SAMART เผย 2 เดือนแรกกวาดงานใหม่เกือบ 2 พันลบ.เชื่อหนุนรายได้ทั้งปีแตะ 2 หมื่นลบ.เล็งรุกตลาดระบบป้องกันภัยไซเบอร์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 11, 2019 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนแรก กลุ่ม SAMART เซ็นสัญญารับงานใหม่เพิ่มมาแล้วเกือบ 2 พันล้านบาท เชื่อว่าจะหนุนรายได้ปีนี้จะเติบโตเป็น 2 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ในสายธุรกิจ ICT เริ่มต้นได้สวย ระยะเวลาเพียง 2 เดือนแรกของปี เซ็นสัญญาไปแล้วประมาณ 900 ล้านบาท ประเดิมได้งานโครงการติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารทางไกลเพื่อสนับสนุนให้แก่โรงเรียนปลายทาง, โครงการดูแลระบบไอทีของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ,โครงการ Smart Health ID ของกระทรวงสาธารณสุข และโครงการติดตั้งและพัฒนาระบบสารสนเทศธุรกิจหลัก (Core Business Process System) ให้กับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) มูลค่า 579 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ บริษัทได้งานจากโครงการบริการบำรุงรักษาระบบ Core Banking และระบบงาน Loan Origination จากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มูลค่า 1,400 ล้านบาท

"เห็นได้ว่าธุรกิจด้าน Finance Solution มีโอกาสเติบโตที่ค่อนข้างสูง และยังมีโครงการที่เพิ่งเซ็นสัญญาไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมาและจะรับรู้รายได้ต้นปีนี้ คือ โครงการระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (CUPPS) ที่ท่าอากาศยานจ.กระบี่ ของกรมท่าอากาศยาน ทั้งนี้ ยังมีโครงการที่รอประมูลอีกกว่า 14,000 ล้านบาท อาทิ โครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกว่า 7,000 ล้านบาท โครงการของกองบัญชาการตำรวจแห่งชาติ 6,000 ล้านบาท และโครงการของบมจ.การท่าอากาศยานไทยกว่า 1,500 ล้านบาท"นายวัฒน์ชัย กล่าว

ส่วน บมจ.สามารถดิจิตอล (SDC) หลังรุกคืบธุรกิจ Digital Network เต็มรูปแบบ และได้ร่วมมือกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม (กสท.) ในการพัฒนาระบบวิทยุคมนาคมเฉพาะกิจระบบดิจิตอล หรือ CAT Nationwide DTRS ให้สามารถบริการใช้งานติดต่อสื่อสารถึงกันครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงการจำหน่ายเครื่องวิทยุสื่อสาร DTRS ให้กับกลุ่มลูกค้าทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ที่ต้องการความปลอดภัยในการสื่อสารเฉพาะกลุ่มเป็นหลัก ล่าสุดได้จำหน่ายเครื่องให้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 150 ส่วนหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมอุทยานฯ และ สำนักปลัดมหาดไทย คาดว่าจะเซ็นสัญญาเร็วๆ นี้ โดยทั้งปี 62 ตั้งเป้าจำหน่ายเครื่อง DTRS จำนวน 8 หมื่นเครื่อง

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ร่วมกับ บมจ.แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี (AIT) ในโครงการจัดหาอุปกรณ์ระบบโสตทัศนูปกรณ์ และระบบคอมพิวเตอร์แม่ข่าย และซอฟต์แวร์สนับสนุน ณ อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มูลค่า 800 ล้านบาทด้วย

ทั้งนี้ ยังมีอีกหนึ่งโอกาสที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์อันอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประเทศ จากบริษัท ซีเคียวอินโฟ (SECUEiNFO) หนึ่งในกลุ่ม SAMART ที่จับมือ IBM Security ผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามไซเบอร์ หรือ Cyber Security Operation Center (CSOC) นำระบบ AI มาช่วยตรวจจับ วิเคราะห์การโจมตีทางไซเบอร์ได้อย่างรวดเร็วแม่นยำสูงสุดเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการเปิดตลาด คาดว่าจะได้รับความสนใจจากกลุ่มภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชนอย่างแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ