KTIS คาดปี 61/62 ปริมาณขายเอทานอลสูงกว่า 75 ล้านลิตร หลังครึ่งปีแรกโตกว่า 34% จากดีมานด์พุ่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 10, 2019 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเอทานอล ในกลุ่มบมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) คาดว่าปริมาณการจำหน่ายเอทานอลของบริษัทในปี 61/62 (ต.ค.61-ก.ย.62) จะทำได้สูงกว่า 75 ล้านลิตร หลังในช่วง 6 เดือนแรกของปี 61/62 ปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นกว่า 34% จากความต้องการใช้เอทานอลในประเทศอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อนอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามแม้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 61/62 ราคาจำหน่ายเอทานอลจะลดลง แต่รายได้จากการขายเอทานอลก็ยังเพิ่มขึ้นถึง 21.4% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รายได้ของสายธุรกิจชีวภาพของกลุ่ม KTIS มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสายธุรกิจน้ำตาล

"คาดว่าจนถึงสิ้นงวดบัญชีปี 61/62 จะมีปริมาณการจำหน่ายเอทานอลสูงกว่า 75 ล้านลิตร ซึ่งนับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับกำลังการผลิต 230,000 ลิตรต่อวัน เพราะโรงงานของเราได้รับการยอมรับจากลูกค้าที่เป็นบริษัทปิโตรเลียมรายใหญ่ของประเทศในเรื่องของการส่งมอบสินค้าได้ครบถ้วนตามเวลาที่กำหนด ไม่เคยขาดตกบกพร่อง ดังนั้น ไม่ว่าจะผลิตได้เท่าไรเราก็สามารถขายได้ทั้งหมด"นายพิพัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 61/62 กลุ่ม KTIS จำหน่ายเอทานอลไปแล้วประมาณ 40.2 ล้านลิตร มีรายได้ประมาณ 895 ล้านบาท ซึ่งปริมาณการจำหน่ายที่สูงด้วยการใช้กำลังการผลิตอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากการบริหารวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้โมลาสส่วนใหญ่จากโรงงานน้ำตาลเกษตรไทยที่มีกำลังการผลิตต่อวันสูงที่สุดในโลก จึงมีโมลาสเพียงพอที่จะป้อนเข้าสู่โรงงานได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี

นายพิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า จากการเข้าร่วมงานประชุมใหญ่ระดับโลกเกี่ยวกับเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งมีผู้ร่วมงานกว่า 700 คน จากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก พบว่าต่างก็มีแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทิศทางใหม่เพื่อให้หลุดพ้นจากปัญหาเดิมๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ยาก จนถึงขั้นชะลอตัว หนึ่งในนั้นก็คือการขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ โดยประเทศไทยมีพื้นฐานทางเกษตรกรรม จึงมีศักยภาพมากในด้านของอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งมีองค์ประกอบหลัก 3 ด้าน คือ วัตถุดิบ กระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

ในด้านของวัตถุดิบนั้น ประเทศไทยผลิตข้าวโพดและยางพาราได้ปีละประมาณ 5 ล้านตัน ปาล์มน้ำมันประมาณปีละ 15 ล้านตัน ข้าวสารและมันสำปะหลังปีละเกือบ 30 ล้านตัน และอ้อยในปีก่อนได้ผลผลิตถึง 130 ล้านตัน จึงเห็นได้ว่าไทยมีความพร้อมมากในด้านวัตถุดิบ ส่วนกระบวนการผลิตซึ่งต้องใช้องค์ความรู้ในการแปรรูปวัตถุดิบไบโอแมสเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ในปัจจุบันก็เชื่อว่าคนไทยมีองค์ความรู้ที่เพียงพอ หรือในบางด้านที่ยังขาดอยู่ก็สามารถหาพันธมิตรต่างชาติที่มีความชำนาญมาร่วมได้ ส่วนในด้านของผลิตภัณฑ์ชีวภาพนั้นก็มีหลายประเภท ซึ่งหาตลาดรองรับได้ไม่ยาก เพราะแนวโน้มของโลกต้องการลดการใช้วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม จึงต้องหันมาหาผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

"การพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของแต่ละประเทศจะต้องหาความเหมาะสมลงตัวของแต่ละประเทศเอง ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ที่แน่ๆ คือ จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งในด้านนโยบายและการสนับสนุนด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ลดต้นทุนของผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือส่งเสริมการสร้างบุคลากรด้านนี้ โดยบรรจุในหลักสูตรการศึกษา เป็นต้น" นายพิพัฒน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ