CIMBT รับสินเชื่อส่วนบุคคลปีนี้โตไม่ถึง 10% จากเป้าเดิมโต 30% จากภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 20, 2019 14:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ภาพรวมของสินเชื่อบุคคลของธนาคารในปี 62 ยังเผชิญกับความท้าทายค่อนข้างมาก จากภาวะของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงชะลอตัว ทำให้การจับจ่ายใช้สอยต่างๆชะลอตามไปด้วย และปัจจุบันยังมีการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์และไม่ใช่ธนาคารหลายรายออกแคมเปญต่างๆมาแข่งขันกันและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้น

โดยที่แนวโน้มของสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารในปีนี้คาดว่าจะทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เติบโต 30% มาเป็นเติบโตไม่ถึง 10% จากปัจจัยข้างต้นที่กดดัน ซึ่งเห็นจากการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาเติบโตเพียง 20% หรือปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นสินเชื่อใหม่ที่ 2 พันล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าปกติที่ควรมีการเติบโต 50% ทำให้ธนาคารคาดว่าสินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ในปีนี้จะอยู่ที่ 7 พันล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 หมื่นล้านบาท และทำให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างของสินเชื่อบุคคลในปีนี้จะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 1.2 หมื่นล้านบาท

ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปัจจุบันของสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารอยู่ที่ 2% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก เนื่องจากลูกค้าของธนาคารส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีประวัติการชำระดี คิดเป็นสัดส่วน 90% ของพอร์ต และมีฐานเงินเดือนมากกว่า 30,000 บาท/เดือน เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ NPL อยู่ในระดับที่ไม่สูง และจะมีแนวโน้มของ NPL ลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งธนาคารตั้งเป้าคุม NPL ของสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารในสิ้นปีนี้ให้ต่ำกว่า 2%

ด้านสินเชื่อบ้านของธนาคารในปีนี้ นางสาวอรอนงค์ คาดว่า ยังสามารถทำได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้จะปล่อยสินเชื่อบ้านที่เป็นสินเชื่อใหม่ 2.8 หมื่นล้านบาท แม้ว่าในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 2 (เม.ย.-พ.ค. 62) จะได้รับผลกระทบจากการเริ่มบังคับใช้มาตรการ LTV ใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการสินเชื่อบ่านที่หายไป 40-50% สูงกว่าที่ธนาคารคาดไว้ 20-30% เนื่องจากลูกค้าต่างไปขอสินช่วงไตรมาส 1/62 ก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้เป็นจำนวนมาก ทำให้สินเชื่อบ้านเกิดการชะลอตัวลงตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน และในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาธนาคารปล่อยสินเชื่อบ้านที่เป็นสินเชื่อใหม่ไปแล้ว 9.5 พันล้านบาท

โดยที่ธนาคารมองว่าความต้องการสินเชื่อบ้านมีโอกาสกลับมาอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4/62 หลังตลาดได้รับปัจจัยของมาตรการ LTV ไปสักระยะหนึ่งแล้ว และค่อยๆกลับมาฟื้นตัว ทำให้ในครึ่งปีหลังธนาคารจะมีการรุกสินเชื่อบ้านเพิ่มมากขึ้นทั้งสินเชื่อบ้านใหม่และรีไฟแนนซ์ เพื่อทำให้เป้าหมายของสินเชื่อรายย่อยในปีนี้ทำได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ธนาคารตั้งไว้

นางสาวอรอนงค์ กล่าว่า ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ ธุรกิจสินเชื่อรายย่อยของธนาคารในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบ้านได้ปล่อยสินเชื่อใหม่ไปแล้ว 1.2 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ปล่อยใหม่ 3.5-3.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อนที่ปล่อยใหม่ไป 2.8 หมี่นล้านบาท โดยที่จะเน้นไปที่การปล่อยสินเชื่อบ้านเป็นหลัก เพราะเป็นกลุ่มที่มีการขยายตัวได้ดี แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ก็ตาม ซึ่งธนาคารจะกลับมารุกสินเชื่อบ้านมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากให้ตลาดมีการรับปัจจัยของมาตรากร LTV ไปสักระยะหนึ่งแล้ว

ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคล ธนาคารจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีเครดิตเข้ามาเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย พร้อมวางแผนที่จะเปิดให้บริการขอสินเชื่อผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ (Mobile Lending) ในช่วงไตรมาส 4/62 ซึ่งเตรียมวงเงินสำหรับบริการใหม่ไว้ที่ 200-300 ล้านบาท เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าในการเข้าถึงบริการได้เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่พอร์ตสินเชื่อรายย่อยของธนาคารในส่วนของสินเชื่อบ้านและสินเชื่อส่วนบุคคลในสิ้นปีนี้คาดว่าจะทะลุ 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนที่ 9.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อมีหลักประกัน คือ สินเชื่อบ้าน สัดส่วน 90% และสินเชื่อไม่มีหลักประกัน คือ สินเชื่อส่วนบุคคล สัดส่วน 10% พร้อมตั้งเป้าคุม NPL ของสินเชื่อรายย่อยลงในสิ้นปีนี้ให้ไม่เกิน 3% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3% โดยที่ NPL ส่วนใหญ่ยังอยู่ในสินเชื่อบ้าน แต่ปัจจุบันแนวโน้ม NPL สินเชื่อบ้านที่เป็นลูกค้าของธนาคารมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลูกค้ามีประวัติการชำระที่ดีมากขึ้น และไม่ค่อยพบปัญหาลูกค้าไม่สามารถผ่อนชำระได้ในช่วงปีที่ 3 ทำให้ภาพรวมของ NPL ของสินเชื่อรายย่อยของธนาคารมีแนวโน้มที่ดีขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ