(เพิ่มเติม) ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้รีบาวด์ ตามตปท.ขานรับความคาดหวังเชิงบวกเจรจาการค้า-บจ.ประกาศจ่ายปันผล

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 4, 2019 09:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยเช้านี้น่าจะฟื้นตัวขึ้น จากความคาดหวังเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นหลังมีรายงานข่าวว่าสหรัฐฯกำลังจัดเตรียมร่างข้อตกลงการค้าสำหรับการลงนามของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา และเช้านี้ตลาดหุ้นภูมิภาคก็ตอบรับในเชิงบวก

ส่วนปัจจัยในประเทศในเรื่องการประกาศผลประกอบการไตรมาส 4/61 ของบจ.นั้น แม้ส่วนใหญ่จะออกมาไม่ดี โดยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากรายการพิเศษค่อนข้างมาก แต่การที่บจ.ทยอยประกาศจ่ายเงินปันผลออกมา ซึ่งในปีนี้มีบจ.คิดเป็นสัดส่วน 34% ที่ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (dividend yield) ในระดับที่มากกว่า 3% สูงกว่าปีที่แล้วที่มีบจ.เพียง 27% ที่จ่ายปันผลที่ให้ dividend yield มากกว่า 3% ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยที่ประคองตลาดได้

อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้อาจจะอยู่ในกรอบจำกัด เนื่องจากในช่วงสัปดาห์นี้หุ้นขนาดใหญ่หลายตัวที่ขึ้นเครื่องหมาย XD อย่างหุ้น PTT ที่จะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 6 มี.ค. นี้ ซึ่งก็จะกดดันต่อการปรับขึ้นของดัชนี ขณะที่ราคาน้ำมันแม้จะปรับตัวขึ้น ๆ ลง ๆ ในช่วงนี้ แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน ก็น่าจะยังเป็นผลดีต่อหุ้นในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีที่คาดว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/62 ที่จะน่าจะฟื้นตัวขึ้นได้

ส่วนแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่ออกมาเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ MSCI ได้ปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้น A-Share ของจีนจาก 5% เป็น 20% ทำให้มีการปรับพอร์ตการลงทุน ขณะที่ตลาดยังรอลุ้นการประกาศผลการพิจารณาของ MSCI ว่าจะมีการนำข้อมูล NVDR เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การคัดเลือกหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะประกาศผลออกมาภายในช่วงปลายเดือนมี.ค. ซึ่งหากมีการบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าวจะเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นไทย เพราะจะทำให้น้ำหนักของหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น

พร้อมมองแนวรับบริเวณ 1,640 จุด และ 1,630-1,632 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,650-1,652 จุด และ 1660 จุด

ประเด็นพิจารณาการลงทุน

  • ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (1 มี.ค.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,026.32 จุด เพิ่มขึ้น 110.32 จุด (+0.43%) ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,803.69 จุด เพิ่มขึ้น 19.20 จุด (+0.69%) และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,595.35 จุด เพิ่มขึ้น 62.82 จุด (+0.83%)
  • ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 210.12 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน เพิ่มขึ้น 21.93 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 42.94 จุด,ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 3.92 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้น 15.53 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 4.29 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 12.54 จุด, ดัชนี PSE Composite ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ลดลง 9.87 จุด
  • ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (1 มี.ค.62) 1,641.44 จุด ลดลง 12.04 จุด (-0.73%)
  • นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,781.21 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 มี.ค.62
  • ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน เม.ย. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (1 มี.ค.62) ปิดที่ 55.80 ดอลลาร์/บาร์เรล ร่วงลง 1.42 ดอลลาร์ หรือ 2.5%
  • ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (1 มี.ค.62) ที่ 4.02 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • เงินบาทเปิด 31.77/78 แนวโน้มอ่อนค่า มองกรอบวันนี้ 31.70-31.90
  • "ซีไอเอ็มบีไทย" ประกาศขึ้นดอกเบี้ยบ้านทุกประเภททั้งบ้านใหม่-รีไฟแนนซ์ ส่งผลดอกเบี้ยขยับยกแผง เผยปัจจุบันช่วง 3 ปีแรกไม่มีต่ำกว่า 3% แล้ว เหตุต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่ม ด้าน "ทีเอ็มบี" ลั่นยังไม่ขยับ เผยขอรอดูภาพรวมตลาด และต้นทุนดอกเบี้ยของธนาคารก่อน
  • โบรกเกอร์ฯเตรียมปรับลดกำไรบจ.ปีนี้ เหตุผลกระทบการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงาน ทั้งกำไรไตรมาส 4 ปี 61 ต่ำคาด ส่งผลฉุดเป้าดัชนีปีนี้ลง พร้อมคาดดัชนีตลาดหุ้นไทย เดือนมี.ค.ผันผวน ขณะที่เปิดสถิติ 10 ปี เดือนมี.ค.ต่างชาติซื้อ 1.4 หมื่นล้านบาท พร้อมให้จับตาโฉมหน้าเสถียรภาพรัฐบาล
  • กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งกนอ.หาพื้นที่รองรับการลงทุนกลุ่มเอ็กซอนโมบิลฯจากสหรัฐฯ ที่ได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้วในการขยายปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ต่อเนื่องด้วยมูลค่า 3.3 แสนล้านบาทส่งท้ายปี 2561 คาดกลางปีสรุปพื้นที่ถมทะเล ผลพวงลงทุนดังกล่าวทำให้สหรัฐฯแซงหน้าญี่ปุ่นลงทุนตรงจากต่างประเทศ(FDI)ในไทยด้วยมูลค่าสูงสุดกว่า 3.339 แสนล้านบาท พร้อมเตรียมดันแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปเข้า ครม. ของบพัฒนานำร่อง 5 ปีแรก 8.6 พันล้านบาท วางเป้า 10 ปีดันไทยศูนย์กลางผลิตอาหารของอาเซียน
  • ธ.ก.ส.อวดราคาสินค้าเกษตรเดือน มี.ค.2562 ขยับดีขึ้น ชูข้าวเปลือกหอมมะลิ-น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก-ยางพาราแผ่นดิบ-มันสำปะหลัง-ปาล์มน้ำมัน-สุกร แชมป์ราคาพุ่ง สวนทางราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกุ้งข้าวแวนนาไมราคาดิ่ง
  • ภัยแล้งจ่อคอคนไทยส่อรุนแรงกว่าปีกลาย เหตุฤดูร้อนจากปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" มาเร็วกว่าทุกปี ขณะที่ปริมาณฝนตกลดลงต่ำกว่าค่าปกติเฉลี่ยรอบ 30 ปีร้อยละ 5 ทำให้ไม่มีน้ำลงเขื่อนเตือน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างมีน้ำใช้การได้แค่ร้อยละ 9 ส่วนภาคอีสานตอนล่างน่าห่วงสุด 6 จังหวัด ไม่มีทั้งฝนและเขื่อนขนาดใหญ่กักเก็บน้ำแนะประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด งดทำนาปรังรอบ 2 ด้านนายกฯห่วงภัยแล้งกำชับบริหารน้ำเร่งด่วน ตั้งศูนย์ฝนหลวง 5 ภูมิภาค 12 หน่วยปฏิบัติการปูพรม ทำฝนหลวง 1 มี.ค.-31 ต.ค.

*หุ้นเด่นวันนี้

  • BDMS (ฟันันเซีย ไซรัส) แนะ"ซื้อ"ให้ราคาเหมาะสม 30 บาท และยังชูเป็น Top Pick ของกลุ่ม จากการประชุมนักวิเคราะห์ทำให้ไม่เป็นกังวลต่อกำไร 4Q61 ที่ต่ำกว่าคาดไปเล็กน้อย เนื่องจากค่าใช้จ่าย SG&A หลายรายการเป็นลักษณะ One-Time จึงคาดว่าจะไม่ลากยาวมาในปีนี้ และคาดว่าจะหักล้างได้บางส่วนกับส่วนแบ่งกำไรของ RAM ที่ลดลงและหนี้สินผลประโยชน์พนักงานที่เพิ่มขึ้น โดยมองประมาณการกำไรปกติปี 62 ที่คาด +9.9% Y-Y ยังอยู่ในกรอบที่เป็นไปได้และไม่ได้มี Downside อย่างมีนัยสำคัญ
  • HMPRO (เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ) แนะ "Trading Buy" ราคาเป้าหมาย 17.20 บาท จากการประชุมนักวิเคราะห์ ยังคงคาดว่า HMPRO จะเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพจากความต้องการซื้อสินค้าปรับปรุงซ่อมแซมบ้านที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง คาด SSSG ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ยังมีการเปิดสาขาโฮมโปร และเมกาโฮมกลับมาขยายสาขา ส่วนอัตรากำไรยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มสัดส่วนสินค้าที่มีอัตรากำไรสูงและการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
  • AH (แอพเพิล เวลธ์) ให้ราคาเป้าหมาย 28 บาท แม้มองแนวโน้ม 1Q62 กำไรสุทธิมีโอกาสปรับตัวลดลงทั้ง QoQ และ YoY แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังเติบโตดีในเดือน ม.ค.แต่ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในประเทศมาเลเชียน่าจะชะลอลงจากฐานสูงของปีก่อน นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากผลการดำเนินงานของ SGAH ที่ขาดทุนต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามแม้แนวโน้มในช่วง 1-2 ปี ข้างหน้าผลการดำเนินงานจะยังถูกกดดันจากบริษัทร่วมทุน แต่ด้วย Valuation ปัจจุบันที่ถูกจนน่าสนใจ ซื้อขายบน Forward PER ปี 62 เพียง 6.6x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังในอดีตและค่าเฉลี่ยของกลุ่มฯ รวมถึง Div Yield ที่สูง 5.6% ต่อปี จึงแนะนำ "ทยอยซื้อ" ประเมินมูลค่าอิง P/E 8 เท่า ได้ราคาเหมาะสมใหม่ 28 บาท จากเดิม 33 บาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ