(เพิ่มเติม1) รมว.คมนาคม ให้ AOT ชะลอเปิดประมูลดิวตี้ฟรี 4 สนามบินและพื้นที่เชิงพาณิชย์สุวรรณภูมิ,"นิตินัย"เมิน ยืนยันเดินหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 15, 2019 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม แถลงถึงกรณีที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.เตรียมเปิดประมูลสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ รวมทั้งสิทธิประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า ขณะนี้ได้มีข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะหลายประเด็น

ดังนั้น การที่ ทอท.จะเดินหน้าประกวดราคากับเอกชนในกิจการดังกล่าวจำเป็นต้องสร้างความชัดเจนให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในแง่ข้อกฎหมายและรูปแบบการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อให้มีการดำเนินการอย่างโปร่งใสและมีการแข่งขันที่เป็นธรรม เป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เชิญนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT มาหารือในประเด็นแล้ว เห็นควรให้ ทอท.ชะลอเปิดประมูลสิทธิในการประกอบกิจการทั้ง 2 โครงการออกไปก่อน

โดยขอให้คณะกรรมการ ทอท.พิจารณาทบทวนรูปแบบการเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาร่วมประกอบกิจการทั้ง 2 โครงการ โดยนำข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนไปประกอบการพิจารณาให้รอบคอบเพื่อให้การดำเนินการมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม รวมทั้งให้ ทอท.หารืออย่างเป็นทางการกับกระทรวงการคลังถึงความชัดเจนว่าโครงการดังกล่าวเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐและเอกชนฉบับใหม่ หรือมติครม.ที่เกี่ยวข้องหรือไม่

"จะมี 2 ประเด็นคือรูปแบบการดำเนินการ ซึ่งประกาศของ ทอท.นั้น เรื่องของดิวตี้ฟรีนั้น 4 สนามบินให้เป็นรายเดียว และพื้นที่เชิงพาณิชย์เฉพาะสุวรรณภูมิก็เป็นรายเดียว ก็อยากให้ไปดูรูปแบบการแข่งขันและเป็นธรรม ประเด็นที่ 2 คือข้อกฎหมาย ต้องปฏิบัติตามกฎหมายร่วมทุนปี 62 หรือไม่ อย่างไร และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

...ได้เชิญมาหารือแล้วอยากสร้างความชัดเจนใน 2 ประเด็นนี้ให้ได้เสียก่อน และได้เร่งรัดให้ดำเนินการให้เกิดความชัดเจน กระทรวงคมนาคมจะกำกับดูแล ทอท.ในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ให้ไปรับฟังความคิดเห็นกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่ดำเนินการขั้นตอนต่อไป"รวม.คมนาคม กล่าว

ทั้งนี้ ให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT หารือกับคณะกรรมการ AOT และกำหนดช่วงเวลาการดำเนินการประกวดราคาทั้ง 2โครงการ ทั้งประกาศเชิญชวน การขายซอง และการยื่นข้อเสนอโครงการ

นายอาคม กล่าวว่า แม้ว่า ทอท.จะแยกสัญญาตามกิจกรรม ได้แก่ ดิวตี้ฟรี พื้นที่เชิงพาณิชย์ และ Pick-up Counter แต่ในส่วนดิวตี้ฟรีก็ต้องการให้พิจารณาอีกครั้งว่าสมควรจะแยกสัญญาอีกหรือไม่ เป็นรายเดียว หรือหลายราย

รวมทั้ง ทอท.ต้องสอบถามจากกระทรวงการคลังว่าเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่ หากไม่เข้าข่ายก็ต้องพิจารณาว่า มีมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องส่วนไหนที่ว่าให้กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพตามที่คณะกรรมาธิการได้มีข้อเสนอแนะใน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือมีกลไกกลางหรือคณะกรรมการกลางที่มีตัวแทนจากกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้าไปร่วมพิจารณาหากไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและมีความโปร่งใสและมีการแข่งขันที่เป็นธรรม

"ทาง ทอท.ตีความว่าไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุน และเป็นเรื่องภายใน ของ ทอท....ถ้าไม่เข้าข่าย คณะรัฐมนตรีมีมติให้รับข้อสังเกตุของคณะกรรมาธิการ ให้กระทรวงการคลังมีกลไก มีแนวทางความเหมาะสมให้เอกชนเข้าใช้ทรัพย์สินของรัฐ"นายอาคม กล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่า ทอท. จะระบุว่าการดำเนินการประมูลโครงการประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพราะเป็นเรื่องภายในของทอท. แต่ทอท.เป็นหน่วยงานรัฐในสังกัดของกระทรวงคมนาคม ดังนั้น ทอท.ต้องชี้แจงประเด็นที่มีข้อห่วงใยในประเด็นการผูกขาด หาก ทอท.มั่นใจว่าการดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้อง

ขณะที่นายนิตินัย กล่าวภายหลังการหารือ โดยยืนยันว่า บริษัทจะยังคงดำเนินการเปิดประมูลให้สิทธิประกอบการกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่และ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเช่นเดิม เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการตามขั้นตอนแล้วเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างโปร่งใสแล้ว เพียงแต่ยอมรับว่าอ่อนการประชาสัมพันธ์

ส่วนประเด็นว่าจะเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่หรือไม่นั้น ขณะที่ร่างทีโออาร์ยังไม่มีกฎหมายชี้ชัด ซึ่งได้หารือกับผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้คำตอบว่าให้ดำเนินการไปก่อน อีกทั้งบริษัทก็เห็นว่าการดำเนินกิจกรรม 2 โครงการก็ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพราะหากสองกิจการนี้ไม่เกิดขึ้น กิจการท่าอากาศยานก็ยังสามารถดำเนินการได้

"ประเด็นเรื่องผูกขาด โปร่งใสไหม อาจจะยอมรับว่า ทอท.อ่อนการประชาสัมพันธ์ เราเชื่อว่าก่อนที่จะเข้าบอร์ด ก่อนที่บอร์ดจะมีมติใช้เวลานานมาก ประเด็นผูกขาดเรื่องความโปร่งใส ได้ตอบคำถามไปหมดแล้ว...ผมมั่นใจว่ากระบวนการโปร่งใส ทอท.มีความเห็นว่าไม่เข้าข่ายกฎหมาย (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) แต่ในช่วงที่กฎหมายยังไม่ออก ผอ.สคร.ก็ให้ดำเนินการไปก่อน"นายนิตินัย กล่าว

หลังจากนี้จะชี้แจงให้สื่อเข้าใจชัดเจน เพราะที่ผ่านมาเราก็มั่นใจว่าได้ทำตามขั้นตอนหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องหารือกับบอร์ดอีกแล้ว

รายงานข่าวจาก AOT เปิดเผยว่า ทอท.อยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะเปิดแถลงข่าวเรื่องนี้ในวันที่ 18 มี.ค.62


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ