ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ THCOM ที่ "A-" แนวโน้ม "Negative"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 24, 2019 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. ไทยคม (THCOM) ที่ระดับ "A-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัทที่มีลักษณะเฉพาะในการเป็นผู้ให้บริการธุรกิจสื่อสารดาวเทียมเพียงรายเดียวในประเทศไทย อันดับเครดิตยังได้รับแรงสนับสนุนจากสภาพคล่องที่เพียงพอและภาระหนี้ในระดับปานกลางของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ยังสะท้อนถึงการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมให้บริการสื่อสารดาวเทียม ตลอดจนการแข่งขันจากโครงข่ายการสื่อสารภาคพื้นดินซึ่งเป็นโครงข่ายทางเลือก และความเสี่ยงทางด้านกฎระเบียบอีกด้วยเช่นกัน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

สัมปทานใกล้หมดอายุ

สถานะทางธุรกิจของบริษัทได้รับแรงหนุนจากการเป็นผู้ให้บริการธุรกิจสื่อสารดาวเทียมเพียงรายเดียวในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทให้บริการด้วยดาวเทียมแบบวงโคจรค้างฟ้าจำนวน 5 ดวง โดยดาวเทียม 3 ดวง คือ ไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์ ไทยคม 5 และไทยคม 6 อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน 30 ปีที่จะหมดลงในปี 2564 ส่วนดาวเทียมอีก 2 ดวงคือ ไทยคม 7 และไทยคม 8 ให้บริการภายใต้ใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระยะเวลา 20 ปี สิ้นสุดปี 2575

ในช่วงต้นปี 2562 รัฐบาลไทยได้อนุญาตให้ขยายอายุการใช้งานของดาวเทียมไทยคม 5 ที่จะหมดอายุการใช้งานในปี 2563 ต่อไปอีก 1 ปี โดยบริษัทจะใช้โดรนอวกาศ (Space Drone) ซึ่งเป็นอากาศยานไร้คนขับที่เป็นนวัตกรรมชนิดใหม่ปล่อยขึ้นไปในอวกาศเพื่อให้ไปเกาะติดกับดาวเทียมไทยคม 5 ที่มีเชื้อเพลิงต่ำซึ่งจะช่วยรักษาตำแหน่งของดาวเทียมให้อยู่ในวงโคจรที่เหมาะสมต่อไปได้อีก 1 ปี

บริษัทยังเผชิญกับความท้าทายอื่น ๆ อีกเนื่องจากสัญญาสัมปทานกำลังจะหมดลงในปี 2563 หลังจากสัมปทานหมดอายุ รัฐบาลจะใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership -- PPP Act) เป็นแนวทางในการทำธุรกิจระหว่างภาครัฐและบริษัทเอกชน ภายใต้ พ.ร.บ. นี้ รัฐบาลจะคัดเลือกบริษัทเอกชนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าร่วมโครงการให้บริการสื่อสารดาวเทียม โดยคาดว่ากระบวนการคัดเลือกผู้ประกอบการจะแล้วเสร็จก่อนสัมปทานดาวเทียมจะหมดอายุ

ทริสเรทติ้งคาดว่าผู้ที่จะเข้าร่วมกระบวนการสรรหาในโครงการ PPP จะเป็นกลุ่มบริษัทจำนวนไม่มากนัก โดยจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมภายในประเทศ หรือบริษัทที่ร่วมทุนกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านดาวเทียมจากต่างประเทศ ทั้งนี้ บริษัทไทยคมซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมมายาวนานก็มีความตั้งใจจะเข้าร่วมกระบวนการคัดเลือกดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งก็เป็นที่คาดว่าบริษัทน่าจะสามารถแข่งขันได้ หากบริษัทได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ บริษัทก็จะมีความต่อเนื่องในการดำเนินงานและจะสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า ในทางตรงกันข้าม หากบริษัทไม่ได้รับคัดเลือกก็จะส่งผลให้สถานะทางธุรกิจของบริษัทแย่ลงและนำไปสู่ผลกระทบในด้านลบต่ออันดับเครดิตในกรณีที่บริษัทไม่สามารถสร้างธุรกิจใหม่ที่มีขนาดใหญ่มาทดแทนรายได้ที่หายไปได้

อัตราการใช้ดาวเทียมบรอดแบนด์เพิ่มขึ้น

แนวโน้มการเติบโตของการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียมยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากมีความต้องการใช้ข้อมูลเพิ่มขึ้นโดยตลอด นอกจากนี้ ความเกื้อหนุนกันระหว่างเทคโนโลยีดาวเทียมบรอดแบนด์กับบริการสื่อสารในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้เทคโนโลยี 5G จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมบรอดแบนด์ในอนาคตอีกด้วย

อัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์อยู่ที่ 30.5% ณ เดือนมีนาคม 2562 เพิ่มขึ้นจาก 29.9% ในปี 2561 และ 25.6% ในปี 2560 จากผลของอัตราการใช้ดาวเทียมไอพีสตาร์ที่เพิ่มขึ้นในประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เป็นสำคัญ บริษัทมีรายได้จากธุรกิจดาวเทียมไอพีสตาร์ในปี 2561 ทั้งสิ้น 2,284 ล้านบาท และอยู่ที่ระดับ 629 ล้านบาท ณ ไตรมาสแรกของปี 2562 โดยรายได้ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2562 เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์ที่เพิ่มขึ้นและยอดขายอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม (User Terminal) ที่เพิ่มขึ้นในประเทศญี่ปุ่น

ณ เดือนมีนาคม 2562 ประเทศอินเดียเป็นตลาดที่ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์สูงสุดโดยอยู่ที่ระดับประมาณ 7.3% ของช่องสัญญาณรวม การให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมบรอดแบนด์ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในประเทศอินเดียเพราะรัฐบาลอินเดียได้ริเริ่มโครงการ "Digital India" เพื่อขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ทั่วถึงทั้งประเทศ ในขณะเดียวกัน บริษัทก็กำลังเจรจากับหุ้นส่วนทางธุรกิจเพื่อเพิ่มกำลังการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์ในประเทศจีน นอกจากนี้ บริษัทยังกำลังแสวงหาโอกาสในการสร้างการเติบโตในการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนเรือผ่านดาวเทียม รวมถึงบริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมรายย่อย และบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับดาวเทียมอีกด้วย

ปัจจุบันบริษัทกำลังพิจารณาสร้างดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงใหม่ เนื่องจากสัญญาสัมปทานจะหมดอายุในปี 2564 โดยคาดว่าการพิจารณาตัดสินใจดำเนินโครงการดาวเทียมดวงใหม่จะมีข้อสรุปภายในปี 2563 ทั้งนี้ หากบริษัทไม่มีโครงการดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงใหม่ ก็คาดว่าบริษัทจะมีรายได้จากธุรกิจดาวเทียมไอพีสตาร์ที่ลดลง

การแข่งขันที่รุนแรงทำให้รายได้ของบริษัทลดลง

การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันด้านราคานั้นทำให้รายได้จากการให้บริการดาวเทียมของบริษัทลดลง โดยบริษัทมีรายได้รวมในปี 2561 อยู่ที่ 6,008 ล้านบาท ลดลง 10% จากปี 2560 นอกจากนี้ รายได้ในไตรมาสแรกของปี 2562 ก็ยังลดลงอีก 13% เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนอีกด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของอัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมแบบทั่วไปและราคาบริการที่ลดลง โดยอัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมแบบทั่วไปลดลงมาอยู่ที่ระดับ 52.9% ในไตรมาสแรกของปี 2562 จากระดับ 57.3% ในปี 2561 และ 58.1% ในปี 2560 ซึ่งเกิดจากการลดลงของการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม 5 เป็นสำคัญ

ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วงระยะปานกลางการเพิ่มอัตราการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 จะเป็นสิ่งสำคัญต่อผลประกอบการในอนาคตของบริษัท ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการกระจายเสียงและการแพร่ภาพออกอากาศในประเทศไทยเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว บริษัทจึงพยายามขยายการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมไปยังประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเซียใต้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันด้านราคาจะยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องต่อไปและอาจกดดันรายได้ของบริษัท โดยคาดว่ารายได้ของบริษัทจะมีความผันผวนในช่วงปี 2562-2564 ซึ่งจะอยู่ในช่วง 3,500-4,800 ล้านบาท แต่หากบริษัทได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ PPP ก็จะเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าและสร้างความต่อเนื่องในธุรกิจ อีกทั้งยังจะช่วยเสริมสร้างรายได้ในระยะยาวให้แก่บริษัทต่อไปได้

บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายในปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 2,200 ล้านบาท ลดลงจากระดับประมาณ 2,600 ล้านบาทในปี 2560 อย่างไรก็ตาม กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2562 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 590 ล้านบาท เปรียบเทียบกับ 485 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งเกิดจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของดาวเทียมไอพีสตาร์ รวมทั้งจากความพยายามในการควบคุมต้นทุน และการลดลงของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้าบริษัทจะยังคงดำเนินมาตรการควบคุมต้นทุนอย่างต่อเนื่องต่อไป อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจดาวเทียมมีต้นทุนการดำเนินงานคงที่ในระดับสูง การลดลงของรายได้จะทำให้ระดับอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลง ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 36%-40% ในช่วงปี 2562-2564

ภาระหนี้อยู่ในระดับปานกลาง

บริษัทมีภาระหนี้อยู่ในระดับปานกลาง โดยเงินกู้รวมของบริษัทอยู่ที่ 6,770 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2562 ลดลงจากระดับ 7,023 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 เนื่องจากบริษัทมีการชำระคืนเงินกู้และไม่มีเงินลงทุนก้อนใหญ่ ณ เดือนมีนาคม 2562 บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด รวมถึงเงินลงทุนชั่วคราวก้อนใหญ่รวมทั้งสิ้นเกือบ 7,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพียงพอที่จะใช้ชำระคืนหนี้สินที่ครบกำหนดชำระและใช้เป็นเงินลงทุนหากมีความจำเป็น

อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 3.8% ณ เดือนมีนาคม 2562 ลดลงจากระดับ 8.4% ณ เดือนธันวาคม 2561 ระดับภาระหนี้ของบริษัทคาดว่าจะลดลงหากบริษัทไม่มีการลงทุนในโครงการดาวเทียมดวงใหม่ อย่างไรก็ตาม หากการลงทุนดาวเทียมดวงใหม่เกิดขึ้นเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจก็คาดว่าเงินสดที่มีรวมถึงเงินลงทุนชั่วคราวจะช่วยรองรับการลงทุนขนาดใหญ่ได้พอสมควร โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับไม่เกิน 40% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า

มีสภาพคล่องที่เพียงพอ

บริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ ทั้งนี้ ในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้าบริษัทจะมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอที่จะรองรับภาระผูกพันทางการเงินต่าง ๆ ได้ โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากเงินสดในมือและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 3,839 ล้านบาทและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดมูลค่า 3,452 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2562 โดยคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับ 1,200-1,800 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนประกอบด้วยเงินลงทุนเพื่อบำรุงรักษาสินทรัพย์ประมาณปีละ 50-100 ล้านบาทและการจ่ายชำระหนี้ซึ่งรวมถึงเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระอีกประมาณ 3,200 ล้านบาท

ข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทมีกับธนาคารและผู้ถือหุ้นกู้ระบุให้บริษัทต้องคงระดับอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 2 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2561 บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อส่วนทุนอยู่ที่ 0.7 เท่าซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าข้อกำหนด ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวต่อไปได้

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

รายได้ของบริษัทจะมีความผันผวนและได้รับแรงกดดันจากสัญญาสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุ โดยคาดว่าบริษัทจะมีรายได้อยู่ในช่วง 3,500-4,800 ล้านบาทในระหว่างปี 2562-2564

อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ในช่วง 36%-40% ในช่วงปี 2562-2564

บริษัทจะใช้เงินลงทุนเพื่อบำรุงรักษาสินทรัพย์ประมาณปีละ 50-100 ล้านบาทในช่วงปี 2562-2564

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงความไม่แน่นอนจากการที่สัญญาสัมปทานกำลังจะหมดอายุลง ทั้งนี้ ความไม่ต่อเนื่องของการดำเนินธุรกิจจะส่งผลในแง่ลบต่ออันดับเครดิตได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะทางธุรกิจของบริษัทถดถอยลงจากความไม่ต่อเนื่องของธุรกิจดาวเทียม ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตก็อาจได้รับการปรับเปลี่ยนกลับมาเป็น "Stable" หรือ "คงที่" ได้หากบริษัทสามารถสร้างความต่อเนื่องในธุรกิจดาวเทียมภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ส่งผลกระทบในด้านลบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของบริษัทโดยที่บริษัทยังคงรักษาสถานะสภาพคล่องและความยืดหยุ่นทางการเงินให้มีความแข็งแกร่งเอาไว้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ