หาคำตอบ...ต่างชาติยังขายหุ้นไทยได้อีกแค่ไหน ??

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 18, 2019 10:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"ฝรั่งยังขายหุ้นไทยได้อีกแค่ไหน"เป็นคำถามที่นักลงทุนหลายคนคงอยากจะทราบคำตอบ เพราะที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติถล่มขายหุ้นไทยแบบหนักหน่วง

จากการสำรวจข้อมูลพบว่าตลอดปี 61 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์มูลค่ากว่า 2.87 แสนล้านบาท และถ้านับรวมกับปีนี้นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 เม.ย.62 กลุ่มนักลงชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้ว 7,899 ล้านบาท รวมแล้วยอดขายสุทธิเกือบ 3 แสนล้านบาท

ปัจจัยบวกที่นักวิเคราะห์หลายรายคาดหวังคงหนีไม่พ้นประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะชัดเจนเมื่อใด มีเสถียรภาพเพียงใด และโฉมหน้ารัฐมนตรีกระทรวงสำคัญด้านเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร

และถ้าประเทศไทย ยังไร้ปัจจัยบวกเช่นนี้นานๆ มีโอกาสต่างชาติจะปรับพอร์ตขายหุ้นไทยกันอีกมากน้อยแค่ไหน...

ข้อมูล 10 อันดับหลักทรัพย์ขายสุทธิมากที่สุดผ่าน NVDR ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 เม.ย.62 (ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย)

          หลักทรัพย์                   มูลค่าซื้อขายสุทธิ NVDR
                                             (ล้านบาท)
          TOP                              -3,677.57
          PTTGC                            -3,492.89
          PTT                              -2,561.63
          SCB                              -2,162.67
          KTB                              -1,749.54
          IVL                              -1,726.95
          BBL                              -1,129.14
          SPRC                               -766.82
          TRUE                               -700.71
          KKP                                -667.01

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า การถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การถือหุ้นผ่าน NVDR ที่ปกติจะมีสัดส่วนเฉลี่ย 7% ซึ่งมีสภาพคล่องในการซื้อขายดีกว่า โดยเป็นการถือหุ้นที่ไม่ต้องการสิทธิการโหวตในที่ประชุมผู้ถือหุ้น แต่เป็นการถือเพื่อรับเงินปันผลและมีกำไรจากส่วนต่างเงินลงทุน (Capital gain) ส่วนอีกรูปแบบ คือการถือหุ้นผ่านกระดาน Foreign Board สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการมีชื่อของตนเองเป็นเจ้าของหุ้นในทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งในอดีตเคยพบสัดส่วนถือครองสูงสุด 30% ในช่วงกลางปี 56

สำหรับหุ้นในส่วนต่างชาติขายหุ้นออกไปมากนั้นมาจากกระดาน Foreign Board ล่าสุด ณ สิ้นเดือน มี.ค.62 เหลือถือหุ้นเพียง 22.48% และเมื่อรวมกับการถือผ่าน NVDR 6.77% ถือว่าต่างชาติขายหุ้นออกไปในสัดส่วนที่มากพอสมควร โดยตามสถิติย้อนหลังกว่า 10 ปียังไม่เห็นจุดที่ต่ำกว่านี้ มองว่าต่างชาติ Underweight หุ้นไทยมากเกินไปหากเทียบกับปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาตามปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจ แม้ว่าตามสถิติย้อนหลัง 10 ปีต่างชาติขายสุทธิไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย.) เฉลี่ย 2.72 หมื่นล้านบาท และเป็นการขายสุทธิ 7 ปีใน 10 ปี แต่หากประเมินจากกำไรต่อหุ้น (EPS) ปีนี้จะเติบโตราว 8% ระดับค่า P/E อยู่ที่ 15 เท่า ไม่ได้แพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นในแถบเอเชีย แต่ถ้ามองเรื่องความเชื่อมั่น ไทยยังถูกหักคะแนนจากสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่ยิ่ง เพราะหลังจากการเลือกตั้งยังไม่มีความชัดเจนของโฉมหน้ารัฐบาล และยังมีความกังวลคือรัฐบาลจะมีเสียง ส.ส.ที่มีเสถียรภาพในสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่

อีกหนึ่งจุดเด่นของไทยช่วงนี้ คือผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นไทยมากกว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Earning Yield Gap) ปัจจุบันอยู่ที่ 4.32% สูงกว่าค่าเฉลี่ย Earning Yield Gap ย้อนหลัง 10 ปีที่ 4.28% จึงเชื่อว่าเม็ดเงินที่เคยลงทุนในตลาดพันธบัตรจะไหลกลับเข้ามาหาผลตอบแทนสูงอย่างในตลาดหุ้นไทยได้ และปัจจุบันสภาพคล่องในตลาดโลกทรงตัวระดับสูง ทิศทางดอกเบี้ยโลกมีทิศทางขาลง ตามเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรป,ญี่ปุ่น รวมถึงในเอเชีย ที่มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยต่ำ

"แม้ว่าต่างชาติจะขายหุ้นที่ถือในกระดาน Foreign Board ถามว่าแห้งเลยหรือไม่ ต้องบอกว่าไม่ได้แห้ง แต่เป็นระดับต่ำกว่าที่เคยถือครองในอดีตเยอะมาก ถ้าการเมืองไทยยังไม่นิ่ง ก็ยังมีโอกาสต่างชาติลดสัดส่วนการถือหุ้นได้อีกเช่นกัน"นายเทิดศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯ เอเซีย พลัส ยังประเมินผลกระทบความไม่ชัดเจนประเด็นการเมืองไว้ 3 กรณี ได้แก่ กรณีเลวร้ายคือไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้จะซื้อขายบน P/E 14-15 เท่า กรอบดัชนีฯจะอยู่ที่ 1,492-1,600 จุด ,กรณีปานกลาง หรือมีความเป็นไปได้มากที่สุดคือรัฐบาลใหม่รวมเสียง ส.ส. 250-260 เสียง จะซื้อขายบน P/E 15-16 เท่า กรอบดัชนีฯอยู่ที่ 1,600-1,705 จุด ,และกรณีดีที่สุดคือรัฐบาลใหม่รวมเสียง ส.ส. แกนนำตั้งรัฐบาลใกล้เคียง หรือมากกว่า 300 เสียง SET INDEX จะซื้อขายบน P/E 16-17 เท่า กรอบดัชนีฯจะอยู่ที่ 1,705-1,812 จุด

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย บอกว่า แม้สัดส่วนการถือครองของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต แต่กลุ่มนักลงทุนสถาบันต่างชาติที่มีนโยบายลงทุนระยะยาวยังมีสัดส่วนถือหุ้นไทยในปริมาณอีกมาก อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากสถานการณ์การเมืองยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่เข้ามา ก็มีโอกาสต่างชาติจะขายหุ้นไทยได้อีกในระยะถัดไป

ตามข้อมูลของ FETCO ระบุว่า การซื้อขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (YTD) พบว่านักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิทุกตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ยกเว้นแค่ตลาดหุ้นไทยที่มียอดขายสุทธิ 407 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีการขายสุทธิมากที่สุดในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา 515 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากไม่มั่นใจกับสถานการณ์จัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้งว่าจะมีเสถียรภาพการบริหารประเทศได้ต่อเนื่องหรือไม่ เนื่องจากในปีนี้นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจไทยมีความท้าทายสูงจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะการชะลอตัว โดยเฉพาะความเสี่ยงเศรษฐกิจจีนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งไทยพึ่งพาการค้าและภาคท่องเที่ยวจากจีนเป็นสัดส่วนสูง อย่างไรก็ตาม ถ้าหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ รวมถึงโฉมหน้าของคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่มีความสามารถเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างชาติได้ เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยปลดล็อกขั้นแรกผลักดันกระแสเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ

"สภาพคล่องทั่วโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะดอกเบี้ยธนาคารกลางทั่วโลกถูกตรึงไว้ระดับต่ำอีกรอบ สังเกตุได้จาก 3 เดือนที่ผ่านมาไหลเข้าทุกตลาดหุ้นเอเชีย ยกเว้นตลาดหุ้นไทย แสดงให้เห็นว่าสภาพคล่องไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือไทยยังไม่มีปัจจัยบวกใหญ่ๆ ที่จะสามารถโน้มน้าวให้นักลงทุนต่างชาติขนเงินมาลงทุนได้ จากที่เคยคาดหวังว่าเลือกตั้งจบแล้ว จะสามารถตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ หากเป็นเช่นนั้นเงินคงไหลเข้ามาเยอะ ตอนนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว คงต้องรอความชัดเจนผล กกต.ที่เตรียมรายงานผลเลือกตั้งทางการในวันที่ 9พ.ค.นี้ก่อนแล้วค่อยมาทบทวนกันอีกครั้งว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป"นายไพบูลย์ กล่าว

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท.กล่าวถึงประเด็นสัดส่วนถือครองหุ้นไทยกลุ่มต่างชาติที่ต่ำในช่วงนี้ว่า จากสถิติในอดีตปกตินักลงทุนต่างชาติจะถือหุ้นไทยเฉลี่ยประมาณ 30% เป็นอัตราส่วนที่ค่อนข้างคงที่มาเป็นเวลานานแล้ว โดยการถือครอง 30% เป็นการถือหุ้นรวม ไม่ว่าจะเป็นหุ้นที่เป็น Foreign Board และหุ้นที่เป็น NVDR แม้ว่าใน 2-3 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนถือครองหุ้นดังกล่าวจะลดลงบ้าง แต่หากพิจารณาจากมูลค่าเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติพบว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามมูลค่ามาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นไทยที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น แม้สัดส่วนคงที่แต่มูลค่าไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เช่นเดียวกับการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตลอด 3 เดือนแรกของปีนี้รวม 42,305 ล้านบาท คาดว่าจะเห็นแนวโน้มการถือครองลดลง โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนไม่น่าสนใจ เพราะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสหรัฐฯ ทำให้ต่างชาติหันกลับไปลงทุนในสหรัฐฯ และประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ โดยเฉพาะมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ เป็นต้น เพราะให้ผลตอบแทนดีกว่า ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/62 ต่างชาติมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิในตราสารหนี้ไทยทั้งสิ้น 942,993 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.3% ของมูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ไทย

ตราบใดที่เศรษฐกิจไทยยังขาดปัจจัยบวกที่ใหญ่เพียงพอคงยากที่จะตอบได้ว่าต่างชาติจะกลับมาถือหุ้นมากเหมือนในอดีตหรือไม่ ยกเว้นตลาดจะมีความน่าสนใจจากราคาหุ้นที่ถูกจนกทำให้สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ในระดับสูง ขณะที่ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติก็เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมมาเน้นหุ้นรายตัวมากขึ้น

สุดท้ายแล้วคงต้องหาคำตอบจากผู้ลงทุนไทยว่ายังจะสามารถคาดหวังต่างชาติเป็น"อัศวินม้าขาว"ผลักดันดัชนีหุ้นไทยให้ทะยานร้อนแรงเหมือนในอดีตได้หรือไม่...

https://youtu.be/1MtDGnfhQYM


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ