PRM ลุ้นประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 หนุนธุรกิจเตรียมลงขัน 3 พันลบ.มั่นใจความพร้อม-ความชำนาญแม้รับคู่แข่งแกร่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 19, 2019 17:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาญวิทย์ อนัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พริมา มารีน (PRM) เปิดเผยว่า บริษัทคาดหวังว่าหากกลุ่มความร่วมมือกับพันธมิตรชนะประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 จะเป็นโอกาสต่อยอดและแตกไลน์ธุรกิจออกไปได้อีกมาก ส่วนความคุ้มค่าในการลงทุนนั้นจะได้รับประโยชน์จากการที่บริษัทมีฐานลูกค้าที่สนใจเข้ามาใช้บริการที่มากเพียงพอก็มองว่าจะสามารถ Break event ได้ไม่นาน

แต่หากไม่ชนะการประมูลในครั้งนี้ บริษัทก็คงไม่สนใจเข้าประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในเฟสอื่นๆ เพราะเป็นพื้นที่ขนาดเล็กที่มองว่าไม่สามารถต่อยอดธุรกิจได้

สำหรับเงินลงทุนที่เตรียมไว้หากชนะการประมูลนั้น ตามที่บริษัทถือหุ้น 10% จะใช้เงินลงทุนในส่วนของบริษัท 3 พันล้านบาท จากเงินลงทุนทั้งโครงการ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะใช้จากเงินสดในมือและเงินกู้จากสถาบันการเงิน เชื่อว่าสามารถรองรับการลงทุนได้เพียงพอและเป็นการทยอยใส่เงินลงทุนเข้าไป

ทั้งนี้ PRM ได้ร่วมกับพันธมิตรยื่นประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 (ท่าเรือ F) ซึ่งยังคงต้องรอความชัดเจนหลังจากที่มีการเลื่อนเปิดซองไปเป็นวันที่ 23 เม.ย.เป็นการเปิดซองคุณสมบัติของผู้เข้าประมูล ซึ่งบริษัทมีความมั่นใจว่าคุณสมบัติของบริษัทและพันธมิตรจะผ่านทั้งหมด

นายชาญวิทย์ กล่าวว่า บริษัทยังไม่มาสามารถบอกได้ว่ามั่นใจจะชนะการประมูลมากหรือน้อยเพียงใด แต่ยอมรับว่าคู่แข่งอีกกลุ่มที่เป็นความร่วมมือระหว่างบมจ.ปตท. (PTT) และบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ (GULF) เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ และได้พันธมิตรจากจีนที่มีชื่อเสียง คือ China Harbour เข้ามาด้วย ทำให้การแข่งขันในครั้งนี้บริษัทจะต้องใช้ความพยายามในการต่อสู้เป็นอย่างมาก

"ตอบไม่ได้จริงๆว่าเราจะชนะการประมูลหรือไม่ เพราะคู่แข่งที่เข้ามาร่วมประมูลก็ไม่ธรรมดาทั้ง GULF และ ปตท.และยังมี China Harbour ที่มาผนึกกำลังกัน ซึ่งคู่แข็งก็มีศักยภาพและมีความแข็งแกร่งมาก แต่เราก็จะสู้อย่างเต็มที่ เพราะเรามองเห็นโอกาสของการเข้าไปพัฒนาในพื้นที่ท่าเรือเฟสนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใหญ่ ทำให้เรามีโอกาสที่จะต่อยอดธุรกิจต่อไปได้อีกมาก และเป็นประโยชน์ต่อประเทศที่จะมีท่าเรือน้ำลึกที่ช้รองรับการขนส่งที่มีตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ๆเป็นจำนวนมากได้"นายชาญวิทย์ กล่าว

ในด้านความพร้อมของบริษัทและพันธมิตรในครั้งนี้ บริษัทและบริษัทแม่ คือ บริษัท นทลิน จำกัด ต่างมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจการเดินเรือขนส่ง และมีฐานลูกค้าที่มีความสนใจเข้ามาใช้บริการท่าเรือแห่งนี้อยู่เป็นจำนวนมาก และมีการติดต่อบริษัทรายใหญ่อื่นๆเพิ่มเติมที่สนใจเข้ามาใช้บริการในท่าเรือแห่งนี้ ซึ่งถือได้ว่าบริษัทมีฐานลูกค้าที่จะมาใช้บริการท่าเรือไว้ล่วงหน้าแล้ว

ขณะที่พันธมิตรในประเทศ คือ บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) จะเข้ามาช่วยพัฒนาระบบท่าเรือที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน ทำให้การบริหารจัดการท่าเรือมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และ China Railway มีความเชี่ยวชาญในด้านการก่อสร้าง และจะเข้ามาช่วยต่อยอดงานที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูงเข้ามาในท่าเรือแหลมฉบัง อีกทั้งบริษัทยังมีพันธมิตรที่เป็นบริษัทบริหารท่าเรือระดับโลกเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งถือว่าศักยภาพของบริษัทมีเพียงพอที่จะแข่งขันกับคู่แข่งได้

อนึ่ง โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 (ท่าเรือ F) มีผู้ยื่นซอง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า NPC ประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด ถือหุ้น 35% บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ EA ถือหุ้น 25% China Railway Construction Corporation Limited ถือหุ้น 20% PRM ถือหุ้น 10% และบริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง จำกัด ถือหุ้น 10%

ขณะที่กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย GULF ถือหุ้น 40% บริษัทพีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่ม PTT ถือหุ้น 30% และ China Harbour Engineering Company Limited ถือหุ้น 30%

นายชาญวิทย์ ยังกล่าวถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปี 62 บริษัทคาดว่าจะเห็นการเติบโตอย่างโดดเด่นของผลการดำเนินงานทั้งรายได้และกำไรที่มีโอกาสเติบโตเท่าตัวเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปีก่อน หลังจากภาพรวมของอุตสาหกรรมเดินเรือขนส่งและกักเก็บปิโตรเคมีกลับมาฟื้นตัว จากความต้องการใช้บริการของลูกค้าที่หันมาใช้บริการเรือ FSU เพิ่มมากขึ้น เพื่อกักเก็บและผสมน้ำมันเตาให้ได้ค่ากำมะถันต่ำ ทำให้ปัจจุบันการใช้เรือ FSU ที่บริษัทมีอยู่ 5 ลำที่ให้บริการอยู่มีลูกค้าใช้บริการเต็มทั้งหมด ประกอบกับการขนส่งภายในประเทศมีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย และยังมีรายได้จากธุรกิจ Big Sea เข้ามาหนุนเต็มปี

นอกจากนี้ในช่วงเดือน พ.ค.62 บริษัทจะเข้าซื้อหุ้นของ Big Sea เพิ่มอีก 80% รวมเป็นถือหุ้น 80% จากปัจจุบันที่ถือ 70% ซึ่งใช้เงิน 360 ล้านบาท อีกทั้งในไตรมาส 2/62 บริษัทจะมีการรับมอบเรือ FSU เข้ามาอีก 2 ลำ ในช่วงกลางเดือนเม.ย.และพ.ค.นี้ ซึ่งเรือ FSU ที่จะเข้ามาใหม่อีกจำนวน 2 ลำ มีลูกค้าที่จองใช้บริการแล้ว ทำให้เรือใหม่ที่เข้ามาให้บริการสามารถสร้างรายได้เข้ามาได้ทันที ส่วนงบลงทุนไว้ที่ 4-5 พันล้านบาท บริษัทซื้อเรือเข้ามาใหม่ในปีนี้ทั้งหมด 9 ลำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือ FSU ที่มีความต้องการใช้สูง ทำให้สิ้นปีนี้บริษัทจะมีกองเรือรวม 42 ลำ เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนที่ 36 ลำ โดยที่คาดว่าจะมีการปลดระวางเรือเก่าในปีนี้จำนวน 3 ลำ

ดังนั้น บริษัทจึงมั่นใจว่ามีโอกาสสูงที่รายได้ในปีนี้จะเติบโตเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10% จากปีก่อน หลังจากภาพรวมของอุตสาหกรรมกลับมาดีขึ้น และมีความต้องการใช้เรือขนส่งประเภท FSU ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลบวกต่อภาพรวมของบริษัทอย่างมีนัสำคัญ ทำให้ปีนี้ผลการดำเนินงานมีโอกาสสูงที่จะทำได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ