บล.กสิกรไทย คาด SET เม.ย.เคลื่อนไหวในกรอบ 1,600-1,675 จุดรอตั้งรัฐบาลชัดเจน แต่อาจปรับลดเป้าหากไร้เสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 10, 2019 16:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย มองว่า ในระยะสั้นนี้หรือไม่เกินเดือน เม.ย.62 คาดดัชนีตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,600-1,675 จุด เพื่อรอความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเชื่อว่าครึ่งปีหลังนี้จะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ บริษัทก็มีโอกาสปรับลดเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยลงมากกว่า 2% จากปัจจุบันยังคงเป้าดัชนีไว้ที่ 1,750 จุด บนคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโต (EPS growth) 12.8% จากฐานที่ต่ำในปีก่อน -2.1% โดยกลุ่มที่จะมีกำไรเติบโต ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ คาดเติบโต 23.7%, กลุ่มเทคโนโลยี คาดเติบโต 20.3% จากการแข่งขันราคาในกลุ่มเทคโนโลยีน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น เพื่อสะสมกำไรเอาไว้ลงทุนระบบ 5G ที่กำลังจะมีการเปิดประมูลในอนาคต และกลุ่มพลังงาน คาดเติบโต 13.6% เนื่องจากราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC

นายภาสกร กล่าวว่า กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินมาตรการของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อย ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และภาวะเศรษฐกิจต่างจังหวัดที่ซบเซา คือ กลุ่มพาณิชย์ ได้แก่ CPALL BJC และ HMPRO โดยเฉพาะหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากเดิม 308-330 บาท/วัน จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อภาคประชาชนอย่างมาก แต่ในช่วงสั้นของการปรับขึ้นค่าแรงอาจจะกระทบกับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ กลุ่มรับเหมา หรือบริษัทที่ต้องใช้แรงงานมาก โดยทุกๆ 10 บาท จะกระทบต่อต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น 1.5%

ส่วนกลุ่มที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ก็คาดจะได้รับประโยชน์เช่นกัน จากการลงทุนของภาครัฐที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด แนะนำ STEC เนื่องจากมีความสามารถในการเข้ารับงานขนาดใหญ่ และกลุ่มท่องเที่ยว แนะนำ AOT จากการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศและรายได้จากการประมูลพื้นที่ Duty free

พร้อมกันนี้ บล.กสิกรไทย แนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่มปิโตรเคมี อย่าง SCC จากภาพรวมธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างเติบโตขึ้น ต้นทุนพลังงานมีแนวโน้มลดลง และภาพรวมกำไรที่แข็งแกร่งจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ จากแรงหนุนจากกระแส e-commerce และการเป็นผู้ผลิตชั้นนำด้านบรรจุภัณฑ์ในตลาดอาเซียน

และกลุ่มโรงไฟฟ้า อย่าง BGRIM จากต้นทุนพลังงานที่ลดลง, ค่า Ft ที่เพิ่มขึ้น, การแข็งค่าของเงินบาท และการขยายตัวของกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยจะเพิ่มเป็น 1,850 เมกะวัตต์ ในปี 62 และเพิ่มเป็น 2,105 เมกะวัตต์ในปี 64 และ BGRIM ยังมีการศึกษาที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในปีนี้อีก 500-1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งยังไม่ได้รวมอยู่ในประการกำไร

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/62 ออกมาปรับฐานบางกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มพลังงาน ที่ปรับตัวดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ