โกลเบล็ก มอง SET สัปดาห์นี้แกว่งผันผวนในกรอบ 1,710 -1,740 จุด ยังคงคาดหวังเฟดลดดอกเบี้ยสิ้น ก.ค.นี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 17, 2019 10:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก (GBS) กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยหลังหยุดทำการเมื่อวานนี้ (16 ก.ค.) ไป 1 วันเนื่องในวันอาสาฬบูชา มองว่า นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงการประชุมในวันที่ 30-31 กรกฎาคมนี้

ประกอบกับปัจจัยทางการเมืองในประเทศมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น และสามารถเดินหน้าตามโรดแมพ ซึ่งคงต้องลุ้นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่เสนอนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่างชาติในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทยในช่วงปลายปีได้

ส่วนปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการลงทุนในระยะนี้ อาทิ ภาพรวมเศรษฐกิจจีนชะลอตัวเห็นได้จากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในช่วงไตรมาส 2/2562 เติบโต 6.2% ต่ำสุดในรอบ 27 ปี ชะลอตัวจาก 6.4% ในไตรมาส 1/2562 เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ และการออกมาตรการเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น เพื่อสกัดการเก็งกำไรของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจกดดัน fund flow ไหลออก

ด้านปัจจัยที่ต้องจับตาในวันที่ 17 ก.ค. สหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. อีกทั้งสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้าง สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) จากเฟด (เช้าวันที่ 18 ก.ค.) และในวันที่ 18 ก.ค. สหรัฐ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดัชนีการผลิตเดือนก.ค. และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. ส่วนหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินทยอยประกาศงบการเงินงวดครึ่งปีแรก 2562 ภายในวันที่ 19 ก.ค. รวมทั้งสหรัฐ เปิดเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค. และในวันที่ 25 ก.ค. คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา

ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสแกว่งตัวผันผวน โดยนักลงทุนยังคงคาดหวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐในการประชุมเฟดช่วงสิ้นเดือนนี้อย่างใกล้ชิด ขณะที่ปัจจัยในประเทศถูกกดดันจากมาตรการสกัดเงินร้อนเก็งกำไรค่าเงินบาทของธปท. ส่งผลให้เม็ดเงิน Fund Flow ชะลอตัว คาดดัชนี SET จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,710-1,740 จุด

ดังนั้น จึงแนะนำกลยุทธ์การลงทุน ในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทพลิกอ่อนค่าหลังธปท.ออกมาตรการสกัดเงินร้อน แนะนำซื้อเก็งกำไรหุ้น HANA, DELTA และ KCE ที่เป็น laggard เนื่องจากก่อนหน้านี้เสียประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง หุ้น Theme EEC play เช่น AMATA, WHA, ROJNA, EASTW, ATP30 และ ORI รวมทั้งหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เช่น STEC, CK, STPI และ SEAFCO อีกทั้งหุ้นกลุ่มเดินเรือ เช่น TTA, PSL, RCL และ AMA

สำหรับแนวทางการลงทุนในทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาทองคำปรับตัวขึ้นหลังประธานเฟดได้กล่าวถ้อยแถลงต่อสภาคองเกรสซึ่งส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเฟด ช่วงวันที่ 30-31 ก.ค. นี้ เนื่องจากมีปัจจัยลบกดดันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

ส่วนการลงทุนของภาคธุรกิจในสหรัฐได้ชะลอตัวลง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อกำลังปรับตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายที่เฟดกำหนดไว้ที่ระดับ 2% สอดคล้องกับคาดการณ์ของ Bloomberg ที่คาดว่ามีโอกาส 100% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ 2.25% ในเดือนก.ค. อย่างไรก็ตาม GDP จีนที่เริ่มชะลอตัวลงสู่การเติบโตที่ระดับ 6.2% ต่ำสุดในรอบ 27 ปีเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาทองคำเนื่องจากจีนเป็นรายใหญ่ที่ซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวสัปดาห์นี้ที่ 1,400 - 1,425 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นราคาทองคำไทยที่ 20,480 - 20,880 บาท โดยหาจังหวะซื้อเมื่อย่อตัวลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ