ก.ล.ต.จับมือ กสม.ผลักดัน บจ.-ภาคธุรกิจปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนภาคสมัครใจเชื่อช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาต่างชาติ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 31, 2019 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.มีบทบาทสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียน บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ และผู้ประกอบธุรกิจดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนโดยคำนึงหลักธรรมาภิบาล รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้ลงนามในข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อร่วมกันประกาศเจตนารมย์ในการส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้ให้บริษัทจดทะเบียนและผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของก.ล.ต.ตระหนักถึงการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน โดยให้ความสำคัญกับการนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิมธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UNGPs) ซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก นำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมขออแต่ละธุรกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับการเซ็น MOU ในครั้งนี้จะมีระยะเวลา 3 ปี (ปี 62-64) เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ มีการเคารพสิทธิมนุษยชน และมีกิจกรรมส่งเสริม ให้ความรู้เรื่องสิมธิมนุษยชนกับทุกคนในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม

นางสาวรื่นวดี กล่าวว่า การปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนของผู้ประกอบการต่างๆนั้น ทางก.ล.ต.จะยังไม่บรรจุเป็นหนึ่งในหลักการปฏิบัติที่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน โดยจะเปิดให้ปฏิบัติตามความสมัครใจของผู้ประกอบการ ซึ่งทาง ก.ล.ต.จะมีแบบประเมินวัดผลให้กับทางผู้ประกอบการ และจะมีแบบฟอร์มขอรับประกาศนียบัตรจากทางก.ล.ต.เพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่าบริษัทนั้นได้ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนตามหลักการแล้ว โดย ก.ล.ต.ได้ร่วมมือกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนในการเผยแพร่หลักการสิทธิมนุษยชนให้กับสมาชิกได้รับทราบ ซึ่งปัจจุบันประเทศอยู่ในอันดับ 1 ของอาเซียน เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนตามหลักของ UNGPs

"การที่ก.ล.ต.เดินหน้าในการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ถูกต้อง จะช่วยให้การมองจากสายตาคนต่างชาติเป็นไปในเชิงบวก และช่วยสนับสนุนให้มีการทำธุรกิจที่ไม่ถูกกีดกันทางการค้าอย่างที่ไทยเคยโดนในเรื่องของประมงในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น พร้อมกับการตอบโจทย์ความยั่งยืนในการทำธุรกิจ"นางสาวรื่นวดี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ