VL พุ่ง 5.41% โบรกฯเชียร์"เก็งกำไร"ราคาหุ้นต่ำกว่า IPO เป็น Laggard Play สวนทางกลุ่มเดินเรือ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 9, 2019 11:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้น VL ราคาพุ่งขึ้น 5.41% มาอยู่ที่ 1.56 บาท เพิ่มขึ้น 0.08 บาท มูลค่าซื้อขาย 147.86 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.58 น. โดยเปิดตลาดที่ 1.54 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 1.58 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 1.54 บาท

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ"เก็งกำไร"หุ้น บมจ.วี.แอล.เอ็นเตอร์ไพรส์ (VL) ในเชิงกลยุทธ์ ในฐานะ Laggard Play โดยราคาหุ้นเดือน ก.ค. 62 ปรับตัวลง 1% MTD สวนทางหุ้นกลุ่มเดืนเรือ (PSL/ TTA/ PRM/ AMA) ที่ปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 12% MTD ซึ่งไม่สอดคล้องกับกำไรสุทธิปี 2562-2563 ที่จะโตเฉลี่ยสูงถึง 42% ต่อปี ขณะที่ PER2562 ต่ำเพียง 13 เท่า เทียบกับ PRM ซึ่งทำธุรกิจคล้ายกันมากสุดที่ 23 เท่า อีกทั้งราคาหุ้นยังต่ำกว่า IPO ที่ 1.75 บาท Downside Risk จึงถือว่าจำกัดมาก โดยประเมินมูลค่าเหมาะสมเบื้องต้นอิง PER 20 เท่า ได้ 2.20 บาท

ในทางเทคนิคมีแนวรับสำคัญที่ 1.44-1.48 บาท หากไม่หลุดและสามารถฟื้นตัวทะลุผ่าน 1.54 บาท ขึ้นไปได้ Upside จะเปิดกว้างหา 1.70 บาท +/-

ทั้งนี้ ราคาหุ้นต่ำกว่า IPO และ Valuation น่าสนใจสุดในกลุ่มเรือ ราคาหุ้นปัจจุบันยังต่ำกว่าราคา IPO ที่ 1.75 บาท และยัง Laggard เมื่อเทียบกับกลุ่มเรือที่ปรับขึ้นเฉลี่ย 12% MTD (PRM +6.6%/ AMA +3.8%/ PSL +12%/ TTA +20%/ RCL +19%) โดยราคาหุ้น VL ยังปรับตัวลง -1% MTD ขณะที่ ในเชิง Valuation ก็ถือว่าถูกมาก โดยถ้าเทียบกับ PRM ที่ประกอบธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันใกล้เคียงกัน ซึ่งราคาหุ้นซื้อขายบน PER2562 ที่ 23 เท่า แต่ของ VL ยังต่ำเพียง 13 เท่า ซึ่งแน่นอนว่า EPS Growth ปีนี้ของ VL จะไม่สูงเพราะเพิ่ง IPO เมื่อ 21 พ.ค. 62 แต่ในเชิงของกำไรสุทธิ โดยคาดว่าจะโตสูงถึง 47% YoY เป็น 90 ล้านบาท และโตต่อเนื่องอีก 37% YoY เป็น 123 ล้านบาท ในปี 2563 ซึ่งดูน่าสนใจกว่า PRM ที่คาดโต 19% YoY เป็น 846 ล้านบาท ในปี 2562 และโตต่อเนื่องอีก 16% YoY เป็น 981 ล้านบาท ในปี 2563

แนวโน้มไตรมาส 2/62 คาดว่าจะชะลอเล็กน้อย QoQ เพราะมีบันทึกค่าที่ปรึกษาทางการเงินในการทำ IPO ราว 2-3 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบ YoY คาดโตสูง 33% YoY เป็น 20 ล้านบาท จากปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามการรับมอบเรือใหม่อีก 1 ลำใน เม.ย. 62 (วี.แอล.21)

กำไรช่วงที่เหลือของปีจะโตแบบ YoY ทุกไตรมาส จากการรับรู้รายได้ของเรือใหม่อย่างเต็มที่ ค่าเช่าเรือที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางตลาดโลก และการปรับเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งในต่างประเทศเพื่อลดต้นทุน เบื้องต้นคาดกำไรสุทธิทั้งปี 2562 ที่ 90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% YoY แต่กำไรสุทธิต่อหุ้นจะโตเพียง 10% YoY จากจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้น 200 ล้านหุ้น เป็น 800 ล้านหุ้นหลัง IPO ส่วนแนวโน้มกำไรปี 2563 คาดโตต่อเนื่องอีก 37% YoY เป็น 123 ล้านบาท จากการเพิ่มเรือใหม่อีก 1 ลำ และการเพิ่มสัดส่วนสินค้าขากลับมากขึ้น

ทั้งนี้ ปีนี้รับรู้รายได้จากเรือใหม่ 2 ลำอย่างเต็มที่ เงินที่ได้จาก IPO นำไปสั่งต่อเรือใหม่เพื่อเพิ่มขนาดให้บริการ โดยในปี 2562-2563 มีแผนเพิ่มกองเรือปีละ 1 ลำ ขนาด 2,800-6,000 DWT คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1,079 ล้านบาท โดยปลายปีที่แล้วมีรับเรือใหม่ 1 ลำ และเมื่อ เม.ย. 62 เพิ่งรับเพิ่มอีก 1 ลำ ทำให้สามารถรับรู้รายได้ในช่วงที่เหลือของปีได้เต็มที่ ต่างจากปีก่อนที่ไม่มีการเพิ่มกองเรือเกือบตลอดทั้งปี ซึ่งนอกจากจะช่วยหนุนการเติบโตตามปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันระยะยาว จากอายุเฉลี่ยของกองเรือที่จะต่ำลงด้วย

อายุเฉลี่ยของกองเรือทั้ง 13 ลำต่ำสุดในอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันอยู่ที่ 16 ปี และคาดว่าจะลดเหลือ 15 ปีเมื่อได้เรือใหม่ครบทั้ง 3 ลำแล้ว ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยกองเรือของอุตสาหกรรมที่ 15-20 ปี ข้อดี คือ (1) ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน (2) ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่อปี (3) ทำให้การดำเนินธุรกิจระยะยาวมีความต่อเนื่อง (4) กำไรจะโตแรงกว่ารายได้จากประสิทธิภาพการขนส่งที่สูงขึ้น

ลูกค้าแข็งแกร่งและมีสัญญาให้บริการแน่นอน เรือที่ให้บริการในประเทศ 8 ใน 9 ลำมีสัญญาแบบ COA อายุสัญญาเฉลี่ย 3 ปี โดยมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นโรงกลั่นขนาดใหญ่ รายหลักคือ ESSO ขณะที่ เรืออีก 1 ลำให้บริการแบบ Time Charter ที่เป็นลักษณะเหมาจ่ายรายเดือน ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจจึงค่อนข้างต่ำ ส่วนเรือขนส่งน้ำมันปาล์มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีสัญญาแบบ SPOT ซึ่งปีก่อนทรุดตัวหนัก ก็เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว ตามทิศทางราคาปาล์มที่ขยับขึ้น และการปรับเปลี่ยนเส้นทางเพื่อลดต้นทุน


แท็ก หยวนต้า  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ