(เพิ่มเติม) PTTEP เปิดตัว "เออาร์วี" รุกลงทุนปี 62-64 ราว 1.6 พันลบ. วางเป้าผู้นำ AI ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใน 3-5 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 17, 2019 17:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. เปิดตัวบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ให้บริการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ พร้อมมุ่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่ และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม โดยเออาร์วี จะมีการลงทุนในระยะแรก (ปี 62-64) ประมาณ 1.6 พันล้านบาท มีเป้าหมายเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในระยะเวลา 3-5 ปี

"เออาร์วี เป็นการเดินหน้ายุทธศาสตร์การลงทุนในธุรกิจใหม่ของปตท.สผ. เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล โดยต่อยอดจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้สนับสนุนกิจการการสำรวจพัฒนาและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับปตท.สผ. เออาร์วียังสามารถยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากด้านพลังงาน"นายพงศธร กล่าว

นายพงศธร กล่าวอีกว่า ปตท.สผ.ได้ลงนามสัญญาเพื่อเช่าที่ดินวังจันทร์วัลเลย์ ในจ.ระยอง ของบมจ.ปตท. (PTT) รวม 44.3 ไร่ เป็นระยะเวลา 30 ปี มูลค่าสัญญา 840 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (PTTEP Technology and Innovation Centre:PTIC) ในการสนับสนุนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ธุรกิจด้านพลังงานใหม่ โดยพื้นที่ในส่วนนี้จะให้เออาร์วี เข้าไปใช้ประโยชน์และใช้ทดสอบประสิทธิภาพของนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ

ขณะที่ในอนาคตอาจจะย้ายศูนย์วิจัยฯที่วังน้อยของ ปตท.สผ.ไปอยู่ในวังจันทร์วัลเลย์ด้วย เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐและกระตุ้นในเกิดการลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ในโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)

ส่วนความคืบหน้าการได้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) สำหรับแหล่งบงกชและเอราวัณ ในอ่าวไทยนับตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นไปนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณในปัจจุบัน เพื่อเข้าพื้นที่ในแหล่งเอราวัณ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1 เดือน

ด้านธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป เออาร์วี กล่าวว่า เออาร์วี มีเป้าหมายระยะยาวในการเป็นแพลตฟอร์มเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งจากภาคการศึกษา อุตสาหกรรม รวมถึงสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาบุคลากร ที่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจในยุคนี้และในอนาคต

หนึ่งในเทคโนโลยีล่าสุดที่เป็นผลจากความร่วมมือของเออาร์วีและพันธมิตรจากประเทศนอร์เวย์ คือ หุ่นยนต์ซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำ (Subsea Flowline Control and Repair Robot :SFCR) ตัวแรกของโลก ที่สามารถตรวจสอบและซ่อมท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำได้โดยอาศัยการควบคุมจากระยะไกล ช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในงานซ่อมแซมได้กว่าครึ่งจากการทำงานรูปแบบเดิม และลดความเสี่ยงของทรัพยากรบุคคล

นอกจากนี้ เออาร์วี ยังให้บริการและอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีอื่น ๆ สำหรับการปฏิบัติงานทั้งบนบก ในทะเล และทางอากาศ เช่น หุ่นยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติไร้สาย (Inspection-class Autonomous Underwater Vehicle - IAUV) สำหรับตรวจสอบอุปกรณ์ใต้น้ำได้โดยอัตโนมัติ เช่น ตรวจสอบท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำและโครงสร้างของแท่นผลิตปิโตรเลียมใต้ทะเล เพื่อป้องกันการชำรุด โดยไม่ต้องอาศัยเรือสนับสนุนหรือเจ้าหน้าที่บังคับ หุ่นยนต์ตรวจสอบภายในท่อ (In-pipe Inspection Robot - IPIR) เพื่อใช้สำรวจสภาพภายในท่อปิโตรเลียมที่มีพื้นที่จำกัด สามารถประมวลผลเป็นภาพ 3 มิติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ และอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle - UAV) หรือโดรน สำหรับตรวจสอบอุปกรณ์ในที่สูง ถ่ายภาพทางอากาศ และยังสามารถใช้บินสำรวจพื้นที่เกษตรกรรม ช่วยวิเคราะห์พืชผลเพื่อเพิ่มผลผลิต

"เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ช่วยให้ธุรกิจก้าวข้ามข้อจำกัดของการทำงานในรูปแบบเดิม และสร้างข้อได้เปรียบใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดระยะเวลาและต้นทุนในการดำเนินงาน เพิ่มความแม่นยำ ความคล่องตัว ด้วยความสามารถประมวลผลข้อมูล วิเคราะห์และตัดสินใจเองได้ และเพิ่มความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน เช่น การทำงานแทนมนุษย์ในพื้นที่เสี่ยง นอกจากนี้ การพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน ทำให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้กับธุรกิจที่หลากหลาย"นายธนา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ