ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ระบุภาพรวมสินเชื่อระบบแบงก์ Q1/62 ยังหดตัว แม้เดือน มี.ค.กระเตื้อง จับตาศก.ครึ่งปีหลังฟื้นหนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 25, 2019 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือน มี.ค.62 แม้สินเชื่อยังขยายตัวได้จากเดือนก่อน แต่ไม่สามารถหนุนภาพรวมสินเชื่อไตรมาสแรกให้กลับเป็นบวกได้ โดยสินเชื่อสุทธิลดลง 0.11% เมื่อเทียบกับยอดคงค้างสิ้นปี 61 จากปัจจัยหลักที่สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารขนาดใหญ่บางแห่งยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทั้งสินเชื่อประเภทอุตสาหกรรมการผลิตการพาณิชย์ สาธารณูปโภคและบริการ รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ขณะที่สินเชื่อรายย่อยยังมีแรงหนุนให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดไตรมาส โดยเฉพาะสินเชื่อหลักจากสินเชื่อบ้านตามปัจจัยพิเศษที่ลูกค้าเร่งโอนก่อนมาตรการ LTV ใหม่ของ ธปท. มีผลใน 1 เม.ย. 2562 และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ตามยอดขายรถใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับสินเชื่อส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นจากการรุกเสนอบริการในช่องทางดิจิทัลและการตลาดอื่นที่มุ่งเจาะลูกค้าเป้าหมายเป็นรายบุคคล ซึ่งชดเชยปัจจัยฤดูกาลจากการชำระคืนสินเชื่อบัตรเครดิตได้

ภาพรวมสินเชื่อสุทธิในเดือนมี.ค. 62 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.65 หมื่นล้านบาท หรือ 0.14% จากเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สินเชื่อสุทธิชะลอการขยายตัวลงมาที่ 4.98% YoY ในเดือน มี.ค. จาก 5.02% YoY ในเดือนก.พ.62

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในภาพรวม อาจยังคงต้องรอบรรยากาศการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี ดังนั้น จึงยังคงตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ที่ 5.0% แต่จะติดตามสถานการณ์การเบิกใช้สินเชื่อของภาคธุรกิจในระยะข้างหน้า รวมถึงผลกระทบต่อทิศทางสินเชื่อบ้านซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงครึ่งหนึ่งของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยของระบบธนาคารพาณิชย์ หลังมาตรการ LTV ใหม่เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเม.ย. เป็นต้นมา

ด้านเงินฝากในเดือน มี.ค.62 ปรับตัวลดลงทั้งกลุ่มธนาคาร ทำให้ภาพรวมเงินฝากลดลงจากเดือนก่อน 4.5 หมื่นล้านบาท หรือ 0.36% MoM และชะลอการขยายตัวมาที่ 3.37% YoY จากที่เติบโต 4.23% YoY ในเดือนก.พ.62

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพการชะลอลงของยอดคงค้างเงินฝากโดยรวม น่าจะมีปัจจัยสำคัญมาจากการบริหารสภาพคล่องของแต่ละธนาคารให้อยู่ในระดับที่มีความเหมาะสมกับความต้องการเบิกใช้สินเชื่อซึ่งยังคงไม่มีสัญญาณเร่งตัวขึ้นมากนักนับจากต้นปี 62 นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาสัดส่วนพอร์ตเงินฝากหลักให้เป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ซึ่งมีภาระด้านต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำเงินฝากประเภทอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

จากสถานการณ์การปล่อยสินเชื่อที่ยังไม่เร่งตัวขึ้นตลอดช่วงไตรมาส 1/62 ทำให้สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่รวมเงินกู้ยืม (Loan to Deposit+Borrowing: L/D+BE) ณ มี.ค.62 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 92.29% ซึ่งเป็นทิศทางที่ผ่อนคลายเมื่อเทียบกับระดับ 92.71% ณ สิ้นปี 61 และเมื่อมองในภาพรวมตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 62 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สภาพคล่องในระบบ น่าจะอยู่ในกรอบประมาณ 3.5-3.8 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 21% ของสินทรัพย์รวม ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่สูง และเพียงพอต่อการดำเนินงานของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในภาพรวม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ