TRUE ร่วง 8.15% โบรกฯแนะ"หลีกเลี่ยง"งบฯ Q4/61 ขาดทุน 3 พันลบ.แย่กว่าคาด เหตุรายได้มือถือหดตัว-ค่าใช้จ่ายการตลาดสูงขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 1, 2019 10:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้น TRUE ราคาร่วงลง 8.15% มาอยู่ที่ 4.96 บาท ลดลง 0.44 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,498.73 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.12 น. โดยเปิดตลาดที่ 5.25 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 5.30 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 4.86 บาท

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า 4 เหตุผลที่คำแนะนำ "หลีกเลี่ยง" หุ้น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) คือ 1. TRUE รายงานขาดทุนสุทธิในไตรมาส 4/61 ที่ 3 พันล้านบาท ต่ำกว่าคาดจะมีกำไรปกติที่ 400 ล้านบาท จากรายได้มือถือหดตัว QoQ แต่ค่าใช้จ่ายการตลาดกลับสูงขึ้น 2. รายได้มือถือที่ชะลอตัวแรงมาจาก ARPU -2% YoY สะท้อนการแข่งขันแย่งส่วนแบ่งการตลาดกระทบผู้เล่นทุกรายและเริ่มเข้าสู่จุดไม่คุ้มค่า 3. แม้ความเสี่ยงคดีความลดลง หลัง TRUE ตกลงระงับข้อพิพาทกับ CAT ราว 7.5 หมื่นล้านบาท ด้วยเงินสดจ่ายและการยกสิทธิเสาข้อพิพาทให้ CAT ภายใต้สัญญาเช่ากลับ แต่ 4. คาดตลาดตอบสนองเชิงลบต่อผลประกอบการวันนี้ จากธุรกิจมือถือที่โตต่ำเป็น downside สำคัญต่อประมาณการของตลาด TRUE จ่ายปันผลเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ 0.09 บาทต่อหุ้น (yield 1.7%) XD วันที่ 14 มี.ค. 262

TRUE รายงานขาดทุนสุทธิในไตรมาส 4/61 ที่ 3 พันล้านบาท ต่ำกว่าคาดที่ 400 ล้านบาทอย่างมีนัยสำคัญ และแย่ลงเทียบกับกำไรปกติ 357 ล้านบาทในไตรมาส 3/60 และขาดทุนปกติ 1.4 พันล้านบาทในไตรมาส 4/60 จากรายได้กลุ่มมือถือที่หดตัว QoQ แต่ค่าใช้จ่ายการตลาดยังสูงขึ้นต่อ

สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 1) service revenue ex. IC ของกลุ่มมือถือ -5.4% QoQ +1% YoY ต่ำกว่าปกติมาก เทียบกับ 5 ไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโตเฉลี่ยราว 10-12% YoY โดยแม้ netadd เพิ่มขึ้น 462K แต่ ARPU หดตัวแรง -2% YoY ทำให้ TRUE เสียส่วนแบ่งการตลาด 118bps ให้กับ ADVANC ซึ่งเป็นการเสียส่วนแบ่งการตลาดครั้งแรกในรอบ 19 ไตรมาส 2) รายได้ broadband -4% YoY จาก ARPU -6% YoY ตามการแข่งขันราคาที่รุนแรงขึ้น ขณะที่รายได้ PayTV +5% YoY 3) อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 19.4% ถูกกดดันส่วนหนึ่งจากค่าเช่า DIF 4) SG&A อยู่ที่ 9.6 พันล้านบาท (+12% QoQ,+9% YoY) เพิ่มขึ้นกว่า 1 พันล้านบาท QoQ และ 5) EBITDA อยู่ที่ 6.2 พันล้านบาท (-31% QoQ, -59% YoY)

TRUE ตกลงระงับข้อพิพาทส่วนใหญ่กับ CAT ราว 7.5 หมื่นล้านบาท โดยแม้ TRUE ไม่ได้อธิบายโครงสร้างธุรกรรมใน MD&A จึงคาดเป็นเงินสดจ่ายราว 5-6 พันล้านบาทและการโอนกรรมสิทธิ์ในเสาข้อพิพาทให้กับ CAT ภายใต้ข้อตกลงเช่ากลับ 30 ปี โดยสิทธิได้ถูก capitalize เป็น asset มูลค่าราว 1.5 หมื่นล้านบาท หรือ ตกเป็นภาระค่าใช้จ่ายราว 500 ล้านบาทต่อปี

หลังจากนี้ TRUE จะมีข้อพิพาทกับ CAT เหลือเพียงประเด็นค่าเชื่อมโยงโครงข่ายและ excise tax ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวโยงกันทั้งอุตฯ ไม่สามารถตกลงระงับได้เพียงผู้เล่นรายใดรายหนึ่ง สะท้อนความเสี่ยงคดีความเฉพาะตัวที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับข้อพิพาทกับ TOT หลัก ๆ คือประเด็น ADSL 9.4 หมื่นล้านบาท ความเสี่ยงจะต้องเร่งระงับก็ต่ำลงเช่นกัน หลัง ADVANC ที่มีข้อพิพาทจำนวนมากกับ TOT ยืนยันนโยบายไม่เร่งรีบระงับข้อพิพาทและเพิ่งชนะข้อพิพาทกรณีโอนย้ายลูกค้าในชั้นอนุญาโตฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ