(เพิ่มเติม) THAI ตั้งเป้ารักษา Cabin Factor ใน Q2-3/62 ที่ 80% แม้ต้องแข่งขันราคารุนแรง, เปิดขายสินค้าผ่าน E-Commerce ก.ย.62

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 16, 2019 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายจะรักษาอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในช่วงไตรมาส 2-ไตรมาส 3 ปีนี้ ให้อยู่ระดับ 80% ใกล้เคียงกับระดับ 80.3% ในไตรมาส 1/62 แม้ว่าอาจะกระทบกับกำไรต่อหน่วย (Yield) เพราะทุกสายการบินก็ยังแข่งขันด้านราคาอยู่ ทั้งการแข่งขันในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นช่วงโชว์ซีซั่น ขณะที่บริษัทจะไม่มีการลงทุนใหม่ใน 2 ไตรมาสนี้ ซึ่งทำให้ยังคาดหวังว่าทั้งปี 62 ปีนี้จะสามารถพลิกมีกำไรสุทธิ

"การบินไทยมีข้อจำกัดแต่สิ่งที่รักษาไว้คือคง Cabin Factor ให้ได้ เพื่อให้ Fixed Cost ให้คุ้ม ส่วน Cargo ทยอยจัดการ เริ่มมีผลกระทบจาก Trade War ตั้งแต่ปลายปี 61"นายสุเมธ กล่าว

นายสุเมธ กล่าวว่า ในปี 62 บริษัทได้มุ่งเน้นการสร้างรายได้เสริมภายใต้โครงการ "มนตรา" ซึ่งเป็นโครงการฟื้นฟูการบินไทยแบบเร่งด่วน ตลอดจนกลยุทธ์การดำเนินงานอื่น ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งได้เริ่มดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ต้นปี โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือทำให้การบินไทยหลุดพ้นจากวงจรของกับดักปัญหา และสามารถมีผลประกอบการที่มั่นคงต่อไปในอนาคต โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ บูรณาการด้านบริหารจัดการการบินไทยและไทยสมายล์ การบริหารจัดการด้านการขายและการตลาด หารายได้เสริม และเพิ่มรายได้ในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการบิน เป็นต้น

โดยการบินไทยได้หารายได้เสริมที่เป็นธุรกิจไม่เกี่ยวเนื่องการบิน ในระหว่างที่ยังไม่สามารถขยายการเติบโตของรายได้จากตั๋วโดยสาร ได้แก่ ครัวการบิน ซึ่งได้ตั้งเป้ารุกตลาดมากขึ้น โดยในไตรมาส 1/62 สามารถทำกำไรได้ 70 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทเตรียมเปิดตัวธุรกิจ E-Commerce ที่คาดจะเริ่มในเดือนส.ค.-ก.ย.นี้ ซึ่งจะจำหน่ายผ่านเว็บไซด์การบินไทยและแอพพลิเคชั่นบนมือถือ โดยลูกค้าเป้าหมายเป็นลูกค้าการบินไทยกว่า 20 ล้านคน บริษัทคาดว่าจะมีกำไรปีละ 100-500 ล้านบาท

"รายได้เสริมจึงมีความจำเป็นในช่วง 2-3 ปีนี้ ธุรกิจ E-Commerce เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุนอะไร เราทำตัวเป็น Market Place"

นายสุเมธ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ของการบินไทยในขณะนี้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนฝูงบินได้ โดยปัจจุบันมีอยู่ 103 ลำ แต่ใช้ได้จริง 90 ลำ แบ่งเป็นของไทยสมายล์ 20 ลำ และของการบินไทย 70 ลำ โดยในส่วนเครื่องบินที่ใช้งานได้ของการบินไทยลดลงเมื่อทียบจากปีก่อนที่มี 74 ลำ ส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบจากกรณีเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ Trent 1000 ต่อเนื่องจากปีก่อน และการจอดเครื่องบินเพื่อทำการซ่อมบำรุงตามตารางการซ่อมปกติ

ดังนั้น อัตราการใช้ประโยชน์จากเครื่องบิน (Aircraft Utilizaion) เพิ่มขึ้นเป็น 12.5 ชั่วโมง/วัน จากปีก่อน 11.9 ชั่วโมง/วัน ซึ่งนับว่าใช้เครื่องบินเต็มอัตราแล้ว บริษัทจึงเตรียมทำการเช่าเครื่องบินมาใช้รองรับก่อน 2-3 ลำ ซึ่งคาดว่าจะได้เครื่องบินมาใช้งานได้ในไตรมาส 4/62 ขณะที่โครงการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำ อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมแล้ว ก็คาดว่าจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ขณะที่ในเดือน ต.ค. บริษัทเตรียมจะเปิดเส้นทางใหม่ เมืองเซ็นได ประเทศญี่ปุ่น เพราะมองเห็นโอกาสทางการตลาดอีกด้วย

สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) นายสุเมธ กล่าวยอมรับว่า กระบวนการพิจารณามีความซับซ้อนมากกว่า โครงการอื่นของคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยการบินไทยได้หารือกับแอร์บัสเมื่อ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทางแอร์บัสก็มีข้อกังวลเงื่อนไข และการลงทุน ทั้งนี้ EEC ได้กำหนดให้แอร์บัสยื่นข้อเสนอมาที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ในวันที่ 7 มิ.ย. 62 และคาดว่าจะดำเนินการหารือร่วมกันกว่าจะได้ข้อสรุปปลายปีนี้

นายสุเมธ กล่าวอีกว่า ในไตรมาส 1/62 บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 49,791 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 6.9% สาเหตุสำคัญเนื่องจากทั้งรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง เป็นผลจากปริมาณการผลิตและการขนส่งลดลง ประกอบกับรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยลดลงจากการแข่งขันที่รุนแรง และการแข็งค่าของเงินบาทต่อสกุลเงินรายได้หลัก ทำให้รายได้เมื่อคำนวณเป็นเงินบาทลดลง อย่างไรก็ดี รายได้จากการบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้น 6.2%

ส่วนไตรมาสนี้มีค่าใช้จ่ายรวม 50,619 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.0% โดยมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจากการเปลี่ยนประมาณการมูลค่าคงเหลือของเครื่องบินและเครื่องยนต์ ค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่เพิ่มจากการรับมอบเครื่องบินเช่าดำเนินงานในระหว่างปี 2561 จำนวน 3 ลำ และการเช่าเครื่องยนต์อะไหล่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

บริษัทและบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน จำนวน 213 ล้านบาท และกำไรจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินลงทุนในบมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) จำนวน 273 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 1,366 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าทางบัญชี ส่งผลให้บริษัท และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 445 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,717 ล้านบาท

ด้านนายวิวัฒน์ ปิยะวิโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ THAI กล่าวว่า ภาวะการแข่งขันของธุรกิจสายการบินรุนแรง แต่การบินไทยจะออกแคมเปญในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ที่เป็นช่วงโลว์ซีซัน ได้แก่ Youth Fair รอบ2 โครงการนำไมล์แลกตั๋วโดยสาร แคมเปญเที่ยวเมืองรอง แคมเปญ ASEAN Connect คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการเดินทาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ