โบรกฯเชียร์"ซื้อ"JKN เล็งผลงาน H2/62 ดีกว่า H1/62 รับแผนเพิ่มสัดส่วนรายได้ ตปท.เน้นทำตลาดเชิงรุก

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 26, 2019 16:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์เชียร์"ซื้อ"หุ้น บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย (JKN) แนวโน้มผลดำเนินงานในครึ่งปีหลัง (H2/62) จะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก (H1/62) จากการจำหน่ายคอนเทนต์ไปต่างประเทศมากขึ้น

ในปีนี้บริษัทมีแผนเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเป็น 30% ซึ่งจะเน้นการทำตลาดเชิงรุกตามแนวคิด"ซุปเปอร์สตาร์มาร์เก็ตติ้ง"โดยร่วมโรดโชว์ออกบูทงานเทศกาลภาพยนตร์ในหลายประเทศ อาทิ ฮ่องกง เกาหลีใต้ รวมถึงการทำตลาดที่เวียดนามและไต้หวันมากขึ้น โดยนำลิขสิทธิ์คอนเทนต์ทั้งอินเดีย และละครไทยจากทางช่อง 3 ที่ร่วมเป็นทางพันธมิตรในการนำลิขสิทธ์ไปขาย

ขณะที่ JKN จะเริ่มรับผลบวกจากการลิขสิทธิ์ CNBC ในการผลิตรายการข่าวในรูปแบบภาษาไทย เพื่อป้อนให้กับกลุ่มลูกค้าทีวีดิจิทัล โดยวันที่ 1 ก.ค.62 จะเริ่มออกอากาศทางช่อง GMM25 ทั้งหมด 3 รายการ และอยู่ระหว่างเจรจาขายลิขสิทธิ์ให้อีก 2-3 ช่อง

พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิปีนี้อยู่ในช่วง 272-276 ล้านบาท

ล่าสุดเมื่อเวลา 15.45 น.ราคาหุ้น JKN อยู่ที่ 9.30 บาท เพิ่มขึ้น 0.05 บาท (+0.54%)

          โบรกเกอร์                   คำแนะนำ          ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)             ซื้อ                  10.70
          หยวนต้า (ประเทศไทย)           ซื้อ                  11.90
          ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)    ซื้อ                  12.30
          เอเชีย เวลท์                   ซื้อ                  11.00

นายสยาม ติยานนท์ นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ทิศทางผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง (H2/62) น่าจะเติบโตดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนจากฐานต่ำ และน่าจะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรกจากการจำหน่ายคอนเทนต์ไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังได้รับการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์จากช่องทีวีดิจิทัลเข้ามามากขึ้น หลังช่องทีวีดิจิทัลมีสภาพคล่องทางการเงินดีขึ้น ซึ่งสามารถชดเชยกับลูกค้าทีวีดิจิทัลหลักที่คืนช่องทีวีดิจิทัลไป ปัจจุบัน JKN มี Backlog จำนวน 709 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้ในปีนี้ได้ทั้งหมด

ประกอบกับ ในครึ่งปีหลังนี้บริษัทฯ จะเริ่มมีรายได้จาก JKN CNBC ที่หลายช่องให้ความสนใจ และธุรกิจภาพยนตร์ ที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์และขายให้ Over-The-Top (OTT) โดยยังคาดรายได้ปีนี้เติบโตมาอยู่ที่ 1,681 ล้านบาท และคาดกำไรสุทธิเติบโตมาอยู่ที่ 276 ล้านบาท

ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังนี้ เริ่มรับผลบวกจากการขายลิขสิทธิ์ CNBC ในการผลิตรายการข่าวในรูปแบบภาษาไทย เพื่อป้อนให้กับกลุ่มลูกค้าดิจิทัล โดย 1 ก.ค.62 จะเริ่มออกอากาศทางช่อง GMM25 ทั้งหมด 3 รายการ และอยู่ระหว่างเจรจาขายลิขสิทธ์ให้อีก 2-3 ช่อง คาดว่าในปีนี้จะเพิ่มรายได้ให้บริษัทราว 60 ล้านบาท โดยปัจจุบันมี Backlog จากการจำหน่ายคอนเทนต์ในมือกว่า 709 ล้านบาท เป็น ตลาดในประเทศ 578 ล้านบาท และตลาดต่างประเทศ 131 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประมาณการรายได้ปีนี้เติบโต 18% เป็น 1,657 ล้านบาท และคาดกำไรในปีนี้ที่ 272 ล้านบาท เติบโต 19% และกำไรในช่วง 4 ปีข้างหน้าเติบโตเฉลี่ย 10% จากการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งในปีนี้บริษัทฯ มีแผนในการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศจากปีก่อนที่ราว 25% เป็น 30% ของรายได้รวม จากปีก่อนที่ประสบความสำเร็จในการรุกตลาดกลุ่มประเทศ CLMV เช่น เมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งผู้ประกอบการมีการซื้อลิขสิทธ์คอนเทนต์ไปออกอากาศไปแล้วกว่า 1,000 ชั่วโมง โดยกว่า 70% เป็นซีรีย์อินเดีย

โดยในปีนี้บริษัทฯ จะเน้นการทำตลาดเชิงรุก ตามแนวคิด"ซุปเปอร์สตาร์มาร์เก็ตติ้ง" โดยร่วมโรดโชว์ออกบูทงานเทศกาลภาพยนตร์ในหลายประเทศ อาทิ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และจะเน้นทำตลาดที่เวียดนามและไต้หวันมากขึ้น โดยนำลิขสิทธิ์คอนเทนต์ทั้งอินเดีย และละครไทยจากทางช่อง BEC ซึ่งบริษัทร่วมเป็นทางพันธมิตรในการนำลิขสิทธ์ไปขาย คาดว่าจะช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศได้ตามแผนอย่างแน่นอน

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผนในการซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์อินเดียมาขายทั้งในไทย และขายยังกลุ่มประเทศ CLMV และปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับทาง Netflix ในการขายลิขสิทธ์ภาพยนตร์อินเดียเรื่อง " KHEJDI" ซึ่งมีต้นทุนที่ซื้อมาถูกราว 10 ล้านบาท ขณะที่คาดว่าจะขายได้เกินกว่าราคาทุนมากกว่าเท่าตัว และยังเป็นตัวแทนขายไปยังอีกหลายประเทศ ซึ่งมองเป็นบวกต่อการขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ และเป็น Upside risk ต่อประมาณการที่ยังไม่รวมในประมาณการ

สำหรับบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์คาดแนวโน้มกำไรสุทธิในไตรมาส 2/62 น่าจะดีกว่าไตรมาสแรก จากการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ส่วนตลาดในประเทศก็เริ่มมีรายได้จากลูกค้าในช่องใหม่ ๆ คือ ช่อง 5 GMM และ PPTV เป็นต้น และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนคาดว่าจะเติบโตอยู่ในระดับกลาง เนื่องจากมีค่าตัดจำหน่ายสูงต่อเนื่องจากไตรมาส 1/62

อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีหลังนี้มองว่าค่าตัดจำหน่ายน่าจะแนวโน้มลดลง หลังจากบันทึกไปมากแล้วในครึ่งปีแรก ในส่วนการซื้อลิขสิทธิ์หนังถึง 965 ล้านบาท จึงคาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ไตรมาส 3/62 เป็นต้นไป ขณะที่ด้านผลกระทบที่เกิดจากการคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลของบางช่อง บริษัทฯ ได้รับการชดเชยจากลูกค้ารายใหม่และตลาดใหม่ ๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ