(เพิ่มเติม) FETCO ระบุดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าพุ่งในเกณฑ์"ร้อนแรง" นลท.คาดหวังเชิงบวกจากการเลือกตั้ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 4, 2019 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนมีนาคม 2562 พบว่า ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า (พ.ค.) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.92% มาอยู่ที่ระดับ 130.68 มาอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง (Bullish) เป็นเดือนแรกในรอบ 5 เดือน โดยผลสำรวจ พบว่า นักลงทุนเชื่อมั่นสถานการณ์การเมืองจากการเลือกตั้งที่ชัดเจนเป็นปัจจัยหลัก รองลงมานักลงทุนเชื่อมั่นผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ขณะที่ยังติดตามผลการเจรจาการนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และเสถียรภาพรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ FETCO กล่าวว่า ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยไปมากแล้ว เชื่อว่าภายหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หากมีเสถียรภาพไม่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองเหมือนในอดีต มีโอกาสสูงที่นักลงทุนต่างชาติจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง

ส่วนมุมมองทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 2% นับตั้งแต่ต้นปี (YTD) เป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่า ตามนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีท่าทีชะลอขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้จะส่งผลบวกการไหลเข้าเงินลงทุนต่างชาติ แต่เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงเข้ามาดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการธุรกิจส่งออก

"กระแสฟันด์โฟลว์มีโอกาสไหลเข้าหุ้นไทยมากกว่าไหลออก เพราะตลาดเกิดใหม่เริ่มมีสัญญาณฟันด์โฟลว์เข้ามาแล้วตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่ไทยต้องรอความชัดเจนประเด็นการเลือกตั้งว่าจะมีเสถียรภาพการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ สิ่งที่ต้องติดตามคือหน้าตาของรัฐบาลชุดใหม่จะเป็นอย่างไร หากชัดเจนแล้วคงต้องมาวิเคราะห์กันว่าจะสามารถสานต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ชาติได้มากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันคงคาดเดาได้ยาก ส่วนประเด็นสภาพคล่องในตลาดโลกไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่น่ากังวล เพราะธนาคารกลางสหรัฐ มีท่าทีชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จับตาความเสี่ยงสงครามการค้า เป็นปัจจัยหนุนกระแสฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ในระยะถัดไป"นายไพบูลย์ กล่าว

สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม ได้แก่ การพิจารณายุติการปรับลดขนาดงบดุลและทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปของเฟด และผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่มีแนวโน้มคงนโยบายการเงินและอาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยออกไป การพิจารณาข้อตกลงการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) กับทางสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งมีกำหนดเส้นตายในวันที่ 29 มีนาคม ,การปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกลุ่ม EU จาก 1.9% มาเป็น 1.3% และผลการประชุมนโยบายเศรษฐกิจของจีนในเดือนมีนาคมนี้

กลุ่มหลักทรัพย์ที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุดคือ หมวดธนาคาร (BANK) ขณะที่หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP) ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด

นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บล. ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี(ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงภายหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จ เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะพลิกกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยรอบใหม่ เนื่องจากย้อนหลังไป 5 ปีพบว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตลาดหุ้นไทยแล้วกว่า 4.26 แสนล้านบาท เหลือสัดส่วนถือครองเพียง 29% แม้ว่าภาพรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมของไทยปีนี้จะเติบโต 3-4% ชะลอตัวเทียบกับปีก่อนที่เติบโต 4.1% และเศรษฐกิจโลกมีความเปราะบาง แต่ยังเชื่อว่าส่งออกของไทยปีนี้ยังเติบโตได้ 3-5% เป็นระดับที่น่าพอใจ โดยปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักคือการลงทุนเมกะโปรเจคภาครัฐ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นต้น กระตุ้นความเชื่อมั่นภาคเอกชนขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ หากเป็นไปตามคาดมีโอกาสต่างชาติจะกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทยภายในปีนี้ราว 1 แสนล้านบาท ช่วยผลักดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยคึกคักอีกครั้ง เบื้องต้นฝ่ายวิจัยฯประเมินเป้าหมาย SET INDEX ปีนี้ที่ระดับ 2,000 จุด ภายใต้สมมติฐาน Forward PE ที่ 15.5 เท่า เป็นค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง มีกำไรต่อหุ้น (EPS) ปีนี้เติบโต 6% และปี 2563 เติบโต 9% แม้ว่ากำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไตรมาส 4/61 จะติดลบถึง 31.90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากไม่นับรวมกลุ่มพลังงานที่ได้รับผลกระทบขาดทุนสต็อกน้ำมันกำไร บจ. จะติดลบเพียง 10.10% เท่านั้น ทำให้ในช่วง 2 ปีข้างหน้าจึงมองแนวโน้มกำไร บจ. น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น

ฝ่ายวิจัยฯ แนะนำหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตเศรษฐกิจในประเทศ อาทิ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ได้รับประโยชน์สินเชื่อการลงทุนโครงการภาครัฐ และดอกเบี้ยขาขึ้น ,กลุ่มค้าปลีก มีโอกาสปรับตัวดีกว่าตลาดฯตามการฟื้นตัวการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยวที่คาดทั้งปีกลับมาเติบโต 8% ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ภายหลังผู้ประกอบการปรับตัว รับมือกับมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำหรืออัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ไปแล้ว, กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะสนใจลงทุนในไทยอีกครั้ง ภายหลังรัฐบาลเดินหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) , กลุ่มพลังงาน หากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนคลี่คลาย จะช่วยหนุนราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่แท้จริงอีกครั้ง

ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย นโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเดือนมีนาคม อยู่ที่ 54 สะท้อนความเชื่อมั่นตลาดที่ใกล้เคียงกับครั้งที่แล้วอยู่ในเกณฑ์ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน (Unchanged) เนื่องจากเศรษฐกิจยังทรงตัว ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี ในรอบการประชุมกนง. เดือน พฤษภาคม 2562 คาดอยู่ที่ระดับ 83 เพิ่มขึ้นอย่างมากจากครั้งที่แล้ว ขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ แนวโน้มปรับตัวดีขึ้น (Increase)

ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี อยู่ที่ระดับ 77 เพิ่มขึ้นเช่นกันอยู่ในเกณฑ์ มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น (Increase) โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจากเม็ดเงินนักลงทุนต่างชาติ และอุปสงค์-อุปทานในตลาดตราสารหนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ