GULF คาดปี 62 รายได้ 3.3 หมื่นลบ.เตรียม COD กำลังผลิตรวม 638 MW ,เจรจาพันธมิตรลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในลาว

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 26, 2019 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า บริษัทประเมินรายได้ปี 62 ที่ 3.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 61 ที่มีรายได้รวมจากการดำเนินธุรกิจ 2 หมื่นล้านบาท หลังในปีนี้บริษัทมีแผนเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้า 6 โครงการ กำลังการผลิตรวม 638 เมกะวัตต์ (MW)

แบ่งเป็น โครงการในไทย 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 519 เมกะวัตต์ ปัจจุบันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้ว 1 โครงการในช่วงเดือนม.ค.62 คือโครงการโรงไฟฟ้า GNLL2 จังหวัดระยอง ขนาดกำลังการผลิต 126 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างคือโครงการ GNPM ขนาด 135 เมกะวัตต์,โครงการ GNRV1 ขนาด 128 เมกะวัตต์ และ โครงการ GNRV2 ขนาด 128 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะสามารถ COD ได้ในเดือนมี.ค.62, พ.ค.62 และ ก.ค.62 ตามลำดับ

ส่วนที่เหลืออีก 2 โครงการ เป็นโครงการการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนาม กำลังการผลิตรวม 119 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ TTCIZ-01 กำลังการผลิต 69 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ในช่วงเดือนมี.ค.62 และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ TTCIZ-02 กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ในช่วงเดือนพ.ค.62 โดยบริษัทสนใจลงทุนในเวียดนามเนื่องจากเห็นศักยภาพในการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประกอบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ในระดับสูงจากกำลังการผลิตติดตั้งยังต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก

ทั้งนี้ บริษัทมีการร่วมลงทุนกลุ่ม TTC ในเวียดนาม ทั้งหมดรวม 4 โครงการ เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 3 โครงการ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล 1 โครงการ กำลังการผลิตรวมทั้งหมด 460 เมกะวัตต์ คิดเป็นกำลังการผลิตของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 245 เมกะวัตต์ ใช้งบลงทุนรวม 766 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะเดียวกัน บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรเพื่อลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในสปป.ลาว โดยคาดว่าจะเป็นโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิตมากกว่า 1 พันเมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปภายในปี 62

นอกจากนี้ บริษัทมีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในประเทศโอมาน กำลังการผลิตรวม 326 เมกะวัตต์ พร้อมขายน้ำจืด 1,667 ลูกบาศเมตร/ชั่วโมงให้โรงกลั่นขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัทร่วมลงทุนกับพันธมิตร โดยเข้าถือหุ้น 45% ใช้งบประมาณการลงทุนราว 483 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัญญาซื้อขายไฟ (PPA) เป็นเวลา 25 ปี โดยคาดว่าจะทยอย COD ในปี 63 ถึงปี 65 อย่างไรก็ดีบริษัทยังมองหาโอกาสในการลงทุนเพิ่มเติม จากเห็นแนวโน้มการลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมในอนาคต

ส่วนภายในประเทศ บริษัทยังมีโอกาสการลงทุนได้อีกมาก จากภาครัฐมีการประกาศแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวฉบับใหม่ (PDP2018) ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมเข้าลงทุนมากขึ้น โดยคาดว่าจะมีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้ากำลังการผลิตรวม 8.3 พันเมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมีความพร้อมในการเข้าลงทุน

น.ส.ยุพาพิน กล่าวอีกว่า บริษัทคาดว่าในปี 67 รายได้จะเติบโตได้แตะ 1-1.3 แสนล้านบาท จากการ COD โรงไฟฟ้าทั้งหมดตามแผน 33 โครงการ ทำให้มีกำลังการผลิตรวมทั้งหมดที่ 11,910 เมกะวัตต์ หรือคิดตามสัดส่วนการถือหุ้น 6,721 เมกะวัตต์ โดยบริษัทวางงบลงทุน 5 ปี (62-66) จำนวนราว 1.4 แสนล้านบาท สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP)

นอกจากนี้บริษัทได้ยื่นซองเสนอโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่ 1) ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยร่วมกับบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) โดยร่วมกันถือหุ้นในสัดส่วน 70% และ 30% ในการขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ เพื่อสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Terminal) มูลค่า 5.54 หมื่นล้านบาท รองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซฯได้ 10 ล้านตัน/ปี สอดคล้องกับการมุ่งเน้นสู่การขยายธุรกิจก๊าซธรรมชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ