บล.เอเซีย พลัส คาดหุ้นไทย Q3/62 ผันผวนขาขึ้น จับตาเงินไหลเข้า-เสถียรภาพการเมือง มองดัชนีสิ้นปี 1,699 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 26, 2019 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า มองแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 3/62 จะแกว่งตัวผันผวนในทิศทางขาขึ้น โดยมีกรอบการแกว่งอยู่ที่ 1,660-1,740 จุด จากกระแสของ Fund Flow ที่ยังไหลเข้าต่อเนื่อง เนื่องจากการคำนวณดัชนี MSCI รอบใหม่ที่เปลี่นนวิธีการคำนวณดัชนีหุ้นไทยด้วยการเพิ่มเกณฑ์ NVDR เข้ามาใช้ด้วย ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนในดัชนี MSCI Emerging Market เพิ่มขึ้นจาก 2.3% เป็น 2.8% ทำให้ Fund Flow ไหลเข้าโดดเด่นกว่าตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค

ขณะเดียวกันธนาคารกลางของหลายประเทศใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ส่งผลทำให้นักลงทุนต่างชาติมีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนในระดับต่ำ ไปสู่พันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดยปัจจุบัน Bond Yield 10 ปี ของไทยอยู่ที่ 2.2% สูงกว่าสหรัฐฯ ที่อยู่ 1.99%

ทั้งนี้ ในเดือน มิ.ย.62 มี Fund Flow ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยแล้วประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก ช่วยหนุนให้ Earning Yield Gap ตลาดหุ้นไทยกว้างขึ้นและหนุนให้ Fund Flow มีโอกาสถูกย้ายจากตลาดตราสารหนี้มายังตลาดหุ้นในระยะถัดไปมากขึ้น

ส่วนปัจจัยที่จะเป็นแรงกดกันต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ มองว่าเป็นเรื่องของเสถียรภาพทางการเมือง เนื่องจากรัฐบาลมีคะแนนเสียงสนับสนุนไม่เด็ดขาด โดยประเด็นที่ต้องติดตามในไตรมาส 3/62 คือ การพิจารณางบประมาณรายจ่ายปี 63 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเดือน ก.ย.62 ถือว่าล่าช้ากว่าทุกปีที่ผ่านมาราว 3 เดือน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยต้องการแรงกระตุ้นจากภาคเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก หลังจากภาคการค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าโลก

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากภาคการค้าระหว่างประเทศที่ชะลอตัวตามผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยังมีอยู่ โดยคาดว่าการส่งออกและนำเข้าของไทยในช่วงที่เหลือในปีนี้มีแนวโน้มชะลอลงต่ำกว่าที่คาด เนื่องจากประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย คือ จีนราว 18.1% รองลงมา คือ ญี่ปุ่น 11.5% และสหรัฐ 9.7% ตามลำดับ มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งคาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านการส่งออกไปจีน ทางฝ่ายวิจัยฯ จึงได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.7% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.4% ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัวที่ 4.1%

นอกจากนี้ปัจจัยจากต่างประเทศก็ยังเป็นแรงกดดัน โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งฝ่ายวิจัยเชื่อว่าสงครามการค้าสหรัฐ-จีนจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและขยายตัวเป็นวงกว้าง โดยให้น้ำหนักไปที่การเจรจาทางการค้าฯ นอกรอบการประชุม G20 ในวันที่ 28-29 มิ.ย.62 คาดว่าการหาข้อสรุปจะเป็นไปได้ยาก และแนวโน้มสงครามการค้าน่าจะยังยืดเยื้อต่อไป

นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์สงครามการค้าที่รุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาดเริ่มเห็น Downside ของประมาณการ จึงได้ปรับลดสมมติฐานกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ประมาณการกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนปี 62 ลดลงจากเดิม 2.25% มาอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ 103.32 บาท เติบโต 5.59% จากปีก่อน และเมื่ออิงกำไรใหม่ คาดว่าดัชนีฯ ปีนี้จะอยู่ที่ 1,699 จุด บนสมมุติฐาน Market Earning Yield Gap 4.28% ขณะเดียวกันระหว่างทางคาดดัชนีฯ น่าจะปรับตัวขึ้นได้สูงสุด 1,750-1,760 จุด

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นที่มีความได้เปรียบทางด้าน Valuation เมื่อเทียบกับตลาด ดได้แก่ หุ้นที่มีกำไรเติบโต มีคุณภาพ เช่น BBL, BDMS, ROBINS, THANI, GPSC, RJH หุ้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ CK หุ้นที่มีเงินปันผลสม่ำเสมอ ภายใต้ดอกเบี้ยขาลง EASTW, SCCC, MCS และหุ้นอาหารส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าค่อนข้างจำกัด อย่าง TU


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ