(เพิ่มเติม) RATCH ตั้งเป้าพอร์ตลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในปี 66 อยู่ที่ 20% พร้อมหาพันธมิตรทำโรงไฟฟ้าตะวันตกใหม่จบใน Q2/62

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 23, 2019 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ ขยายฐานการเติบโตจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าไปยังระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยตั้งเป้าลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในปี 66 อยู่ที่ประมาณ 20% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด เพื่อรองรับโอกาสการลงทุนภายในประเทศจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานและการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยบริษัทยังคงกำหนดให้ธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นธุรกิจหลัก

ทั้งนี้ บริษัทมั่นใจในศักยภาพและมีความพร้อมที่จะลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกิจการของบริษัทให้บรรลุเป้าหมายที่ 2 แสนล้านบาทในปี 66

"นับจากปีนี้การลงทุนของบริษัทจะมุ่งไปที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเป็นสำคัญ โดยโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจในประเทศไทยมีมากขึ้นจากแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงเชื่อมโลกของยุทธศาสตร์ชาติ แผนการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนและส่งเสริมการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานและระบบการจัดการที่เสริมความมั่นคงของระบบพลังงงาน รวมทั้งแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2561-2580 "นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าว

นายกิจจา กล่าวว่า แผนงานปี 62 บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1-2 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการที่มีอยู่ในมือ และการเข้าซื้อกิจการหรือร่วมลงทุนใหม่ ที่มีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือปีละ 700 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าที่มีอยู่และจะทยอยหมดอายุ โดยปีนี้คาดว่าจะมีการลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่และขนาดเล็กในไทย 2 โครงการ โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงภาคตะวันตก ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018) ตั้งอยู่ในจ.ราชบุรี 2 โครงการ กำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 67-68

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงภาคตะวันตก คาดว่าจะอยู่ภายใต้ชื่อโรงไฟฟ้าหินกอง 1 และ 2 คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนราว 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5 แสนเหรียญสหรัฐ/เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาพันธมิตรร่วมลงทุนและเจรจาทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/62 โดยการที่บริษัทจำเป็นต้องหาพันธมิตรร่วมโครงการเนื่องจากต้องการหาพันธมิตรที่มีความเข้มแข็งและสามารถ Synergy ด้านอื่น ๆ ร่วมกันในอนาคต ซึ่งพันธมิตรดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจไฟฟ้าและเชื้อเพลิง โดยคาดว่าโครงการนี้จะให้อัตราผลตอบแทนการลงทุนในระดับตัวเลข 2 หลัก นอกจากนี้ยังมองโอกาสลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ในประเทศที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วเพิ่มเติมด้วย

สำหรับแผนการลงทุนในต่างประเทศปีนี้ อยู่ระหว่างการศึกษารายละอียดและเจรจาการร่วมทุนกับพันธมิตรในต่างประเทศ อีก 6 โครงการ ได้แก่ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สปป.ลาว และ เวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปการลงทุนได้อย่างน้อย 1-2 โครงการในไตรมาส 2/62

ขณะเดียวกันบริษัทยังมองโอกาสการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มเติม จากตามแผน PDP2018 ที่จะเปิดให้กฟผ.มีโอกาสสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนและโรงไฟฟ้าใหม่รวมประมาณ 8 โรง ซึ่งบริษัทก็อยู่ระหว่างเจรจากับกฟผ.ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการลงทุนดังกล่าวด้วย ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ และยังมองโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อจ่ายไฟฟ้ากลับมาในไทยด้วย

ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือตามสัดส่วนร่วมทุน 7,526.86 เมกะวัตต์ ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย,ลาว ,ออสเตรเลีย ,จีน และอินโดนีเซีย โดยเป็นโครงการที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว 6,860.34 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งในปีนี้จะมีโรงไฟ้า 3 แห่งที่จะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์และรับรู้รายได้ รวมกำลังผลิตติดตั้งตามการถือหุ้นรวม 179.73 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คอลลินส์วิลล์ ออสเตรเลีย ที่เริ่มผลิตแล้ว , โรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น จะเริ่มผลิตในเดือนมิ.ย.62 และโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ในลาว คาดว่าจะเริ่มผลิตในช่วงปลายปี 62

นายกิจจา กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายในปี 66 จะมีมูลค่ากิจการรวม 2 แสนล้านบาท และมีกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนร่วมทุนรวม 10,000 เมกะวัตต์เทียบเท่า โดยพอร์ตการลงทุน 80% จะมาจากการผลิตไฟฟ้าและพลังงาน ส่วนอีก 20% จะมาจากระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยมีสัดส่วนรายได้ที่เป็นสกุลเงินบาท 50% และสกุลเงินต่างประเทศ 50% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 73:27

ทั้งนี้ การที่บริษัทวางพอร์ตการลงทุนสำหรับระบบสาธารณูปโภคในระดับดังกล่าว เพราะมองโอกาสระยะยาวที่จะสร้างรายได้ประจำ (Recurring income) ให้กับบริษัท หลังในระยะสั้นโอกาสเกิดโรงไฟฟ้าใหม่ในประเทศมีค่อนข้างจำกัด ขณะที่แผนยุทธศาสตร์ของชาติ มุ่งเน้นสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยปัจจุบันบริษัทมีการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานแล้ว โดยการร่วมกับพันธมิตรในนามกลุ่ม BSR ที่มีผู้ร่วมทุนคือบริษัท ,บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู รวมถึงร่วมกับบมจ.เอแอลที เทเลคอม (ALT) ในโครงการโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงใต้ดินในไทยและมองโอกาสที่จะขยายไปยังลาวด้วย และร่วมกับพันธมิตรในลาว ทำโครงการผลิตน้ำประปาแสนดินในลาว

สำหรับแผนงานระยะต่อไป บริษัทให้ความสนใจกับกลุ่มพันธมิตรเดิมคือ BSR ในการเข้าลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ ที่จะออกประมูล โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม และแดงอ่อน อยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะที่ในส่วนของถนนมอเตอร์เวย์ ที่ในอนาคตรัฐบาลมีแผนลงทุนรวมประมาณ 6,000 กิโลเมตร ก็ทำให้เป็นโอกาสในการเข้าลงทุน ซึ่งในระยะสั้นให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลงานดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81)

รวมทั้งให้ความสนใจลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) และโทรคมนาคม และการจัดการน้ำเสียอุตสาหกรรม ตลอดจนการจัดการด้านพลังงาน ปัจจุบันกำลังเจรจากับกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างในนิคมอุสาหกรรมนวนคร

ด้านนางวดีรัตน์ เจริญคุปต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงิน ของ RATCH คาดว่ากำไรสุทธิของบริษัทในปีนี้จะเติบโตกว่าระดับ 5.59 พันล้านบาทในปีที่แล้ว หลังในไตรมาสแรกสามารถทำกำไรสุทธิได้แล้ว 1.74 พันล้านบาท และในช่วงที่เหลือของปีนี้กำไรยังดีต่อเนื่องจากการรับรู้กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ในมือที่จะทยอยเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ 3 แห่งในปีนี้ และการเข้าร่วมลงทุนหรือซื้อกิจการ ในโครงการใหม่ทั้งในและต่างประเทศที่อยู่ระหว่างเจรจา ซึ่งจะมีทั้งโครงการที่เดินเครื่องผลิตแล้ว และโครงการที่ยังไม่ได้เริ่มพัฒนา

ส่วนเงินลงทุนที่ตั้งไว้ 1-2 หมื่นล้านบาทในแต่ละปีนั้น รองรับกับแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือ และโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะพัฒนาในอนาคตด้วย โดยแหล่งเงินลงทุนส่วนหนึ่งจะมาจากกระแสเงินสดและเงินกู้ ขณะที่การได้โครงการโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 1,400 เมกะวัตต์นั้น ในช่วงแรกยังไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก เพราะจะเป็นการดำเนินการเพื่อจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และเตรียมเจรจางานก่อสร้างและกู้เงิน โดยคาดว่าจะเริ่มใช้เงินมากขึ้นในช่วงที่เริ่มก่อสร้างในปี 64


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ