KTIS เผยเป็น บจ.รายแรกรับมาตรฐาน BONSUCRO ตอกย้ำภารกิจขยายลงทุนควบคู่ยกระดับคุณภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 20, 2019 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ กลุ่ม บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) เปิดเผยว่า กลุ่ม KTIS เป็นบริษัทจดทะเบียนรายแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน "บองซูโคร" (Bonsucro) ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานที่ให้การรับรองการทำน้ำตาลอย่างยั่งยืน เริ่มตั้งแต่การปลูกอ้อยไปจนถึงการส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า

ทั้งนี้ BONSUCRO เป็นมาตรฐานสากลที่เกิดจากรวมกลุ่มของนักวิชาการ ชาวไร่อ้อยและภาคเอกชน ซึ่งก่อตั้งเป็นหน่วยงานที่ไม่หวังผลกำไร เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลให้มีความยั่งยืนต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในประเทศผู้ผลิตอ้อยขนาดเล็กหรือใหญ่ ก็จะมีมาตรฐานควบคุมการผลิตอ้อยและน้ำตาลฉบับเดียวกันคือ Bonsucro Bonsucro มีสมาชิกจากทั่วโลก 458 ราย สมาชิกส่วนใหญ่ได้แก่กลุ่มผู้ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าต่อเนื่อง กลุ่มโรงงานผู้ผลิตน้ำตาล และกลุ่มชาวไร่อ้อย

หลักเกณฑ์ในการพิจารณามี 5 ด้านหลักๆ ภายใต้ 3 เสาหลักแห่งความยั่งยืน นั่นคือ ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.การปฏิบัติตามกฎหมาย 2.การเคารพสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานด้านแรงงาน 3.การบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การจัดการวัตถุดิบ การป้อนวัตถุดิบเข้าสู่โรงงาน จนกระทั่งได้ผลผลิต จะต้องมีประสิทธิภาพและส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน 4.การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และการดูแลระบบนิเวศ และ 5.ปรับปรุงธุรกิจหลักอย่างต่อเนื่อง

นายประพันธ์ กล่าวว่า กลุ่ม KTIS มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้ชาวไร่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งการทำให้ชาวไร่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน จะต้องให้ชาวไร่ทำไร่อย่างถูกต้องและรู้ต้นทุน ดังนั้น กลุ่ม KTIS จึงพัฒนากระบวนการทำอ้อยโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งด้านพื้นที่ ปัจจัยในการทำอ้อย และต้นทุนของการทำอ้อย เพื่อสร้างรูปแบบการทำอ้อยที่ชาวไร่สามารถทำตามได้และได้ผลอย่างชัดเจนผ่านโรงเรียนเกษตรกรอ้อยซึ่งได้ให้ความรู้กับชาวไร่ รวมถึงสร้างอุทยานการเรียนรู้กระจายตามพื้นที่เพื่อให้เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานจริง

ขณะที่การดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ได้รณรงค์ให้ชาวไร่ลดการใช้สารเคมี โดยส่งเสริมให้ชาวไร่ใช้ชีววิถีในการจัดการแมลงศัตรูพืช ประกอบกับการพัฒนาระบบจัดการไร่อ้อยเพื่อลดการใช้สารเคมี นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมการปลูกอ้อยในพื้นที่ใหม่โดยในระบบ GPS ในการติดตามเพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่สงวน

ส่วนประเด็นใหญ่อย่างการเผาอ้อยในไร่ ที่ผ่านมา กลุ่ม KTIS รณรงค์และส่งเสริมให้ชาวไร่ตัดอ้อยสด เช่น การให้สิทธิในการลงอ้อยก่อน การจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ชาวไร่ในการซื้อรถตัดอ้อย และการใช้รถตัดอ้อยของโรงงานเองเข้าไปบริการชาวไร่ ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและยังลดปัญหาทางสังคมอีกด้วย

"ในด้านสังคม เราได้ผนึกความร่วมมือกับสมาคมชาวไร่อ้อย เพื่อเข้าไปให้ความรู้ในการใช้แรงงานภาคเกษตรและสิทธิขั้นพื้นฐานที่แรงงานควรจะได้รับ ทั้งด้านรายได้ต่อวัน รวมถึงการจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านความปลอดภัยในการทำงาน ขณะที่ในส่วนของโรงงาน บริษัทฯ มีนโยบายในการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่ม KTIS คำนึงถึงอยู่เสมอ โดยบริษัทฯ มีนโยบาย Zero Waste Factory คือเน้นการนำสิ่งเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว วัสดุเหลือใช้จากการผลิตต่างๆ รวมถึงการติดตั้งระบบบำบัดเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชนรอบโรงงาน" นายประพันธ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ