(เพิ่มเติม) กสทช. เปิดรับคำขอใบอนุญาตและจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz วันนี้ DTAC-ADVANC-TRUE เข้ายื่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 19, 2019 13:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (19 มิ.ย.) ตั้งแต่เวลา 8.30 น.สำนักงาน กสทช.เปิดรับคำขอใบอนุญาตและจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 703-733/758-788 เมกะเฮิรตซ์ หรือคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) โดยยังมั่นใจว่าผู้ประกอบการโทรคมนาคม ทั้ง 3 ราย ได้แก่ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส , บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือ ดีแทค และบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) จะเข้ามายื่นคำขอใบอนุญาต และเข้ารับจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz ครบทั้ง 3 รายอย่างแน่นอน โดยทั้ง 3 รายเข้ามาขอรับคำขอรับใบอนุญาตคลื่น 700 MHz ได้ครบในเวลา 10.30 น.

ทั้งนี้ คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz สำนักงานกสทช. จะมีการจัดสรรจำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz รวม 30 MHz ราคาใบอนุญาตละ 17,584 ล้านบาท แบ่งการชำระเป็น 10 ปี อายุใบอนุญาต 15 ปี โดยจะแตกต่างจากการประมูลคลื่นความถี่ในทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะไม่ได้มีการประมูลเพื่อเคาะราคาแข่งขันกันแต่เป็นการจัดสรรคลื่นให้ไปเลยในราคาที่กำหนดดังกล่าว

โดยวิธีการจัดสรรชุดคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องเลือกชุดคลื่นความถี่ที่ต้องการ ได้แก่ ชุดที่ 1 ช่วงความถี่วิทยุ 703-713 MHz คู่กับ 758-768 MHz ชุดที่ 2 ช่วงความถี่วิทยุ 713-723 MHz คู่กับ 768-778 MHz และชุดที่ 3 ช่วงความถี่วิทยุ 723-733 MHz คู่กับ 778-788 MHz พร้อมใส่จำนวนผลประโยชน์ส่วนเพิ่มแก่รัฐลงในแบบฟอร์ม

ทั้งนี้ หากเกิดกรณี 1.ผู้ขอรับใบอนุญาตเพียงหนึ่งราย ผู้ขอรับใบอนุญาตสามารถเลือกชุดคลื่นความถี่ที่ต้องการจำนวนหนึ่งชุดได้เลย

2.กรณีมีผู้ขอรับใบอนุญาตตั้งแต่สองรายขึ้นไปผู้ขอรับใบอนุญาตแต่ละรายสามารถเลือกชุดคลื่นความถี่ที่ต้องการจำนวนหนึ่งชุด หากผู้ขอรับใบอนุญาตเลือกชุดคลื่นความถี่เดียวกัน สำนักงาน กสทช. จะพิจารณา ประกอบด้วย 2.1 พิจารณาจากผลประโยชน์ส่วนเพิ่มเป็นจำนวนเงินที่ผู้ขอรับใบอนุญาตแต่ละรายเสนอ โดยผู้ที่เสนอผลประโยชน์ส่วนเพิ่มสูงกว่าจะได้สิทธิเลือกชุดคลื่นความถี่นั้นก่อน

2.2 กรณีมีผู้ขอรับใบอนุญาตเสนอผลประโยชน์ส่วนเพิ่มเท่ากัน สำนักงาน กสทช. จะใช้วิธีการจับสลากเลือกลำดับของผู้ที่จะได้รับสิทธิในการเลือกชุดคลื่นความถี่นั้นก่อน 2.3 กรณีไม่มีผู้ใดเสนอผลประโยชน์ส่วนเพิ่ม สำนักงาน กสทช. จะใช้วิธีการจับสลากเลือกลำดับของผู้ที่จะได้รับสิทธิในการเลือกชุดคลื่นความถี่นั้นก่อน สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการตาม ข้อ 2.1-ข้อ 2.3 จนกว่าจะไม่มีผู้ขอรับใบอนุญาตเลือกชุดคลื่นความถี่เดียวกัน ทั้งนี้ ผู้ได้รับสิทธิได้เลือกชุดคลื่นความถี่ก่อนตาม ข้อ 2.1 และข้อ 2.2 จะต้องชำระผลประโยชน์ส่วนเพิ่มที่เสนอให้กับ สำนักงาน กสทช. ด้วย

นายฐากร กล่าวว่า ในบ่ายวันนี้จะมีการจัดสรรคลื่น โดยจะเปิดซองเอกสารที่เอกชนยื่นมาว่าต้องการช่วงคลื่นความถี่ชุดใด โดยในช่วงคลื่นความถี่ทั้งซ้ายและขวา ติดกับคลื่นอื่นก็จะมีคลื่นรบกวนซึ่งกสทช.ได้ระบุไว้ในทีโออาร์ที่จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการลงทุนป้องกันคลื่นรบกวน เป็นเงินประมาณ 200-300 ล้านบาท

คลื่นความถี่ที่นำมาจัดสรรมี 3 ชุด ได้แก่

ชุดที่ 1 ช่วงความถี่วิทยุ 703-713 MHz คู่กับ 758-768 MHz (เป็นช่วงที่ติดกับคลื่น 850 MHz ที่ทรูยังมีสัญญาสัมปทานกับบมจ.กสท โทรคมนาคม)

ชุดที่ 2 ช่วงความถี่วิทยุ 713-723 MHz คู่กับ 768-778 MHz (เป็นชุดที่ไม่มีคลื่นรบกวน แต่อนาคตขยายไม่ได้)

ชุดที่ 3 ช่วงความถี่วิทยุ 723-733 MHz คู่กับ 778-788 MHz (อยู่ติดกับคลื่นไมโครโฟน ที่มีระยะเวลาใช้อีก 2 ปี แล้วจะมีการประมูลใหม่)

นายฐากร กล่าวว่า คลื่นความถี่ 700 MHz ที่ปัจจุบันใช้กับทีวีดิจิทัล ได้ประชุมผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล(MUX) ให้ย้ายออกให้เร็วขึ้นที่ตั้งเป้าไว้ในเดือน ก.ค.63 จากเดิม ก.ย.63 แต่ MUX ได้แก่ บมจ.อสมท.(MCOT) ททบ.5. กรมประชาสัมพันธ์ และไทยพีบีเอส ยังติดปัญหาเรื่องเงินลงทุน ทางกสทช.จะนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.). มาสำรองจ่ายไปก่อน เป็นเงินประมาณ 300-400 ล้านบาท โดยจะให้ MUX เสนอแผนเข้ามาในเดือน ส.ค.นี้. คาดว่าจะให้ใบอนุญาตคลื่น 700MHz แก่เอกชนได้ในเดือนต.ค.63

นายฐากร กล่าวว่า การดำเนินการเปิดให้เอกชนโทรคมนาคมมาขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700MHz ทำให้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 4/2562 หรือ ม.44 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม มีผลสมบูรณ์ แล้ว

จำนวนเงินที่เยียวยาทีวีดิจิทัล ได้แก่ การจ่ายคืนหลักประกันของทีวีดิตัลงวดที่ 5 และ 6 จำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท ค่าเช่าโครงข่าย 1.8 หมื่นล้านบาท ค่าจ่ายคืนคลื่นทีวีดิจิทัล 3.8-4.0 พันล้านบาท ค่าการจัดเรทติ้ง 431 ล้านบาท รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท โดยนำเงินที่ได้จากการจัดสรรคลื่น 700MHz ประมาณ 5.3-5.4 หมื่นล้านบาท เมื่อหักกับเงินที่เยียวยาทีวีดิจิทัล จะเหลือรายได้ 2 หมื่นล้านบาทที่จะนำส่งให้รัฐ

ทั้งนี้ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ จะเปิดให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมาขอรับเงินหลักประกันงวดที่ 5 และ 6 ที่เคยยื่นไว้

นายฐากรกล่าวว่า การเดินหน้าเข้าสู่เทคโนโลยี 5G นอกจากมีคลื่น 700MHz แล้ว กสทช. เตรียมจะเปิดประมูลคลื่นความถี่ 2600MHz ที่เป็นของ อสมท. จำนวน 190 MHz ในช่วงปลายปีนี้ พร้อมประมูลคลื่น 26 ,28 GHz เพื่อรองรับ 5G โดย กสทช.ตั้งเป้าให้เกิดการใช้ 5G ให้ได้ในปลายปี 63-64 ซึ่งจะช่วยภาคการผลิต ที่จะมี AI , IoT เข้ามาช่วยภาคการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เกิด Smart City, Smart Farming, Smart Hospital

"เราไม่สามารถเดิน 5G ให้ช้ากว่านี้ ถ้าไม่เดิน 5G ภาพรวมเศรษฐกิจคาดจะตกต่ำ แต่หากมี 5Gจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น ประเทศเพื่อนบ้านเขาเดินหน้าไปแล้ว"เลขาธิการ กสทช.กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ