โลกเสี่ยง! เศรษฐกิจถดถอย...เตือนปรับพอร์ตพร้อมรับภาวะ "Bear Market"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 29, 2019 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"Recession" หรือ "ภาวะเศรษฐกิจถดถอย" เป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์ที่เมื่อไม่นานมานี้ผู้เชี่ยวชาญนักพยากรณ์เศรษฐกิจของไทย เริ่มออกมาแสดงความกังวลว่าอาจจะวนกลับมาเริ่มต้นในอีกไม่ช้า ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหดตัวรุนแรง เข้าสู่วัฏจักรขาลงอย่างเป็นทางการ และสิ่งที่ตามมา คือ"วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ในสัญญาณเตือนภัยที่หยิบยกออกมาอธิบายรอบนี้คือการตัดกันของกราฟอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น 3 เดือน และระยะยาวอายุ 10 ปีของสหรัฐฯที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน มี.ค.62 หรือที่เรียกกันว่า "Yield Curve Invert" เป็นภาวะที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นกลับสูงกว่าพันธบัตรระยะยาว เป็นสิ่งสะท้อนความเชื่อมั่นนักลงทุนมีความหดหู่อย่างมากกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยง ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ลดลงไปอยู่ที่ราว 2.37% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯอายุ 3 เดือนอยู่ที่ราว 2.40%

ตามสถิติในอดีตแทบทุกครั้ง "Yield Curve Invert" เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง โดยมักจะเกิดขึ้นก่อนเศรษฐกิจเข้าสู่วัฏจักรขาลง ก่อนที่ตลาดหุ้นทั่วโลกจะเข้าสู่ "Bear Market" ทำให้ช่วงนี้นักลงทุนทั่วโลกคงเฝ้าระวัง และตั้งรับกับวิกฤติครั้งใหญ่ที่อาจกำลังมาถึงในเวลาอันใกล้นี้อย่างแน่นอน

หากย้อนอดีตไปจะพบว่าเมื่อเกิด "Yield Curve Invert" จะนำไปสู่วิกฤติหลายครั้ง เช่น วิกฤตดอทคอมปี 2544 ,และวิกฤตซับไพร์มปี 2551 เป็นต้น

สำหรับปรากฏการณ์การตัดกันของ "Yield Curve Invert" จะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย ก่อนนำไปสู่ "Bear Market" ได้จริงหรือไม่นั้น"อินโฟเควสท์"สำรวจมุมมองกับกูรูอย่าง นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) และนายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้

*สัญญาณเตือน "เศรษฐกิจถดถอย" กำลังจะมา...

นายคมศร ระบุว่า หากพิจารณายอดขายสินค้าที่อยู่อาศัยและรถยนต์ในสหรัฐฯทำจุดสูงสุดไปแล้วเมื่อปี ค.ศ.2017 และ 2018 เข้าสู่ภาวะชะลอตัว เป็นภาพใกล้ที่จะจบวัฎจักรขาขึ้นของเศรษฐกิจ สอดคล้องกับ "Yield Curve Invert" ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสูงกว่าพันธบัตรระยะยาว เป็นสัญญาณว่านักลงทุนเริ่มมองเห็นว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะเริ่มชะลอตัว ทำให้ยอมซื้อพันธบัตรระยะยาวให้ผลตอบแทนต่ำเข้ามา อีกนัยหนึ่งคือคาดกันว่าธนาคารกลางอาจต้องลดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดี

"Yield Curve Invert" เป็นสัญญาณพยากรณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ได้อย่างแม่นยำ โดยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา การเกิด "Yield Curve Invert" จะตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยถึง 7 ครั้งในสหรัฐฯ ในรอบนี้ "Yield Curve Invert" เกิดในช่วงปลายเดือน มี.ค.ซึ่งตามสถิติแล้วต้องนับไปอีกราว 20 เดือนถึงค่อยเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยน่าจะเป็นช่วงปลายปี ค.ศ.2020 หรือในปีหน้า

"โดยปกติแล้วตลาดหุ้นทั่วโลกจะร้อนแรงมากก่อนเกิด Recession กินเวลาประมาณ 6 เดือน นั้นแปลว่าเรายังเหลือเวลาอีกกว่า 1 ปีทยอยปรับพอร์ตได้ แม้ว่าใกล้เข้าสู่ปลายวัฎจักรขาขึ้น แต่ว่านักลงทุนไม่ต้องตื่นตนกมากนัก คิดว่ายังมีเวลา"นายคมศร กล่าว

หากถามว่าจะรุนแรงเหมือนวิกฤตครั้งก่อนหรือไม่นั้น ต้องยอมรับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณที่น่ากังวลเท่าในอดีต เช่น กรณีวิกฤตปี ค.ศ.2008 มีฟองสบู่อสังหาฯ ,วิกฤตปี ค.ศ.2000 มีวิกฤตดอทคอม ฟองสบู่ในกลุ่มเทคโนโลยีมีผลกระทบรุนแรงเกี่ยวข้องกับตลาดการเงินโลกอย่างมาก แต่รอบนี้แม้จะพูดกันถึงปัญหาหนี้ในจีนที่มีจำนวนมาก แต่เชื่อว่าจีนมีเครื่องมือที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเทศได้ ไม่ลุกลามมาประเทศอื่น ลักษณะของ Recession จะเป็นการชะลอตัวในระยะหนึ่ง ก่อนจะกลับขึ้นมาฟื้นตัวอีกครั้งเช่นกัน

นายก้องเกียรติ แสดงความเห็นว่า แม้ว่าการเกิดปรากฎการณ์"Yield Curve Invert"ในพันธบัตรสหรัฐฯ เป็นสิ่งสะท้อนความเชื่อมั่นลดลงกับภาวะเศรษฐกิจ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าเศรษฐกิจทั่วทั้งโลกยังไม่ถึงขั้นเข้าสู่"Recession"แต่การที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าระยะสั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากปริมาณเงินลงทุนทั่วโลกมีสูงมาก มีการขายหุ้นบางส่วนออกนำเงินไปลงทุนในพันธบัตร ทำให้พันธบัตรมีราคาแพงขึ้น เป็นผลให้ผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยต่ำลงเป็นเรื่องปกติ

ยกตัวอย่างเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ถ้ามองระยะสั้นยังไม่ถึงขั้นต้องกังวล เนื่องจากอัตราการว่างงานยังต่ำ ประกอบกับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่เติบโตได้ดี หรือบางบริษัทดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดด้วยซ้ำ เช่น กลุ่มธนาคาร,กลุ่มไอที ,กลุ่มค้าปลีก,หรือบริษัทเกิดใหม่อีกหลายราย

สำหรับเศรษฐกิจในยุโรป ต้องยอมรับว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะจีดีพีแทบไม่เติบโต หรือบางประเทศถึงขั้นติดลบ เป็นภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แม้ล่าสุดจะยังไม่ถึงขั้นฟื้นตัวชัดเจน แต่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งก็เริ่มดีขึ้นอย่างกลุ่มธนาคาร ที่เชื่อว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว ขณะที่ถ้ามองเป็นรายธุรกิจยังมีโอกาสอีกมาก เช่น "LOUIS VUITTON" ล่าสุดกำไรโตกว่า 10% สะท้อนว่าบางบริษัท หรือบางกลุ่มอุตสาหกรรมสามารถเติบโตได้ดี ท่ามกลางภาพรวมเศรษฐกิจจะไม่ดีก็ตาม ส่วนอสังหาฯในอังกฤษเริ่มดีขึ้น หลังเกิดปรับตัวลงในช่วงเกิด Brexit

เช่นเดียวกับภูมิภาคเอเชีย ที่ต้องพึ่งพาตลาดใหญ่จากจีน ก่อนหน้านี้เคยกังวลว่าเศรษฐกิจจะชะลอ แต่วันนี้ยังโตได้ดี ส่วนความกังวลบางกลุ่มอย่างธุรกิจอสังหาฯ มองว่าเป็นเรื่องปกติ

"เศรษฐกิจจริงๆ ยังไม่ใช่จุดที่น่ากังวลถึงขนาดนั้น เชื่อว่ารัฐบาลในสหรัฐและยุโรป ยังมีเครื่องมือทางการเงินรับมือปัญหาเศรษฐกิจได้ ถ้ามีความจำเป็น เช่น ลดดอกเบี้ย เป็นต้น ส่วนตัวเชื่อว่ายังไม่เป็น "Recession" แต่การที่พันธบัตรสหรัฐฯเกิด "Yield Curve Invert" ส่วนหนึ่งเกิดจากเงินลงทุนทั่วโลกมีปริมาณสูงมากมีการขายหุ้นบางส่วนแล้วนำเงินไปลงทุนในพันธบัตร ทำให้มีราคาแพงผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยจึงต่ำลงเป็นเรื่องปกติ

มองระยะสั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความแข็งแกร่งมาก สะท้อนจากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศออกมา ส่วนผลประกอบการบริษัทในยุโรป ยังไม่ได้เข้าสู่การฟื้นตัว แม้จะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วก็ตาม แต่ยังเป็นผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษา ส่วนตลาดหุ้นจีนแย่ในช่วงปีที่แล้ว ปีนี้ก็กลับขึ้นมารวดเร็ว หุ้นมาเก็ตแคบบางแห่งกำลังแตะจุดสูงสุดใหม่ เช่น บริษัทประกัน"นาบก้องเกียรติ กล่าว

*1-2 ปีตลาดหุ้นทั่วโลกเสี่ยงเข้าสู่ตลาดขาลง "Bear Market"

นายก้องเกียรติ มองว่ามีความเป็นไปได้ที่ในช่วง 1-2 ปีตลาดหุ้นทั่วโลกจะเข้าสู่ "Bear Market" เพราะถ้าวัดมูลค่าถือว่าไม่ได้ถูกอีกต่อไปแล้ว ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับขึ้นต่อเนื่อง 7-8 ปี ทำให้มีอัพไซด์จำกัด พร้อมกับเชื่อว่าน่าจะเกิดภาวะ Correction แต่โดยมุมมองไม่น่าจะปรับตัวลงรุนแรง เหมือนกับรอบที่เกิดวิกฤตครั้งใหญ่ที่ผ่านมา เพราะถ้ามองปัญหาด้านการเงินเพียงอย่างเดียว เชื่อว่าธนาคารกลางและรัฐบาลประเทศมหาอำนาจ ยังมีเครื่องมือเพียงพอช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจยังสามารถไปได้ ยกเว้นแต่ว่าจะเกิดปัญหาสงคราม ที่เป็นปัจจัยไม่คาดคิด ผลกระทบจากประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ยากคาดเดา

"ผมไม่คิดว่าเป็นหมีตัวใหญ่ ไม่เชื่อว่ามีเหตุการณ์อะไรจะกระทบรุนแรง ถ้ามองเหตุการณ์การเงินเพียงอย่างเดียว เชื่อว่าธนาคารกลางและรัฐบาลมีเครื่องมือเครื่องไม้เพียงพอที่จะประคับประคอง ให้เศรษฐกิจไปได้ แต่ถ้ามีเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างสงคราม ประเด็นนี้ไม่ทราบแล้ว เชื่อว่าถ้าตลาดปรับตัวลงแรงๆก็น่าจะกลับตัวโดยอัตโนมัติ เหมือนตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ผ่านมาลงไปแรง 20% ก็กลับขึ้นมา 10% เป็นไปไม่ได้ว่าตลาดหุ้นจะดีตลอดไป นักลงทุนต้องผ่านร้อนผ่านหนาวเรื่องพวกนี้ ก็ต้องเข้าใจ"

ด้านนายคมศร ยอมรับว่า เคยทำแบบจำลองดูว่าหากเกิด Recession ในตลาดหุ้นโลกจะปรับตัวลงแค่ไหน ถ้าย้อนอดีตเมื่อเกิด Recession ตลาดหุ้นจะลงเฉลี่ยประมาณ 36% โดยใช้ 2 ปัจจัยประกอบ คือ P/E ตลาด ถ้าแพงมากจะปรับตัวลดลงมาก ,และผลกระทบ Recession รุนแรงหรือไม่ ถ้ามีผลกระทบยาวนาน ตลาดหุ้นมักจะปรับตัวลงไปลึก เช่นปี ค.ศ.2008 เกิดวิกฤตหนักและยาวนาน ทำให้หุ้นลงไปลึกกว่า 60% รอบนี้ถ้าประเมินจาก P/E ปัจจุบันคาดว่าจะไม่รุนแรง เบื้องต้นคาดว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวลงประมาณ 30-35% ไม่ได้รุนแรงเท่ากับในอดีต

"ระบบเศรษฐกิจโลก ได้รับการอัดฉีดสภาพคล่องจากทางธนาคารกลางหลายประเทศมาตลอด ใช้นโยบายตรึงดอกเบี้ยต่ำที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา หรือถึงขั้นติดลบในญี่และยุโรป ซึ่งถ้าหากไม่มีเครื่องมือเหล่านี้ อาจจะเกิด Recession ไปแล้ว ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจรอบนี้คือ "กำลังซื้อหดตัว" ส่งผลให้ยอดขายสินค้าลดลง ตามมาด้วยการลดการจ้างงาน เป็นวัฎจักรให้เศรษฐกิจกลับไปหดตัวอีกครั้ง แต่การหดตัวเศรษฐกิจจะยาวนานแค่ไหน ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะมีวิกฤตอื่นซ้ำเข้าไปด้วยหรือไม่ แต่ถ้าในปัจจุบันยังไม่เห็นวิกฤตที่จะซ้ำเข้าไป คิดว่า Recession รอบนี้คงเป็นครั้งที่ไม่น่ากลัวมาก"

*พร้อมรับมือความเสี่ยง...ปรับพอร์ตลงทุนอย่างไร

นายก้องเกียรติ แนะนำว่า สำหรับนักลงทุนระยะยาวไม่ต้องตื่นตระหนกไปกับประเด็น "Bear Market" หากมีหุ้นดีในพอร์ตแล้วก็ถือต่อไป หรืออาจเพิ่มสัดส่วนเงินสดไว้บ้างเพื่อรอซื้อของถูกยามหุ้นปรับตัวลดลงรุนแรง พร้อมกับลงทุนหลายสินทรัพย์เพื่อกระจายความเสี่ยง

"ถ้ามุมมองผมเองไม่คิดว่าการที่ขายหุ้นทั้งหมดแล้วถือเงินสดไว้เฉยๆจะเป็นประโยชน์อะไร ยกเว้นคุณจะคิดว่าจะเกิดวิกฤตเหมือนปี 1997 อันก็อีกเรื่องหนึ่ง ช่วงเวลานั้นผมถือเงินสดทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมาผมไม่เคยถือเงินสดร้อยเปอร์เซ็นต์ อยากแนะนำนักลงทุนว่าอยากให้มีการกระจายลงทุนสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง เช่น เงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล รองลงมาเป็นหุ้นกู้ที่มีคุณภาพ บางคนรับความเสี่ยงได้เป็นหุ้นกู้แบบ Non-rated แล้วก็ลงทุนหุ้นไทยและต่างประเทศ"

ขณะที่นายคมศร มองว่าช่วงระยะสั้นในไตรมาส 2/62 ยังพอมีข่าวดี ดังนั้น ยังไม่ต้องถึงขั้นรีบขายหุ้น เช่น การตกลงความขัดแย้งการค้าระหว่างจีนและสหรัฐคาดว่ามีความชัดเจนในเดือน พ.ค.นี้ ,เศรษฐกิจที่เคยแย่มาตั้งแต่ต้นปีก็เริ่มดีขึ้น หลังจากจีนเริ่มกลับมาใช้จ่าย ,สุดท้ายนโยบายธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จากเดิมที่เตรียมขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ประชุมรอบล่าสุดกลับส่งสัญญาณว่าไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ทำให้บรรยากาศลงทุนดีขึ้น ดังนั้นประเมินว่า 2-3 เดือนนี้ตลาดหุ้นยังพอมีอัพไซด์อีกเล็กน้อย

สำหรับผู้ที่มีหุ้นยังพอ Let Profit Run ไปได้ก่อน แต่ในอนาคตก็ต้องระวังเรื่อง Recession ขณะเดียวกันตลาดหุ้นที่ร้อนแรงก็กำลังนับถอยหลังแล้ว ในกรณีหุ้นขึ้นไปก็ควรทยอยขายทำกำไรบ้าง

"สำหรับผู้ที่ยังมีเงินสด ควรเลือกลงทุนในกองทุนผสม หรือลงทุนเองต้องกระจายหลายสินทรัพย์ ส่วนผู้เน้นระยะยาว มองข้ามความเสี่ยง Recession ไปได้เลย แนะเลือกหุ้นอิงกระแสเมกะเทรนด์ เช่น ธุรกิจ E-commerce หรือ Healthcare เป็นต้น"

https://youtu.be/_-SQRLXZzBk


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ