ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ SAMART ที่ระดับ"BBB+" แนวโน้ม "Negative"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 3, 2019 15:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวยังมีข้อจำกัดบางประการจากการที่รายได้และกำไรในธุรกิจวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลต่ำกว่าคาด รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับลูกหนี้ค้างชำระที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และความผันผวนของธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต มีธุรกิจหลากหลายประเภทและมีสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่ง

บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 5 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจให้บริการด้าน ICT ธุรกิจให้บริการเกี่ยวกับระบบดิจิทัล (Digital) ธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าครบวงจร (Contact Center) ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี และธุรกิจด้านสาธารณูปโภคและขนส่ง การมีบริการที่กว้างขวางหลากหลายและการให้บริการแก่ลูกค้าที่แตกต่างกันมากมายหลายกลุ่มช่วยให้บริษัทมีแหล่งรายได้ที่หลากหลายและลดความเสี่ยงจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยได้บางส่วน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยทำให้สถานะทางธุรกิจของบริษัทเข้มแข็งขึ้น

บริษัทมีสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจให้บริการด้าน ICT โดยบริษัทมีผลงานซึ่งเป็นที่ยอมรับในการดำเนินโครงการด้าน ICT ที่หลากหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการของหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าประสบการณ์ในสายงานด้าน ICT และความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้าและลูกค้าจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการแข่งขันให้แก่บริษัทได้

รายได้ลดลงแต่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของบริษัทลดลงอันเนื่องมาจากผลการดำเนินงานที่ถดถอยลงของ บมจ. สามารถ ดิจิตอล (SDC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยรายสำคัญที่ประกอบธุรกิจให้บริการเกี่ยวกับระบบดิจิทัล ปัจจุบันบริษัทสามารถ ดิจิตอล กำลังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนธุรกิจจากการจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่มาเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัล

รายได้จากการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทลดลง 6% มาอยู่ที่ 12,249 ล้านบาทในปี 2561 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,517 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 166% จากปีก่อน ทั้งนี้ กำไรที่เพิ่มขึ้นมาจากธุรกิจ ICT และธุรกิจให้บริการจัดการจราจรทางอากาศที่สร้างกำไรเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าทั้ง 2 ธุรกิจนี้จะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัทต่อไปในอนาคต

มีความกังวลเกี่ยวกับลูกหนี้ค้างชำระที่มีจำนวนมาก ณ สิ้นปี 2561 บริษัทบันทึกรายการลูกหนี้การค้าที่ค้างชำระเกิน 12 เดือนจำนวน 4,665 ล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้การค้าจากธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยบริษัทมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไปแล้วถึงประมาณครึ่งหนึ่งของหนี้ค้างชำระทั้งหมด

ในปี 2561 บริษัทสามารถ ดิจิตอล และบริษัทย่อยได้รับชำระเงินคืนจากลูกหนี้ที่ค้างชำระจำนวนประมาณ 756 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทสามารถ ดิจิตอล คาดว่าจะสามารถจัดเก็บหนี้ที่เหลือได้เมื่อพิจารณาจากการได้รับชำระหนี้คืนในอดีตรวมถึงความพยายามของบริษัทในการตามเก็บหนี้ที่ค้างชำระ

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังมีความกังวลเกี่ยวกับระดับลูกหนี้คงเหลือที่มีอยู่ในระดับสูงเนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนในการติดตามทวงหนี้ที่มีอยู่จำนวนมาก ทั้งนี้ หากบริษัทไม่ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ที่มีเป็นจำนวนมากนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดและฐานทุนของบริษัทได้ ซึ่งฐานทุนที่ลดลงอาจส่งผลทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่า 70% ได้

ธุรกิจใหม่จะสร้างรายได้ในธุรกิจดิจิทัลให้เพิ่มสูงขึ้น

บมจ.สามารถ ดิจิตอล เข้าสู่ธุรกิจการให้บริการวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลในช่วงปลายปี 2560 โดยมีความร่วมมือกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคม โดยบริษัทจะให้บริการวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัล (Digital Trunk Radio System -- DTRS) ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ได้เกิดความล่าช้าในโครงการดังกล่าวเมื่อปีที่แล้วซึ่งส่งผลทำให้บริษัทมีรายได้จากการให้บริการวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้

ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจนี้จะเพิ่มขึ้นในปี 2562 เนื่องจากจะมีการเริ่มให้บริการวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลภายใต้โครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2562 กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ ในการดำเนินโครงการ "ความร่วมมือเสริมสร้างการรับรู้สู่ชุมชน" โดยหนึ่งในเป้าหมายของโครงการจะเป็นการนำระบบวิทยุคมนาคมแบบดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐสู่ประชาชนจำนวนมากในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งภายใต้โครงการนี้จะมีผู้ใช้วิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลมากกว่า 70,000 รายภายในปี 2563

รายได้จากการให้บริการวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลจะมาจาก 2 ทางคือ รายได้จากการให้บริการสื่อสาร (แอร์ไทม์) วิทยุสื่อสารและรายได้จากการจำหน่ายเครื่องวิทยุสื่อสาร โดยรายได้จากการให้บริการจะเป็นรายได้ที่สม่ำเสมอซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพของรายได้ในระยะยาว ส่วนรายได้จากการจำหน่ายเครื่องวิทยุสื่อสารนั้นคาดว่าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในปี 2562 และปี 2563 ตามจำนวนของผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการของกระทรวงมหาดไทย นอกเหนือจากโครงการดังกล่าวแล้ว จำนวนผู้ใช้จะเพิ่มขึ้นจากโครงการรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ และ/หรือ โครงการเกี่ยวข้องกับความมั่นคงอื่น ๆ ที่มีความต้องการใช้ระบบวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัลเพื่อเข้าถึงกลุ่มคนขนาดใหญ่อีกด้วย เป็นต้น

ฐานรายได้มีความมั่นคงจากรายได้ที่สม่ำเสมอจากการให้บริการและจากโครงการที่ยังไม่ได้ส่งมอบจำนวนมาก บริษัทมีฐานรายได้ที่มั่นคงจากการมีรายได้ที่แน่นอนจากการให้บริการในธุรกิจ ICT รวมถึงธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าครบวงจรและธุรกิจจัดการจราจรทางอากาศซึ่งล้วนเป็นธุรกิจที่เป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงของบริษัท

ในปี 2561 บริษัทมีรายได้ประจำจากสัญญาให้บริการอยู่เกือบ 6,000 ล้านบาทหรือคิดเป็นประมาณ 49% ของรายได้รวมของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากสัญญาให้บริการจะเพิ่มขึ้นจาก 6,500 ล้านในปี 2562 เป็น 7,500 ล้านบาทในปี 2564 ทั้งนี้ แหล่งรายได้ที่สม่ำเสมอดังกล่าวช่วยลดผลกระทบจากผลการดำเนินงานที่ผันผวนให้แก่บริษัทได้บางส่วน

บริษัทมีงานระหว่างพัฒนาในมือที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) มูลค่ารวมกันจำนวนมาก โดยสิ้นปี 2561 บริษัทมีงานที่ยังไม่ได้ส่งมอบมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท ซึ่ง 64% เป็นงานจากธุรกิจ ICT ทั้งนี้ งานเหล่านี้จะรับรู้เป็นรายได้ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า

ในช่วงปี 2562-2564 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้อยู่ที่ 15,000-20,000 ล้านบาทต่อปีเมื่อพิจารณาจากมูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบจำนวนมาก รวมถึงงานโครงการ ICT ใหม่ ๆ และรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นจากโครงการให้บริการวิทยุสื่อสารระบบดิจิทัล ตลอดจนรายได้ที่เติบโตอย่างสม่ำเสมอของธุรกิจให้บริการจัดการจราจรทางอากาศ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีโอกาสที่จะชนะงานประมูลโครงการ ICT ใหม่ๆ และได้งานโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับสถานีไฟฟ้าย่อย รวมถึงโครงการอื่น ๆ อีกเมื่อพิจารณาถึงความแข็งแกร่งทางการแข่งขันที่บริษัทมีในสายงานเหล่านี้

ระดับหนี้สินที่ยอมรับได้ บริษัทรายงานหนี้สินทางการเงินที่จำนวน 11,557 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2561 โดยปรับลดลงจาก 12,474 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับ 64.7% ในปี 2561 เพิ่มขึ้นจาก 62.5% ในปี 2560 อันเนื่องมาจากผลขาดทุนของบริษัทสามารถ ดิจิตอล ซึ่งส่งผลทำให้ฐานทุนของบริษัทลดน้อยลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ระดับหนี้สินและอัตราส่วนทางการเงินดังกล่าวก็ยังต่ำกว่าประมาณการของทริสเรทติ้งในครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับสูงกว่า 70% ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีกำไรที่ปรับตัวดีขึ้น

ในช่วงปี 2562-2564 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนโดยรวมประมาณ 10,000 ล้านบาทในโครงการให้บริการด้าน ICT ใหม่ ๆ และในโครงการวิทยุสื่อสารในระบบดิจิทัลเป็นหลัก ทั้งนี้ คาดว่าฐานทุนของบริษัทจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นหากไม่มีการตั้งสำรองหนี้สูญจำนวนมากและจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ต่ำกว่าระดับ 70% ในทางตรงกันข้าม คุณภาพเครดิตของบริษัทจะได้รับผลกระทบหากบริษัทไม่สามารถเก็บหนี้จากลูกหนี้ที่ค้างชำระคืนกลับมาได้

สภาพคล่องตึงตัว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทตึงตัวโดยเห็นได้จากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่อยู่ในระดับต่ำที่ 5.5% ในปี 2561 และ 4.2% ในปี 2560 เปรียบเทียบกับระดับ 15.7% ในปี 2559 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 2.7 เท่าในปี 2561 และ 1.1 เท่าในปี 2560 เปรียบเทียบกับ 4-6 เท่าในปี 2558-2559

ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ในช่วง 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี แหล่งเงินทุนอื่น ๆ ของบริษัทยังมาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอีกจำนวน 2,983 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนจะประกอบด้วยเงินลงทุนรวมประมาณ 10,000 ล้านบาทและภาระหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระอีกประมาณ 850 ล้านบาทในปี 2562 และ 1,900 ล้านบาทในปี 2563 ทั้งนี้ คาดว่าสถานะสภาพคล่องของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับดีขึ้น โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 15% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในช่วงประมาณ 4-6 เท่า

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

รายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 15,000-20,000 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2562-2564

อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 17%-22% ในช่วงปี 2562-2564 ส่วนอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นเป็นที่ระดับ 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี

ค่าใช้จ่ายในการลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ 10,000 ล้านบาทในช่วงปี 2562-2564

แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับระดับลูกหนี้ค้างชำระที่บริษัทมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากบริษัทไม่สามารถเก็บหนี้คืนมาได้ก็อาจจะส่งผลทำให้ฐานทุนของบริษัทอ่อนแอลงจนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนถดถอยลง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง ความเป็นไปได้ในการปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นหากบริษัทมีผลการดำเนินงานหรือฐานะทางการเงินที่อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง หรือหากโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอันเป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญก้อนใหญ่จนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ในระดับที่สูงกว่า 70% อย่างต่อเนื่อง แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเป็น "Stable" หรือ "คงที่" หากผลการดำเนินงานหรือฐานะทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ