บลจ.ยูโอบีฯ ตั้งเป้า AUM ปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 10-15% หลังดบ.ยังทรงตัวต่ำ ,มองเป้า SET ปีนี้ที่ 1,750 จุด ตาม EPS ยังเติบโต

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 18, 2019 09:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ามูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการ (AUM) ในปีนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10-15% จากปีก่อนอยู่ที่ 2.1 แสนล้านบาท เนื่องจากอุตสาหกรรมกองทุนมี Sentiment ดีอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลมาจากนโยบายของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ไม่ว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศที่คาดว่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบันทั้งปี หรืออย่างมากอาจจะมีการปรับขึ้น 1 ครั้ง ในส่วนของต่างประเทศเองก็มองว่าจะยังคงอยู่ในระดับนี้ต่อไป

ทั้งนี้ บริษัทยังคงนำเสนอทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับภาวะตลาดและสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน ด้วยการใช้ความเชี่ยวชาญ การสนับสนุนจากเครือข่ายในภูมิภาค รวมไปถึงการจับมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลก เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนที่หลากหลายสำหรับนักลงทุน ซึ่งในปีนี้ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาแนวทางนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อให้สอดคล้องกับโลกยุคดิจิทัลที่มีการเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาในกระบวนการบริหารการลงทุน เพื่อให้ผู้จัดการกองทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลการลงทุนเชิงวิเคราะห์ได้อย่างเจาะลึกและแม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือที่ช่วยในการบริหารการลงทุน นำไปสู่กระบวนการสร้างผลการดำเนินงานของกองทุนที่ดี ซึ่งถือหนึ่งในเป้าหมายสำคัญปี 62 นี้

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 62 และปี 63 มีแนวโน้มชะลอตัว โดยเศรษฐกิจสหรัฐมีการคาดการณ์การขยายตัว 2.5% ในปี 62 ลดลงจากปี 61 ที่มีอัตราการขยายตัว 2.9% ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 1/62 คาดว่าจะเติบโตเพียง 1.2% จากการชะลอตัวในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งสะท้อนในดัชนี ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) และรายงานภาคอสังหาริมทรัพย์ ทางด้านเศรษฐกิจยุโรปมีการคาดการณ์ในปี 62 ขยายตัว 1.6% โดย PMI ของยุโรปย่อตัวลงอย่างรวดเร็วและยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง โดย PMI ภาคการผลิตของยุโรปในเดือน ก.พ. อ่อนตัวลงสู่ระดับ 49.3 จุด จาก 50.3 จุด ในเดือน ม.ค. บ่งชี้ถึงการหดตัวของอุตสาหกรรม ปัญหาประเด็นการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในยุโรบที่ยังคงยืดเยื้อและธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 61

ด้านเศรษฐกิจจีนยังมีระดับการเติบโต 6.2% ในปี 62 และ 63 ซึ่งจัดอยู่ในระดับที่สูง แต่ประเด็นด้านการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯยังคงเป็นปัจจัยที่กระทบตลาด ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มการขยายตัวมากกว่าปีก่อน โดยมีการคาดการณ์เติบโต 1.1% ในปี 62 โดยได้รับแรงหนุนหลักจากปัจจัยภายในประเทศ การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง

ทางด้านกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่นั้น คาดว่าเศรษฐกิจมีการเติบโตอยู่ที่ 4.5% ในปี 62 ซึ่งหดตัวจากปีก่อนเล็กน้อย จากผลกระทบประเด็นสงครามการค้า นอกจากนี้แรงกดดันเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ เริ่มส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยในส่วนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็มีแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจะชะลอการปรับลดงบดุลของเฟดเอง หากจำเป็น

นายวนา กล่าวอีกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประมาณการตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ 4% ในปี 62 ซึ่งยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีท่ามกลางการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก โดยมีปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนซึ่งขยายตัวต่อเนื่องตามรายได้นอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น นอกเหนือจากนี้การลงทุนภาคเอกชนมียังคงมีแนวโน้มขยายตัวจากการเพิ่มประสิทธิภาพและการขยายกำลังการผลิต การย้ายฐานการผลิตมาไทย รวมถึงปัจจัยสนับสนุนจากโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยบวกแม้การขยายตัวชะลอลง เนื่องจากความล่าช้าในการลงทุนของบางโครงการ การส่งออกสินค้าขยายตัวชะลอลงตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ แต่อาจเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น โดยเฉพาะจากแนวโน้มในการเจรจาที่เริ่มมีการต่อรองในเชิงบวก

ในส่วนของภาคการบริการขยายตัวลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนแต่เริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้นเช่นกัน แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยมีมุมมองที่เปลี่ยนไปจากปลายปี 61 โดยมีแนวโน้มอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งยังไม่น่ากังวลเพราะสอดคล้องกับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ปี 62 อยู่ที่ 1.1% และ 0.9% ตามลำดับ

สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยปีนี้มีเป้าหมายดัชนีที่ 1,750 จุด โดยมองกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปีนี้จะเติบโต 7-8% ซึ่งมองว่าตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมายังคงแกว่งตัวในกรอบแคบเนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนหลายปัจจัยจากทั้งในประเทศและทั่วโลก โดยปัจจัยที่นักลงทุนยังต้องจับตามอง ได้แก่ประเด็นเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ โอกาสในชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและโลก และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในทั้งประเทศไทยและสหรัฐ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะกระทบบรรยากาศการลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

ในทางกลับกันพื้นฐานเศรษฐกิจไทยและตัวเลขต่าง ๆ ของบริษัทเอกชนยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะมูลค่าหุ้น (valuation) ของหุ้นไทยยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นหลักทั่วโลก รวมถึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่อาจกลับเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่อีกครั้ง หากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เริ่มมีความชัดเจนมากขี้นในปีนี้ แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปีนี้อาจปรับตัวขึ้นได้ดีอย่างต่อเนื่อง

นางสาวรัชดา ตั้งหะรัฐ ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด ของบลจ.ยูโอบีฯ กล่าวแนะนำการลงทุนในปีนี้ว่า จากภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนในปีนี้ คาดว่าความเสี่ยงในการลงทุนจะเพิ่มสูงขึ้น การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทจึงมีความสำคัญ โดยควรเน้นเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้และหุ้นที่มีคุณภาพสูง หรือเลือกลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ เพื่อสามารถกระจายความเสี่ยงได้มากขึ้น และมีโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในภาวะตลาดผันผวนได้ ทั้งนี้ แนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกลยุทธ์ทางเลือก เช่น อสังหาริมทรัพย์ เพื่อโอกาสในการรับอัตราผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว

บลจ. ยูโอบี ได้คัดสรรกองทุน 5 กองทุนเพื่อครอบคลุมโอกาสการลงทุนที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ดังนี้ กองทุนเปิด ไทย ตราสารหนี้ (TFIF) กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล อินคัม สตราทีจิค บอนด์ ฟันด์ (UGIS) กองทุนเปิด ยูไนเต็ด เฟล็กซิเบิ้ล อินคัม ฟันด์ (UFIN) กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล อินโนเวชั่น ฟันด์ (UNI) และกองทุนเปิด ยูไนเต็ด ออล ไชน่า อิควิตี้ ฟันด์ (UCHINA)


แท็ก อุตสาหกรรม   SET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ