KTB ชูยุทธศาสตร์ดิจิทัลสู่การเป็น Invisible Banking อัดงบปีนี้ 19,000 ลบ. เสริมศักยภาพการบริการ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 21, 2019 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ประกาศยุทธศาสตร์ดิจิทัลสู่การเป็น Invisible Banking ผ่านกลยุทธ์ 5P โดยสร้าง Platform ที่แข็งแกร่งเพื่อเชื่อมโยง 5 Ecosystems ได้แก่ กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ, กลุ่มการชำระเงิน, กลุ่มสุขภาพและการรักษาพยาบาล, กลุ่มมหาวิทยาลัยและการศึกษา และกลุ่มระบบขนส่งมวลชน นอกเหนือจากความร่วมมือกับพันธมิตร (Partnership) พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่เหมาะสม (People) นำเทคโนโลยีมาช่วยปรับกระบวนการทำงานให้รวดเร็วขึ้น (Process) รวมทั้งเร่งยกระดับการให้บริการไปสู่ดิจิทัลผ่านทุกช่องทาง (Performance) ซึ่งธนาคารได้ทำควบคู่กับการสร้าง Krungthai Innovation Lab เพื่อเป็นศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง ตอบโจทย์กลยุทธ์ 5P

โดยในช่วงปีที่ผ่านมา ธนาคารได้เดินหน้าการลงทุนด้านเทคโนโลยี เพื่อเสริมศักยภาพของการบริการให้ดียิ่งขึ้น ประกอบกับเป็นการช่วยลดต้นทุนของธนาคารให้ลดลง ในภาวะที่สภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ได้เปลี่ยนแปลงไป และถูกแทรกแซงจากเทคโนโลยีและดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาท ทำให้เกิดการเปลี่ยนไปในอุตสาหกรรมต่างจากในอดีตที่เคยเป็นมา ทำให้ธนาคารต้องมีการปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง

โดยที่ในปีก่อนธนาคารได้ไช้เงินลงทุนด้านดิจิทัลไป 8-9 พันล้านบาท และในปี 62 ธนาคารจะใช้เงินลงทุนด้านดิจิทัลอีก 1.9 หมื่นล้านบทท เพื่อผลักดันการก้าวเป็น Invisible Banking ที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการของธนาคารกรุงไทยได้ทุกที่ และเสริมความพึงพอใจให้กับลูกค้า จากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ

อีกทั้งธนาคารยังคงเดินหน้าผลักดันให้ลูกค้าเข้าสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น ผ่านการใช้แอพพลิเคชั่นบนมือถือ คือ Krungthai NEXT ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า เพราะหลังจากที่เปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลา 5 เดือน มีลูกค้าที่สมัครใช้บริการแล้วกว่า 5 ล้านคน มีปริมาณธุรกรรมสูงถึงกว่า 500 ล้านธุรกรรม ซึ่งธนาคารตั้งเป้าเพิ่มจำนวนลูกค้าที่ไช้บริการ Krungthai NEXT ในสิ้นปีนี้ที่ 10 ล้านคน และจะพยายามผลักดันให้ลูกค้าหันมาใช้บริการแจ้งเตือนผ่าน Krungthai Connext ผ่าน LINE มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าสมัครใช้บริการดังกล่าวแล้ว 1 ล้านราย

นายผยง กล่าวว่า การผลักดันลูกค้าเข้าระบบสู่ดิจิทัล จะช่วยให้ธนาคารลดต้นทุนลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์การบริการต่าง ๆ ผ่านระบบดิจิทัลได้ เพื่อสร้างรายได้ใหม่ ๆ จากช่องทางดิจิทัลเข้ามาทดแทนรายได้ค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมการโอนและจ่ายบิลที่หายไป ซึ่งปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างการทดลองใช้บริการ Digital Lending ที่อยู่ใน Sandbox และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเร็ว ๆ นี้

"ธนาคารตั้งเป้า Cost to income ในช่วง 3 ปีนี้ จะต้องอยู่ในช่วง 45-50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 46-47% เพื่อเป็นสิ่งที่วัดถึงประสิทธิภาพของการบริการจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ" นายผยงระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ