RATCH เตรียมส่งแผนสร้าง 2 โรงไฟฟ้าใหม่ภาคตะวันตกให้ กกพ.เร็ว ๆ นี้ ลุ้นได้สิทธิพัฒนา

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 17, 2019 10:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมส่งแผนการดำเนินงานสำหรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ภาคตะวันตกจำนวน 2 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตแห่งละ 700 เมกะวัตต์ (MW) ให้กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาในเร็ว ๆ นี้ หลังจากที่ กกพ.ได้ส่งเรื่องดังกล่าวมายังบริษัท ซึ่งบริษัทมีความมั่นใจที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ทั้ง 2 แห่งใน จ.ราชบุรี ได้แล้วเสร็จทันตามกำหนดที่จะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 67 และ 68 และจัดหาปริมาณก๊าซธรรมชาติได้เพียงพอที่จะป้อนโรงไฟฟ้าดังกล่าว

ทั้งนี้ หลังจากที่บริษัทส่งแผนพัฒนาโรงไฟฟ้า 2 แห่งกลับไปที่ กกพ.แล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนของการเจรจารายละเอียดทั้งในส่วนของอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม ส่วนจะได้พัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่อย่างไรนั้น ขึ้นกับ กกพ.เป็นผู้กำหนดเงื่อนไข และจะมีการหาพันธมิตรเข้าร่วมดำเนินการหรือไม่นั้น ยังต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายด้านด้วย เพราะมีเรื่องของการใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงเข้ามาประกอบด้วย

"กกพ.ส่งเรื่องเข้ามา เราก็กำลังจะทำข้อมูลออกไปเร็ว ๆ นี้ ก็ขึ้นกับกกพ.เป็นคนกำหนดเงื่อนไข กกพ.ส่งเรื่องให้เรา เราส่งเรื่องคืนกกพ. หลังจากนั้นกกพ.ก็จะเรียกเราไปคุยกันว่าค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมเป็นเท่าไหร่ โรงแรกเข้าปี 67 และโรงที่สองเข้าปี 68 เราทำทันทั้ง 2 โรง"นายกิจจา กล่าว

นายกิจจา กล่าวอีกว่า การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 2 แห่งจะสร้างในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งบริษัทมีพื้นที่เพียงพอ และอยู่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าเดิมของบริษัทคือโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ (TECO) ขนาด 700 เมกะวัตต์ ที่จะหมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในเดือน ก.ค. 63 โดยเมื่อ TECO หมดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว บริษัทก็มีทางเลือกที่จะเก็บโรงไฟฟ้าเป็นเครื่องสำรอง หรือการขายโรงไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน

อนึ่ง ตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) จะมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าหลักแห่งใหม่เป็นรายภาค โดยภาคตะวันตก จะมีโรงไฟฟ้าหลัก 2 แห่ง แห่งละ 700 เมกะวัตต์ รวม 1,400 เมกะวัตต์ ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 67 และ 68 โดยส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี ที่ใกล้จะหมดอายุ และเพื่อเสริมความมั่นคงไฟฟ้าป้อนให้กับภาคใต้ ซึ่งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มอบหมายให้กกพ.เจรจาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ดังกล่าวกับผู้ประกอบการรายเดิม บนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขจะต้องใช้ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว และตั้งอยู่บนพื้นที่เดิม คือ จ.ราชบุรี เพื่อให้สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้เสร็จทันตามแผน และต้องไม่กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนใน 1-2 เดือน ก่อนที่จะนำเรื่องดังกล่าวมานำเสนอต่อกบง.เพื่อพิจารณาอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ