TUNTEXเผย"บีคอน"เล็งใส่ 2 พันลบ.ใช้หนี้ ขยายผลิตโพลีเอสเตอร์-เพิ่ม PET

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 4, 2008 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายโสฬาร สุทธิพงศ์คณาสัย ในฐานะผู้บริหารแผนของ บมจ.ทุนเท็กซ์ (ประเทศไทย)(TUNTEX)คาดว่า หากศาลและเจ้าหนี้เห็นชอบการเข้ามาของกลุ่มบีคอน โกลบอล ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 60% ก็จะใช้เวลาประมาณ 10 เดือน ใส่เม็ดเงินกว่า 2 พันล้านบาทชำระหนี้ และขยายการผลิต ปรับโครงสร้างธุรกิจ เพิ่มการผลิตเม็ดพลาสติก PET ซึ่งรายได้จะเข้ามาภายในปีนี้   
บริษัท บีคอน โกลบอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่ม บมจ.อินโดรามาโพลีเมอร์ส(IRP)ผู้ผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติก PET ลงนามในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น(MOU)กับ TUNTEX และอยู่ในขั้นตอนการเจรจาแก้ไขแผน โดยขั้นตอนจะต้องนำแผนขออนุมัติที่ประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งเงื่อนไขการซื้อกิจการจะต้องซื้อทั้งธุรกิจรวมหนี้สินที่บริษัทมีอยู่
นายโสฬาร กล่าวว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่เตรียมเม็ดเงินสำหรับซื้อกิจการของ TUNTEX ประมาณ 2,300 กว่าล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนในเครื่องจักรเพื่อขยายกิจการตามโครงการทั้งหมดประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยจะใช้เงินกู้และเงินของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ และอีกส่วนหนึ่งต้องชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้เดิมประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการส่งตัวแทนเข้ามาร่วมบริหารงานด้วย
บีคอนฯมีความประสงค์เข้ามาถือหุ้น TUNTEX เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ และโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยกิจการหลักก็ยังเป็นการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นหลัก แต่จะมีการเสริมเส้นใยบางส่วนผู้ถือหุ้นจะเข้ามาเสริมด้านเทคโนโลยี น่าจะทำให้บริษัทกลับมาเดินเครื่องได้เต็มที่ โดยจะทำรายได้ในสัดส่วนมากกว่า 50%
ขณะเดียวกันก็จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังอยู่ในความต้องการของตลาดคือ ผลิตเม็ดพลาสติก PET โดยเครื่องจักรในปัจจุบันสามารถปรับปรุงดัดแปลงและมาผลิตเม็ดพลาสติก PET ได้ ซึ่งกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่มีเทคโนโลยีทางด้านนี้อยู่แล้ว การผลิตเม็ดพลาสติก PET จะสร้างสัดส่วนรายได้ในส่วนที่เหลือ
ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตของเส้นใยโพลีเอสเตอร์อยู่ที่ 300 ตัน/วัน ส่วนโครงการใหม่เม็ดพลาสติก PET ประมาณ 400-500 ตัน/วัน รวมทั้งปีกำลังการผลิตประมาณ 290,000 ตัน/ปี ซึ่งขณะนี้บริษัทเดินเครื่องเส้นใยโพลีเอสเตอร์ประเภทเส้นใยยาวแค่ 10% จากกำลังการผลิตทั้งหมด เนื่องจากมีปัญหาด้านต้นทุน และการดำเนินธุรกิจ
อนึ่ง อินโดรามา โฮลดิ้งส์ มีธุรกิจโพลีเอสเตอร์อยู่แล้วในนาม บริษัท อินโดโพลีไทยแลนด์ ตั้งอยู่ที่จ.นครปฐม มีขนาดกำลังผลิตโพลีเอสเตอร์ ประมาณ 100,000 ตัน/ปี เมื่อซื้อกิจการจากทุนเท็กซ์เข้ามา ก็จะทำให้ขนาดกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 400,000 ตัน/ปี
นายโสฬาร กล่าวว่า โครงการเม็ดพลาสติก PET จะเริ่มได้เมื่อใดคงต้องพิจารณาจากการจัดหาวัตถุดิบในราคาที่เหมาะสมเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ราคาวัตถุดิบยังสูง หากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาน่าจะทำให้จัดหาวัตถุดิบก็จะได้ราคาที่ถูกกว่าเพราะมีอำนาจการต่อรองมากขึ้น เนื่องจากมีโรงงงานอยู่หลายแห่งทั่วโลก เช่น ที่อินโดนีเซีย และประเทศอื่น ๆ
*ผลประกอบการปี 51 ขึ้นกับพันธมิตรใหม่ หลังสิ้นปี 50 ยังขาดทุนหนัก
นายโสฬาร กล่าวว่า หากศาลและเจ้าหนี้อนุมัติแผนการเข้ามาของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ที่จะนำเสนอในเดือนนี้ โดยบีคอนฯ จะเข้ามาถือหุ้นประมาณ 60% ที่เหลือเจ้าหนี้ 30% อีก 10% เป็นผู้ถือหุ้นเดิม และคาดว่าอีก 10 กว่าเดือนก็สามารถดำเนินการได้เลย และจะรับรู้รายได้จากการผลิตเส้นใยฯและผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาในปลายปีนี้ ซึ่งต้องมีกระบวนการลดทุนก่อนเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นใหม่
ส่วน TUNTEX จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้เมื่อไรนั้น ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์จะต้องมีกำไรสุทธิ 3 งวดติดต่อกัน โดยหากมองตามตัวเลขประมาณการ คาดว่าอีกไม่กี่เดือนรายได้หลังปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ก็จะเริ่มเข้ามา อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นที่ควบคุมไม่ได้ เช่น โครงการขยายการผลิตจะทำได้ตามกำหนดเวลาหรือไม่ รวมทั้งต้นทุนราคาน้ำมัน
นายโสฬาร กล่าวว่า ผลประกอบการปี 50 บริษัทยังอยู่ในภาวะขาดทุนสุทธิ โดยงวดไตรมาส 2/50(สิ้นสุด มิ.ย.50)ขาดทุนสุทธิ 351.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 57.66 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการขายงวด 6 เดือนปี 50 ลดลง 2,521 ล้านบาท หรือ 90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทลดกำลังการผลิตลง ปัจจุบัน TUNTEX มียอดขาดทุนสะสมอยู่หลายพันล้านบาท
ส่วนปี 51 หากผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาช้าก็อาจจะยังขาดทุนอยู่ หรือหากเข้ามาเร็วแต่ไม่สามารถทำกำไรได้ตามที่กำหนดไว้ก็อาจจะขาดทุน เพราะฉะนั้นอยู่ที่ปัจจัยภายนอกเป็นประเด็นสำคัญ
"ปัจจัยที่จะเข้ามากระทบตอนนี้ วัตถุดิบราคาสูงขึ้น แต่กลุ่มบีคอนฯคงมีความเชื่อมั่นว่าสามารถคุ้มราคาวัตถุดิบได้จึงเข้ามาลงทุน" นายโสฬาร กล่าว
*เผยยังมีพันธมิตรต่างชาติอีก 2-3 รายรอเสียบ หากปิดดีล"บีคอนฯ"ไม่ลง
นายโสฬาร กล่าวว่า หากการเจรจากับบีคอนฯ ไม่สามารถตกลงกันในท้ายที่สุด หรือเจ้าหนี้ไม่อนุมัติการเข้ามาของบีคอนฯ บริษัทก็ยังมีทางเลือกที่จะเจรจากับผู้ประกอบการจากต่างประเทศรายอื่นที่เสนอตัวเข้ามาเป็นพันธบัตร ซึ่งมีอีก 2-3 ราย
"ถ้าเจ้าหนี้ไม่อนุมัติก็มีกลุ่มพันธมิตรอื่นเข้ามาที่ให้ความสนใจอยู่ คงจะอยู่ในแนวธุรกิจนี้อยู่ เพียงแต่ติดเงื่อนไขบางประการที่ยังตกลงกันไม่ได โดยพันธมิตรจะเป็นต่างชาติทั้งหมดประมาณ 2-3 ราย แต่ต้องให้ case นี้จบไปก่อนถึงจะเจรจารายใหม่" นายโสฬาร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ