AIE คาด Q3/62 พลิกมีกำไรชัดเจนหลังออร์เดอร์ไบโอดีเซลเพิ่ม-ต้นทุนลดลง-เปิดเดินเครื่อง รง.กลีเซอรีนบริสุทธิ์

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 29, 2019 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ ธารีรัตนาวิบูลย์ ประธานกรรมการ บมจ.เอไอ เอนเนอร์จี (AIE) กล่าวว่า บริษัทคาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 3/62 จะพลิกกลับมามีกำไรอย่างชัดเจนขึ้น หลังจากหุ้นของบริษัทได้กลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับคู่ค้าทางธุรกิจของบริษัท

ประกอบกับ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจของบริษัทปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะจากต้นทุนวัตถุดิบลดลง จากผลของการบริหารจัดการวัตถุดิบได้ดีขึ้น โดยขณะนี้ราคาน้ำมันปาล์มดิบที่เป็นวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิตเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีความผันผวนและปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากราคาราว 31 บาท/กิโลกรัม (กก.) ลงมาอยู่ที่ 15 บาท/กก.ในเดือน เม.ย.62 และกำลังเข้าสู่ช่วงขาขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับรูปแบบการจัดเก็บวัตถุดิบลดปริมาณสต็อกเหลือเพียง 30-45 วันเพียงพอกับการผลิตและจัดส่งสินค้าในแต่ละเดือน จากเดิมที่มีสต็อกไว้ 3 เดือน ด้วยการขายแทงก์ฟาร์มที่ จ.ชุมพร ออกไป และสั่งซื้อวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ให้มาส่งที่หน้าโรงงานที่สมุทรสาครโดยตรง เพื่อลดความเสี่ยงการขาดทุนสต็อก เพราะเป็นสาเหตหลักที่ทำให้บริษัทมีผลดำเนินงานขาดทุนสุทธิในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่นโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล ซึ่งจะทำให้ความต้องการน้ำมันไบโอดีเซลทั้งประเทศเพิ่มขึ้น จาก 4 ล้านลิตรต่อวัน (B7) เป็น 6 ล้านลิตรต่อวัน (B10) ส่งผลดีต่อยอดคำสั่งซื้อไบโอดีเซลของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันยอดผลิตไบโอดีเซลของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว 40% จากปีก่อนที่ผลิตอยู่ราว 2 แสนลิตร/วัน โดยโรงงานมีกำลังการผลิตเต็มที่อยู่ที่ 6 แสนลิตร/วันสามารถรองรับคำสั่งซื้อที่จะเพิ่มเข้ามาได้อีกมาก นอกจากนั้น ยังมีโอกาสส่งออกไบโอดีเซลไปขายต่างประเทศด้วย ซึ่งขณะนี้ได้มีลูกค้าจากจีนแสดงความสนใจเข้ามาบ้างแล้ว

บริษัทยังได้ลงทุนเพิ่มเติมราว 400 ล้านบาทในธุรกิจผลิตและจำหน่ายกลีเซอรีนบริสุทธิ์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลพลอยได้กลีเซอรีนดิบที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งมีกำลังการผลิตที่ 100 ตันกลีเซอรีนบริสุทธิต่อวัน (pharmaceutical grade) คาดว่าจะสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 2/62 บริษัทประเมินว่าจะสามารถเพิ่มกำไรขั้นต้นรวมของบริษัทได้ประมาณ 5-10% ในแต่ละไตรมาส

นอกจากนั้น ด้วยกำลังการผลิตของโรงงานผลิตกลีเซอรีนบริสุทธิ์ ทำให้บริษัทต้องมีการนำเข้ากลีเซอรีนดิบเพิ่มเติมจากส่วนที่ได้จากการผลิตไบโอดีเซลของบริษัท บริษัทจึงกำหนดนโยบายใช้บริการขนส่งทางเรือของ บริษัท เอไอ โลจิสติกส์ จำกัด (AIL) ในการนำเข้ากลีเซอรีนดิบจากต่างประเทศ และจัดเก็บกลีเซอรีนดิบที่คลังน้ำมันของ บริษัท เอไอ พอร์ตส์ แอนด์ เทอร์มินัลส์ จำกัด (AIPT) ในจ.ชุมพร อีกครั้งในไตรมาส 3/62 ซึ่งแผนกลยุทธ์การใช้บริการบริษัทย่อยดังกล่าว บริษัทคาดว่าจะสามารถลดภาวะขาดทุนของบริษัทได้

นายณรงค์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังมีแผนจะเปิดให้บริษัทนอกกลุ่ม AIE เข้ามาใช้บริการท่าเรือและเรือขนส่งของเหลวของบริษัทด้วย โดยท่าเรือของ AIE สามารถรองรับเรือขนาด 2,500 เดทเวทตันได้คราวละ 2 ลำ ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีการวางท่อส่งของเหลวไปยังแท่นเทียบเรือทำให้สะดวกกับการขนถ่ายสินค้า ขณะที่บริษัทมีเรือขนาด 2,500 เดทเวทตัน 1 ลำที่สามารถให้บริการได้

พร้อมกันนั้นบริษัทยังศึกษาการทำธุรกิจเทรดดิ้งเพื่อเสริมรายได้ โดยจะนำสินค้าของบริษัทหรือวัตถุดิบอื่น ๆ ที่เป็นของเหลว เช่น น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดปาล์ม ออกไปขายในต่างประเทศในระหว่างที่เดินเรือออกไปรับวัตถุดิบกลีเซอรีนจากมาเลเซียเข้ามาป้อนให้กับโรงงานของบริษัท

นายณรงค์ เปิดเผยอีกว่า สัดส่วนรายได้ของบริษัทจะปรับเปลี่ยนไปจากเดิมหลังจากมีธุรกิจกลีเซอรีนเข้ามา โดยคาดว่ากลีเซอรีนจะมีสัดส่วนรายได้ราว 10-20% ขณะที่สัดส่วนรายได้จากไบโอดีเซลจะลดลงเหลือราว 60% จากเดิม 80% ธุรกิจผลิตน้ำมันพืชเพื่อบริโภคยังคงเดิมที่ 10% เช่นเดียวกับธุรกิจรับจ้างผลิตที่ 5% ส่วนที่เหลือจะมาจากเป็นธุรกิจเดินเรือและท่าเรือ รวมทั้งบริษัทคาดว่าอัตรากำไรสุทธิจะปรับตัวดีขึ้นจากที่ติดลบในปี 61 โดยปีนี้น่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกราว 3% และในปีหน้าน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5%

สำหรับกรณีที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สั่งให้บริษัทหยุดการซื้อหุ้นหลักทรัพย์ คือผู้สอบบัญชีเดิมไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินประจำปี 2557 (ก่อนปรับปรุงใหม่) ของ AIE และบริษัทย่อยนั้น ปัจจุบัน บริษัทได้นำส่งงบการเงินประจำปี 57 งบการเงินไตรมาสที่ 1-3 ปี 58 และงบการเงินประจำปี 58 ครบถ้วนแล้ว รวมทั้งบริษัทสามารถนำส่งงบการเงินภายในเวลาที่กำหนดอย่างน้อย 2 งวดติดต่อกัน เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 1/61 จนถึงงบการเงินไตรมาสที่ 1/62 โดยผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นต่องบการเงินแบบมีเงื่อนไขที่ไม่เกี่ยวกับข้อบกพร่องในระบบควบคุมภายใน และไม่ถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบโดยผู้บริหาร โดยมีผู้สอบบัญชีรายใหม่ คือ บริษัท เอเอ็นเอส ออดิท จำกัด (ANS)

ทั้งนี้ บริษัทแต่งตั้งบริษัท ออนเนอร์ ออดิท แอนด์ แอดไวซอรี่ จำกัด (Honor หรือ IA) ทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบภายในโดยการตรวจสอบพิเศษ (Special Audit) ทำการตรวจสอบเอกสารประกอบในการจัดทำงบการเงินประจำปี 57 ที่มีปัญหา ซึ่ง Special Audit พบข้อบกพร่องของระบบควบคุมภายในตามที่ผู้สอบบัญชีเดิมได้รายงานข้อเท็จจริงไว้ เนื่องจากข้อมูลมีความสอดคล้องและเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกัน จากการเปรียบเทียบรายการซื้อวัตถุดิบเพื่อผลิตและการรับวัตถุดิบเพื่อการรับจ้างผลิตกับรายงานขายสินค้าและส่งสินค้าของการรับจ้างผลิต พบว่ามีการส่งมอบสินค้ารับจ้างผลิตเกินกว่าปริมาณวัตถุดิบที่ได้รับจากผู้ว่าจ้างผลิต ซึ่งฝ่ายบัญชีของบริษัทได้ปรับปรุงรายการบันทึกบัญชีจากเดิมบันทึกบัญชีรายการผลิตเพื่อขาย เป็นรายการรับจ้างผลิต ส่งผลให้ปี 57 บริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิลดลงจากเดิม 96.88 ล้านบาท เป็น 90.67 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเปลี่ยนแปลง 6.20% ไม่ส่งผลกระทบต่องบการเงินอย่างมีสาระสำคัญ และผลกระทบดังกล่าวไม่ทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทต่ำกว่าศูนย์

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับผลผลิต (production yield) จากการผลิตไบโอดีเซลที่ต่ำกว่าปกติ ที่ ANS ได้ตรวจพบในปี 58 นั้น จากการตรวจสอบของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พบว่าปริมาณน้ำมันที่สูญเสียไปในส่วนกระบวนการล้างน้ำสอดคล้องกับ Yield การผลิตน่ำมันที่บริษัทรายงาน ส่วนการสูญเสียน้ำมันหายไปในกระบวนการที่ส่งผลให้ Yield ลดต่ำผิดปกติสันนิษฐานจากการแยกชั้นไม่สมบูรณ์ ซึ่ง ANS ได้ทดสอบการคำนวณและตรวจสอบหลักฐานประกอบ ข้อมูลการผลิตที่เกี่ยวข้องพบว่าเป็นไปตามคำอธิบายของฝ่ายบริหาร

AIE ชี้แจงผ่าน ตลท.ถึงผลประกอบการปี 61 บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการรวม 1,562.80 ล้านบาท ลดลง 723.45 ล้านบาท คิดเป็น 31.64% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน และงวด 3 เดือนสิ้นสุด 31 มี.ค.62 เท่ากับ 424.02 ล้านบาท ลดลง 18.04 ล้านบาท คิดเป็น 4.08% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

ในปี 61 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 72.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.04 ล้านบาท คิดเป็น 0.06% เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบปรับตัวต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทได้รับรู้ผลขาดทุนจาก Stock loss ซึ่งได้บันทึกค่าเผื่อมูลค่าสินค้าลดลง (NRV) ณ 31 ธ.ค.61 จำนวน 2.75 ล้านบาท รวมถึงการตั้งด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อย (AIL) จำนวน 17.31 ล้านบาท และค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 2.78 ล้านบาท

สำหรับงวด 3 เดือนแรกของปี 62 สิ้นสุด 31 มี.ค.62 ขาดทุนสุทธิ 43.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.40 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนขายปรับตัวเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน การปรับราคาลงของน้ำมันปาล์มดิบในไตรมาส 1/62 อยู่ในช่วง 17.00-14.75 บาท ในขณะที่ ไตรมาส 1/61 อยู่ในช่วง 21.00-19.50 บาท ทำให้บริษัทรับรู้ผลขาดทุนจาก Stock loss


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ