BGRIM เจรจาซื้อโรงไฟฟ้า SPP 2-3 รายคาดชัดเจน Q3/62, จ่อขยายลงทุนเวียดนามเพิ่ม คาดกำลังผลิตรวมเข้าเป้าเร็วกว่ากำหนด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 29, 2019 13:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาซื้อโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ในประเทศจากผู้ขายที่สนใจขายให้กับบริษัท 2-3 ราย ขนาดกำลังการผลิตแห่งละ 100 เมกะวัตต์ ใกล้โรงไฟฟ้าในจังหวัดอ่างทอง โดยคาดว่าการเจรจาจะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 3/62 โดยสาเหตุที่มีผู้ติดต่อมาขาย SPP ให้กับบริษัท เพราะผู้ขายไม่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนา และเห็นว่าบริษัทเป็นผู้นำในการพัฒนาโรงไฟฟ้า SPP จึงตัดสินใจเข้ามาเจรจาขายให้กับบริษัท

สำหรับโอกาสการลงทุนในต่างประเทศนั้น บริษัทมีความสนใจเข้าลงทุนโครงการพลังงานลมและก๊าซธรรมชาติในเวียดนามเพิ่มเติม เนื่องจากบริษัทมองเห็นว่าในประเทศเวียดนามมีโครงการพลังงานลมและก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ทำให้มีโอกาสที่บริษัทจะเข้าไปขยายการลงทุนเพิ่มเติม หลังจากที่โครงการ Dau Tieng Tay Ninh Energy Solar (DT1) กำลังการผลิต 180 เมกาวัตต์ จะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงต้นเดือนมิ.ย.นี้ และโครงการ DT2 กำลังการผลิต 240 เมกาวัตต์ จะเริ่ม COD ในช่วงกลางเดือนมิ.ย.นี้

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจาซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในมาเลเซีย กำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนที่แน่ชัดในขณะนี้ โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว ส่วนโครงการพลังงานลมในประเทศเกาหลีใต้นั้นหลังจากที่บริษัทได้รับใบอนุญาตมาแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างกำลังการผลิต 36 เมกะวัตต์ โดยที่จะ COD ในช่วงปี 63

ส่วนโอกาสการลงทุนโครงการพลังงานอื่นๆ นั้น บริษัทยังคงมองโอกาสการลงทุน LNG ในประเทศไทย แต่ยังต้องรอการเปิดเสรีก่อน เพราะจะทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิง LNG ในประเทศถูกลง ซึ่งเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่บริษัทจะตัดสินใจเข้าไปลงทุน พร้อมกับบริษัทยังมีการเปิดรับการเจรจาของการซื้อโรงไฟฟ้า SPP ในประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมอีก หากมีผู้สนใจเข้ามาเจรจาขายให้กับบริษัท

ด้านเป้าหมายกำลังการผลิตรวม 5,000 เมกะวัตต์ ที่บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ถึงภายในปี 68 นั้นมีโอกาสที่จะทำได้เร็วกว่ากำหนด เนื่องจากในสิ้นปี 62 บริษัทจะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมแตะ 3,063 เมกะวัตต์ จากปีก่อนที่ 2,076 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่ามีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และบริษัทยังมีโครงการอื่นๆที่อยู่ในแผนทั้งอยู่ระหว่างศึกษาและการเจรจา ทำให้โอกาสของเป้าหมายกำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ ทำได้เร็วกว่าเป้าหมายเป็นไปได้มากเช่นเดียวกัน

นางปรียนาถ กล่าวถึงแนวโน้มรายได้ในปี 62 บริษัทยังมั่นใจทำได้ตามเป้าหมายเติบโต 15-20% จากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 3.72 หมื่นล้านบาท โดยที่มีปัจจัยสนับสนุนรายได้มาจากการมีกำลังการผลิตที่ COD เพิ่มขึ้นอีก 987 เมกะวัตต์ในปีนี้ จากโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมด 6 โครงการ ในไทย ลาว และเวียดนาม ซึ่งทำให้ปีนี้มีกำลังการผลิตรวมที่ COD แล้วเพิ่มมากเป็น 3,063 เมะวัตต์ จากปีก่อน 2,076 เมกะวัตต์ ทำให้รายได้ของบริษัทมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ