"ทวิช"ยันไม่ซื้อ-ขายหุ้น IFEC ช่วงปลด SP ชั่วคราว เดินหน้าลุยต่อแก้ปัญหาธุรกิจแม้ผ่านมา 4 เดือนยังถูกขัดขวาง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 3, 2019 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวิช เตชะนาวากุล ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) เปิดใจกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ในช่วงเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดให้หุ้น IFEC กลับมาซื้อขายชั่วคราว 1-31 ก.ค.นี้จะไม่เข้าไปซื้อหรือขายหุ้น IFEC เพราะยืนยันความตั้งใจเข้าบริหารงานและฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ IFEC กลับมาทำธุรกิจและสามารถซื้อขายหุ้นได้ตามปกติ แม้ว่าผ่านมา 4 เดือนยังถูกอดีตผู้บริหารขัดขวางการทำงานและการตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัท

นายทวิช กล่าวว่า ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ยืนยันว่าจะไม่ซื้อและขายหุ้น IFEC เพิ่มเติม แม้ว่ามูลค่าการซื้อขายต่อวันค่อนข้างสูงก็ตาม แต่ก็ไม่ได้มาจากตนเอง และส่วนตัวก็ไม่ได้กังวลหากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทจากการเปิดให้ซื้อขายหุ้นชั่วคราวในครั้งนี้แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว เพราะมีเจตนาที่ดีที่จะเข้ามาบริหารงานและฟื้นฟูกิจการของ IFEC ให้กลับมาซื้อขายตามปกติได้โดยเร็ว

"ผมเข้าใจประกาศของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ออกมาให้เปิดซื้อขายชั่วคราว เนื่องจากมีการร้องเรียนจากผู้ถือหุ้นบางส่วน ซึ่งเชื่อว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พิจารณามาอย่างดีแล้ว แต่แค่มองว่าไม่เหมาะกับ IFEC ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามปริมาณการซื้อขายที่มีค่อนข้างมากแสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังมีความเชื่อมั่น ซึ่งมีความผันผวนมาก อยากให้นักลงทุนมีความระมัดระวังในการลงทุนด้วย และเราไม่ได้ซื้อไม่ได้ขายหุ้นเพิ่มเติมแน่นอนในระยะเวลา 30 วันที่มีเปิดให้มีการซื้อขายนี้"นายทวิช กล่าว

นายทวิช เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของ IFEC ได้รับการเลือกเข้ามาตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.61 และบริษัทได้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการต่อนายทะเบียน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้รับจดทะเบียนไว้เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค.62 และได้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาของบริษัทโดยทันที

แต่ช่วงระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมาคณะกรรมการชุดใหม่ของ IFEC ไม่สามารถเข้าทำงานได้ ยังถูกขัดขวางจากกรรมการชุดเดิมที่ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทย่อยที่มีอยู่ทั้งหมด 41 บริษัท ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทย่อยไม่ได้มีการส่งงบการเงินเข้ามาแม้แต่ครั้งเดียว ทำให้บริษัทไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบการเงินและการดำเนินกิจการของบริษัทย่อยทั้งหมดได้เลย

"ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเรื่องของกรรมการของบริษัทย่อย ที่ยังเป็นกรรมการชุดเก่าของ IFEC ไม่ยอมส่งงบให้เราและไม่ยอมให้เราเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งรายได้ของ IFEC มาจากบริษัทลูกทั้งหมด อันไหนที่แก้ได้ก่อนเราก็รีบแก้ อันไหนทำได้ช้าๆ เราก็ค่อยๆ ทำ ซึ่งเราจะแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดหลักทรัพย์ที่อยากจะให้แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน"นายทวิช กล่าว

อนึ่ง เมื่อสัปดาห์ก่อน นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ผู้ถือหุ้น และอดีตประธานกรรมการ IFEC ยื่นหนังสือต่อเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ตรวจสอบการทำงานของกรรมการชุดปัจจุบันของ IFEC เนื่องจากพบว่ามีการกระทำที่ส่อไปในทางผิดกฎหมาย อาทิ ไม่จัดให้มีการประชุมสามัญประจำปีของผู้ถือหุ้นภายในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ไม่แก้ไขปัญหาหนี้สินและเจรจากับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจนนำไปสู่การยึดหุ้นของบริษัทลูกของ IFEC กว่า 70% เป็นต้น

ขณะที่นายวิชัย ยังมีคดีคั่งค้างนับสิบคดีทั้งคดีที่เป็นโจทก์และคดีที่ตกเป็นจำเลย ซึ่งบางคดีศาลมีคำพิพากษาตัดสินลงโทษจำคุกแล้วและนายวิชัยอยู่ระหว่างประกันตัวสู้คดีในชั้นอุทธรณ์

นายทวิช กล่าวอีกว่า ก่อนที่จะเข้ามาลงทุนใน IFEC ได้มีการปิดงบและแสดงงบการเงินว่ามีหนี้สินอยู่ทั้งหมดราว 8,000 ล้านบาท และมีทรัพย์สินอยู่ทั้งหมดราว 14,000 ล้านบาท แต่ในระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 2 ปี ไม่สามารถเข้าไปจัดการอะไรได้เลย และอาจจะมีการตัดค่าเสื่อมของทรัพย์สินบางรายการเพิ่มเติม จึงไม่สามารถประเมินได้ว่า จริงๆ แล้วปัจจุบัน IFEC มีรายได้มากน้อยเพียงได และทรัพย์สินที่เหลืออยู่มีมูลค่าเท่าใด

"ผมยอมรับว่าก่อนที่ผมจะเข้ามาลงทุน IFEC มีชื่อเสียงด้านพลังงานทดแทน และมีทรัพย์สินที่มากกว่าหนี้สิน แต่ปัจจุบันบริษัทย่อยที่มีอยู่ทั้งหมดยังมีกรรมการเป็นอดีตกรรมการเก่าของ IFEC อยู่ จึงไม่สามารถดำเนินการเข้าไปตรวจสอบได้ แต่อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงติดตามและแก้ปัญหาไปทีละเรื่อง

ส่วนตัวผมเองเป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคผ่านมาทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง น้ำท่วมปี 54 แผนต่างๆจึงต้องใช้ระยะเวลา แล้วที่ผ่านมาเราก็หาคนขาวสะอาดเข้ามาเพื่อช่วยแก้ปัญหา ตั้งใจจริง เจตนาจริง โดยเราต้องมองที่ส่วนใหญ่เป็นหลัก หากตรงไหนต้องขายก็ต้องขายเพื่อรักษาส่วนใหญ่ให้ยังอยู่"นายทวิช กล่าว

ทั้งนี้ มีกระแสข่าวระบุว่า นายวัชระ ตันตรานนท์ นักธุรกิจชื่อดังในวงการอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่ได้เข้ามาประมูลซื้อโรงแรมดาราเทวีจาก บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์แคป แมนเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ IFEC เป็นหุ้นของโรงแรมดาราเทวี จำนวน 143,110,000 หุ้น พร้อมที่ดินด้านหลังโรงแรมอีก 2 ไร่ หลังจากสำนักงานบังคับคดีเชียงใหม่ได้ประกาศขายทอดตลาด โดยโรงแรมดาราเวทีถือเป็นสินทรัพย์สำคัญของ IFEC ที่ซื้อมาด้วยมูลค่าสูงถึง 2.5 พันล้านบาท

นายทวิช กล่าวอีกว่า ปัญหาเร่งด่วนที่สุดของ IFEC คือ การแก้ปัญหาเพื่อให้พ้นจากการจะถูกเพิกถอนออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยเฉพาะการแก้ไขงบการเงินของปี 59 ที่ไม่ได้รับการรับรองจากผู้ตรวจสอบบัญชี รวมทั้งการส่งงบการเงินที่เหลือทั้งหมดตั้งแต่ไตรมาส 1/60 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งบริษัทคาดหวังว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี

นายทวิช มองว่า การแก้ไขปัญหาทั้งหมดของ IFEC จะต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนกรรมการของบริษัทย่อยทั้ง 41 บริษัท จากปัจจุบันที่ยังมาจากกลุ่มกรรมการของ IFEC เดิม เนื่องจากรายได้หลักของ IFEC มาจากบริษัทย่อยทั้งหมด แต่บริษัทย่อยไม่ได้มีการส่งงบการเงินเข้ามา และไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ได้ทั้งหมดภายในไตรมาส 4/62

"กรรมการชุดใหม่มีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาทั้งหมด และดูแลผู้ถือหุ้นที่มีอยู่กว่า 30,000 ราย และขอความเห็นใจจากเจ้าหนี้ทั้งรายใหญ่และรายเล็กเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาและชำระหนี้ทั้งหมดได้"นายทวิช กล่าว

https://www.youtube.com/watch?v=FkulnpAuVZY


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ