META-ECF-SCN เตรียมรับรู้กำไร "โรงไฟฟ้ามินบู" เฟสแรก 50 MW ภายในปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 28, 2019 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภศิษฎ์ โภคินจารุรัศมิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ บมจ.เมตะ คอร์ปอเรชั่น (META) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เปิดโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เมืองมินบู ประเทศสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาอย่างเป็นทางการ ได้รับเกียรติจาก นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา พร้อมด้วย รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย, รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการไฟฟ้าและพลังงาน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม, รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และ หัวหน้าคณะรัฐมนตรีแห่งรัฐมาเกวย เป็นประธานเปิดงานอย่างเป็นทางการ

โดยในเฟส 1 กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ คาดจะเริ่มรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ให้กับหน่วยงานจัดหาพลังงานภายใต้กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน (Electric Power Generation Enterprise (EPGE)) ของรัฐบาลเมียนมา

เบื้องต้นจะสามารถบันทึกส่วนแบ่งกำไรเข้ามาทันทีได้ตั้งแต่ไตรมาส 3/62 เป็นต้นไป ส่งผลให้ปีนี้คาดว่าผลประกอบการมีโอกาสพลิกมีกำไร จากไตรมาส 1/62 ขาดทุนสุทธิ 8.71 ล้านบาท เป็นผลจากการเลื่อน COD โรงไฟฟ้ามินบูล่าช้ากว่ากำหนดเดิม ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายบริหารเพิ่มขึ้น ขณะที่ทิศทางรายได้ปีนี้จะใกล้เคียงปีก่อนที่ทำได้ 1,471.01 ล้านบาท ปัจจุบันมีงานในมือราว 7 พันล้านบาท รับรู้รายได้ถึงปี65

สำหรับโครงการดังกล่าวมีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท มีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 220 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างในเฟสถัดไป 2, 3 และ 4 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 โดยรายได้รวมของโครงการดังกล่าวประมาณ 1,200 ล้านบาทต่อปี ภายหลังหักค่าใช้จ่ายและต้นทุนดอกเบี้ยจะมีอัตรากำไรสุทธิของโครงการเฉลี่ยเกือบ 50% หรือประมาณ 500 ล้านบาท โดยในเฟส 1 แหล่งเงินทุนส่วนใหญ่เป็นลักษณะโปรเจ็กไฟแนนซ์จากธนาคารกรุงไทย

นายศุภศิษฎ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาโครงการลงทุนร่วมกันหลายๆโครงการ เพื่อขยายธุรกิจด้านพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศต่อไป

"การเลื่อน COD ออกไปจากกำหนดเดิมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกลางปีที่แล้ว ยอมรับว่าอาจจะกระทบต้นทุนค่าใช้จ่ายบริหารจัดการไปบ้าง แต่วันนี้อยากให้มองว่าโครงการนี้สามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้จริงแล้ว ดังนั้นการมาลงทุนโครงการในเมียนมาร์ แม้ว่าทุกคนจะบอกว่ามีความเสี่ยง แต่ถ้ารู้จักวัฒนธรรมประเทศ มีพันธมิตรท้องถิ่นที่ดี จะช่วยปิดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดี"นายศุภศิษฎ์ กล่าว

ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เมืองมินบู ดำเนินการผ่านบริษัทร่วมทุน พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) หรือ GEPT มีผู้ลงทุนหลักคือ บมจ. อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) ถือหุ้น 20% ,บมจ.เมตะ คอร์ปอเรชั่น (META) ถือหุ้น 12% ,บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) 40% ,และ Noble Planet หรือ NP สัญชาติสิงคโปร์ถือหุ้น 28%

ด้านนายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCN กล่าวว่า หลังจากโครงการ COD แล้ว SCN จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน GEPT เป็น 40% ซึ่งจะส่งผลให้การรับรู้กำไรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะกลายเป็นผู้ลงทุนและถือหุ้นใหญ่ใน GEPT ช่วยสร้างการเติบโตในอนาคต

นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ ECF กล่าวว่า จากการเข้าร่วมลงทุนถือหุ้นสัดส่วน 20% ถ้าสามารถ COD ได้ทั้งโครงการที่มีกำลังผลิต 220 เมกะวัตต์ จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรประมาณ 80-100 ล้านบาทต่อปี

https://youtu.be/NIwCQmRrD-s


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ