดระวัง โดยที่ไม่เร่งการขยายตัวมากจนเกินไป

ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการเดินหน้าธุรกิจ แต่ธนาคารไม่ได้เร่งรีบมากนัก เพราะปัจจุบันสินเชื่อรถยนต์ใหม่มีการแข่งขันสูง ทำให้อัตรากำไร (มาร์จิ้น) ค่อนข้างต่ำ หากเร่งเกินไปอาจจะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างรายได้ดอเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคาร

ขณะที่สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ (Car for cash) และสินเชื่อมอเตอร์ไซด์ที่มีมาร์จิ้นที่ดีนั้น ปัจจุบัน ธปท.ได้เข้ามาควบคุมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีสัญญาณของการก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื่อดังกล่าวที่อาจจะไม่มากนัก แต่ธนาคารยังคงแผนการเปิดให้บริการสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในช่วงไตรมาส 2/62 โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยในปีนี้ในระดับ 6-7%

ส่วนกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้ธนาคารจะเน้นไปที่กลุ่มที่เป็นซัพพลายเชนของลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งจะได้รับอานิสงส์จากการลงทุนโครงการต่างๆ ของกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ และสำหรับกลุ่มสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารมองว่าในปีนี้จะเป็นปีที่ค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากต้นทนทางการเงินในการออกตราสารหนี้หรือหุ้นกู้อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีทางเลือกของแหล่งระดมทุนที่ถูกกว่าการกู้เงิน และหันไปออกตราสารหนี้หรือหุ้นกู้เพื่อนำเงินมาชำระคืนหนี้แก่ธนาคาร

อย่างไรก็ตาม ธนาคารก็เห็นโอกาสในการที่จะผลักดันบริการด้านวาณิชธนกิจให้ไปบริการกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ เพื่อสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมเข้ามาชดเชยรายได้ดอกเบี้ย

นายผยง กล่าวว่า สำหรับการเติบโตของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยในปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ 2.5% จากปีก่อนที่ลดลง 1.5% โดยส่วนหนึ่งจะได้รับปัจจัยหนุนจากการขายประกันผ่านสาขาของธนาคารที่ในปีนี้ธนาคารจะกลับมาเดินหน้าเต็มที่ หลังจากที่ชะลอไปในปีก่อน

ด้านการควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารในปี 62 ตั้งเป้าที่จะลดระดับ NPL ให้ต่ำกว่าสิ้นปีก่อนที่ 1 แสนล้านบาท และคาดว่าจะตั้งสำรองใกล้เคียงกับปีก่อนหรืออาจจะลดลงเล็กน้อย เพื่อรักษาความแข็งแกร่งและความมีเสถียรภาพของธนาคาร ซึ่งอัตราส่วนการตั้งสำรองต่อหนี้สงสัยจะสูญ (Coverage ratio) จะอยู่ในระดับ 125-128% ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 125%

ขณะที่การลงทุนทางด้านไอทีของธนาคารในช่วง 5 ปี (ปี 62-66) ธนาคารตั้งงบลงทุนไอทีรวมไว้ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยจะเป็นการแบ่งใช้ในปี 62 มากที่สุดราว 1.2 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 7 พันล้านบาทจะทยอยใช้ไปจนถึงปี 66 ซึ่งธนาคารจะเน้นการพัฒนาบริการผ่านการสร้างแพลตฟอร์มที่จะเป็นตัวหลักในการส่งต่อการบริการไปให้แก่ลูกค้า พร้อมกับการมีพันธมิตรที่เข้ามาร่วมกันต่อยอดบริการต่างๆ ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้ลูกค่าของธนาคารหันมาใช้บริกรผ่านท่องทางดิจิทัลมากขึ้น และช่วยให้ต้นทุนของธนาคารลดลง หลังจากที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการให้บริการการโอนเงินและจ่ายบิลหายไป โดยรายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไปทุกๆ 1 ล้านบาท ธนาคารจะต้องลดต้นทุนลง 4-5 ล้านบาทเพื่อทำให้ผลการดำเนินงานของธนาคารไม่ลดลงตามไปด้วย

พร้อมกับการเดินหน้าเป็น Invisible Banking ที่ลูกค้าทุกคนของธนาคารจะต้องสามารถใช้บริการได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น โดยการที่จะก้าวไปสู่การเป็น Invisible Banking ธนาคารมองว่าในส่วนของจำนวนสาขาและจำนวนพนักงานที่เหมบะสมในช่วง 2-3 ปีนั้น จำนวนสาขาจะลดลงมาอยู่ที่ 1,000 สาขา จากปัจจุบันมี 1,100 สาขา และจำนวนพนักงานควรจะอยู่ที่ 21,000 คน ลดลงจากปัจจุบันที่ 22,000 คน ซึ่งธนาคารไม่มีแผนปลดพนักงานแต่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไก เช่น การเกษียณอายุตามปกติ การเกษียณอายุก่อนอายุ 60 ปี และการลาออกตามปกติ

นายผยง กล่าวว่า การผลักดันลูกค้าให้หันมาใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น "Krungthai Next" ปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างการปรับปรุงประสิทธิภาพและความสามารถรองรับปริมาณการทำธุรกรรมให้เพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันธนาคารชะลอการกระตุ้นลูกค้าให้มาใช้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นไปก่อนจนกว่าการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนมี.ค. 62 และหลังจากนั้นจะกลับมากระตุ้นการลูกค้าให้มาใช้แอพพลิเคชั่นมลกขึ้นอีกครั้ง โดยตั้งเป้ามีจำนวนผู้ใช้ "Krungthai NEXT" ในสิ้นปี 62 ที่ 10 ล้านคน จากเดือนม.ค. 62 ที่ 4 ล้านคน

นอกจากการควบคุมต้นทุนแล้วธนาคารยังต้องดูไปถึงการปล่อยสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนที่ดีประกอบด้วย เพื่อรักษา NIM ให้อยู่ในระดับที่ดี แม้ว่าปัจจุบันธนาคารยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย MRR ที่จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอี แต่ธนาคารจะดูความเหมาะสมของภาวะในแต่ละช่วง เพื่อพิจารณาถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตามความเหมาะสม โดยที่ธนาคารจะพยายามรักษากำไรสุทธิให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงหรือมากกว่าปีก่อน โดยที่การดำเนินธุรกิจของธนาคารจะคำนึงถึงองค์กร ลูกค้า ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ผ่านการดำเนินกลยุทธ์ 5P ได้แก่ Platform, Partnership, People, Process และ Performance


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ